รองนายกฯวิษณุถกคณะกรรมการติดตามปัญหาการบินไทย ก่อนยื่นรายชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟูให้ศาลล้มละลาย 17 ส.ค.นี้ “ชาญศิลป์” ดีดีการบินไทย ขอผ่อนปรน-ยืดสัญญาใช้สิทธิ 95 สัญญากับหน่วยรัฐ เดินสายพบเจ้าหนี้ ทุกกลุ่มหนุนแผนฟื้นฟูกิจการ มั่นใจการบินไทยกลับมาทำธุรกิจยืนหนึ่งได้
เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการเรียกคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มาประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลในวันเดียวกันนี้ เพื่อให้มารายงานความคืบหน้าของขั้นตอนการจัดทำแผนฟื้นฟูและการแก้ไขปัญหาของการบินไทยเพราะวันที่ 17 ส.ค.นี้ การบินไทยจะนำเอารายชื่อคณะผู้จัดทำแผนการฟื้นฟูฯ ให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาตามขั้นตอนหลังจากที่มีการยื่นขอล้มละลายกับศาลไปก่อนหน้านี้
“การเรียกประชุมฯ ครั้งนี้ไม่ได้มีประเด็นต้องติดตามอะไรเป็นพิเศษ เป็นการเข้ามารายงานตามระยะเวลาที่ได้มีการนัดหมาย ซึ่งในสัปดาห์นี้ จะเป็นการรายงานรายชื่อผู้จัดทำแผนการฟื้นฟูที่จะเข้าสู่การพิจารณาของศาลฯในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นการรายงานตามปกติ ผมไม่ได้ไปขอดูแผน เพราะถ้าไปดูก็จะเป็นการล้วงลูก” นายวิษณุ กล่าว
ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในวันที่ 17 ส.ค.การบินไทยจะเสนอรายชื่อคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทยให้กับศาลฯพิจารณา ได้แก่
1.บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด, 2.พล.อ.อ. ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานบอร์ดการบินไทย ,3.นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล, 4.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, 5.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, 6.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และ 7.นา่ยชาญศิลป์ (ดีดี.การบินไทย)
ทั้งนี้หากศาลล้มละลายกลางเห็นด้วยกับรายชื่อดังกล่าว ก็จะมีคำสั่งรับผู้ทำแผนตามที่บริษัทเสนอก็จะมีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นจะเป็นขั้นตอนที่เปิดเจ้าหนี้ เข้ามาชี้แจ้งรายละเอียด และจะมีการลงรับรายชื่อเจ้าหนี้ทั้งที่บริษัทและที่กรมบังคับคดี เพื่อให้ทราบรายชื่อเจ้าหนี้และมูลหนี้ของบริษัท ซึ่งจะมีกำหนดระยะเวลามาว่า ให้ยื่นถึงเมื่อไหร่ และระยะเวลาในการทำแผนฟื้นฟูต้องแล้วเสร็จภายในเมื่อไหร่ด้วย
“ความยากของการทำแผนฟื้นฟูฯ ก็คือการประเมินสถานการณ์ไปข้างหน้าว่า ธุรกิจจะเป็นอย่างไร รายรับ และรายจ่ายของบริษัทจะเป็นอย่างไรซึ่งต้องมองไปในอนาคต โดยขณะนี้ยังไม่มีเจ้าหนี้รายใดมายื่นคัดค้าน แต่ก็มีบางรายที่เข้าใจผิดว่าทำไมก่อนหน้านี้ไม่มีรายชื่อเป็นเจ้าหนี้ ตอนหลังได้มีการแจ้งไปแล้วว่ามีรายชื่อแล้วไม่มีปัญหา และส่วนใหญ่เจ้าหนี้ที่ได้ไปเดินสายไปพบทั้งสถาบันการเงิน เจ้าหนี้หุ้นกู้ เจ้า ของที่เป็นเจ้าหนี้การเช่า ส่วนใหญ่ก็เห็นใจ เข้าใจ และเห็นด้วยกับการที่ให้เราเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู” นายชาญศิลป์ กล่าว
เมื่อถามว่า มีความกังวลใจหนักใจหรือไม่กับการบริหารการบินไทยในช่วงที่ต้องมีการฟื้นฟูกิจการ
นายชาญศิลป์กล่าวว่า “ขณะนี้ต้องเอาความรู้ที่มีมาช่วยการบินไทยในการบริหาร เอามาช่วยสายการบินที่มีความสำคัญระดับประ เทศ ซึ่งในขณะนี้ทุกสายการบินมีปัญหา แต่ตนมองว่า การบินไทยยังมีจุดแข็งทั้งคนและทรัพยากรสำคัญที่จะฟื้นฟูให้กลับ มาได้ ที่สำคัญการบินไทยเป็นแบรนด์ของประเทศ จึงมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศมากจะปล่อยให้ล้มละลายไม่ได้ต้องใช้สัพพะกําลังในการฟื้นฟูให้กลับมาให้ได้”
บินไทยขอคงสิทธิ 95 สัญญา
ส่วนการหารือกับนายวิษณุได้หารือในเรื่องความช่วยเหลือบริษัทการบินไทยกับทั้ง 9 หน่วยงานภาครัฐ ที่มีสัญญาอยู่กับการบินไทยอยู่รวม 95 สัญญา ซึ่งเป็นสัญญาที่ทำไว้กับบริษัทการบินไทยในขณะที่บริษัทการบินไทยยังเป็นรัฐวิสาหกิจ เช่น สัญญาเช่าที่ดิน สัญญาการประกอบการในสนามบิน สัญญาที่ทำกับการท่าอากาศยาน สัญญาเรื่องการนำสินค้าเข้าออกที่ทำไว้กับกรมศุลกากร
นายชาญศิลป์แจงว่า นายวิษณุฯได้ช่วยประสาน และหารือกับหน่วยงานต่างๆ ให้ช่วยเหลือการบินไทยตามสัญญาที่มีอยู่ก่อน ซึ่งได้รับความร่วมมือกับทุกหน่วยงานเป็นอย่างดี ส่วนกรรมการหลายๆ ท่านก็ได้ให้คำแนะนำที่ดีในเรื่องของข้อพึงระวังในการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งทั้งความช่วยเหลือและคำแนะนำจากกรรมการและหน่วยงานต่างๆ ถือว่าเป็นการช่วยเหลือที่ถูกต้อง ในช่วงที่การบินไทยกำลังอ่อนแอ และการให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ แม้การบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้วก็เป็นสิ่งที่ยังสามารถทำได้
สคร.ตรวจสัญญาร่วมทุน
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนายการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า สัญญาของการบินไทยที่มีอยู่กับหน่วยงานภาครัฐมีทั้งสัญญาที่มีการทำไปแล้ว สัญญาที่กำลังจะหมดอายุ ซึ่งได้ผูกพันไว้ในตั้งแต่การบินไทยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เช่น สัญญาเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์
ทั้งนี้ ได้มีการหารือกันว่าสัญญาทั้ง 95 รายการ สัญญานี้ในส่วนที่กำลังจะมีการหมดสัญญาให้ต่อสัญญาออกไปก่อน ส่วนที่ยังไม่หมดสัญญาได้ขอให้ไม่ใช้สิทธิ์เลิกสัญญา แม้ในเงื่อนไขเคยระบุว่าหากการบินไทยผิดชำระหนี้แล้วจะสามารถยกเลิกสัญญาได้ก็ตาม รวมทั้งขอผ่อนผันเงื่อนไขบางส่วนของสัญญาเพื่อให้การบินไทยเดินหน้ากิจการต่อไปได้ ซึ่งในส่วนนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับการยื่นรายชื่อคณะทำแผนฟื้นฟูในวันที่ 17 ส.ค.นี้ แต่จะช่วยให้การฟื้นฟูกิจการของการบินไทยกลับมาได้ตามแผน
ทั้งนี้ สคร.จะรับไปดำเนินการ คือ สัญญาบางส่วนที่เข้าแผนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งจะพิจารณาว่าจะมีการปรับเปลี่ยนและกระทบข้อกฎหมายอย่างไร โดย สคร.จะเป็นตัวกลางในการไปเจรจาหารือในส่วนนี้ต่อไป