นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา คว้าชัยได้เป็นส.ส.ในสภาเมียนมา พรรคสันนิบาตแห่งชาติฯ(NLD) ของเธอ ได้กวาดส.ส.มากกว่า 390 ที่นั่ง คาดได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สะท้อนชาวเมียนมาในประเทศยังคงสนับสนุนเธอ บรรยากาศการเลือกตั้งคึกคักท่ามกลางการระบาดโควิด-19 ผลเลือกตั้งสวนทางความคิดเห็นของนานาชาติฝั่งตะวันตก ที่กล่าวหาว่าไม่เป็นประชาธิปไตย
สำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงาน คณะกรรมการจัดการเลือกตั้งของเมียนมา (ยูอีซี) ประกาศในวันนี้ (10 พ.ย.2563) ว่า นางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเมียนมาในการเลือกตั้งทั่วประเทศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
นางซูจี ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา ได้ลงสมัครชิงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแข่งกับบรรดาผู้สมัครจากพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) ของอดีตนายทหาร, พรรคยูเนียน แบทเทอร์เมนท์ พาร์ตี ( Union Betterment Party) พรรคยูไนเต็ด เนชันแนลลิตีส์ ลีก ฟอร์ เดโมเครซี ( United Nationalities League for Democracy) พรรคพาลอน-ซาวอว์ เดโมเครติก พาร์ตี ( Phalon-Sawaw Democratic Party) และผู้สมัครอิสระอีก 1 ราย
ทั้งนี้ มีผู้สมัครชิงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมียนมาจำนวนทั้งสิ้น 5,639 ราย ซึ่งรวมถึงผู้สมัครจำนวน 1,106 รายจากพรรคเอ็นแอลดี , ผู้สมัคร 1,089 จากพรรคยูเอสดีพี เพื่อชิงเก้าอี้ส.ส.จำนวน 1,117 ที่นั่งในรัฐสภาในการเลือกตั้งซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แถลงการณ์ของยูอีซี ระบุว่า ณ ช่วงเช้าวันนี้ (10 พ.ย.) พรรค เอ็นแอลดี ได้ 44 ที่นั่งในรัฐสภาซึ่งรวม 12 ที่นั่งในสภาล่าง, 8 ที่นั่งในสภาสูง และ 24 ที่นั่งในรัฐสภาระดับภูมิภาคหรือระดับรัฐ ขณะที่พรรคยูเอสดีพีได้ไปเพียง 3 ที่นั่งซึ่งได้แก่ 1 ที่นั่งในสภาล่าง และ 2 ที่นั่งในสภาระดับภูมิภาคหรือรัฐ
โฆษกพรรคเอ็น แอล ดี กล่าวกับแหล่งข่าวรอยเตอร์ส เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า ทางพรรคคาดการณ์ว่าจะได้ที่นั่งในรัฐสภาเกิน 390 ที่นั่ง ซึ่งเป็นจำนวนที่ทางพรรคอองซานได้ในรัฐสภาเมื่อการเลือกตั้งปี 2015 และเกินตัวเลข 322 ที่นั่งจำเป็นสำหรับการครองรัฐสภาเมียนมา
การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ของเมียนมา หลังประเทศได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยเมื่อปี 2554 นำมาสู่การเลือกตั้งเมื่อปี 2558 ซึ่ง “อองซาน ซูจี” จากพรรคสันนิบาตชาติแห่งประชาชาติธิปไตยได้ชนะการเลือกตั้งครั้งแรก หลังได้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยภายในประเทศมาหลายสิบปี
ห้าปีที่ผ่านมานางอองซาน ในฐานะ “มนตรีแห่งรัฐ” แห่งสหภาพเมียนมา ยังคงเป็นผู้นำที่ได้รับความนิยมจากประชาชนภายในประเทศอย่างมาก จากการที่พาประเทศเข้าสู่ระบอบการปกครองประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม ชัยชนะครั้งนี้ถือว่าสวนกระแสกับต่างประเทศ ที่มองว่า เธอเป็นผู้สนับสนุน “การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ” โดยเฉพาะกลุ่มโรฮีนจา ภายในประเทศ และยังไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจตามที่เคยสัญญาไว้ได้
สถานการณ์โควิด-19ที่เมียนมายังลำบาก
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รายงานโดยกระทรวงสาธารณสุขและการกีฬา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 (เวลา 17.00 น.) มีผู้ป่วยยืนยันสะสม (ใหม่) จำนวน 61,377 (+1,029) ราย รักษาหาย สะสม 43,727 (+1,090) ราย และเสียชีวิตสะสม 1,420 (+24) ราย