สนข.เอเอฟพี รายงานอ้างแถลงของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เมื่อ 5 พ.ย.2563 ว่า ฝรั่งเศสต่อสู้กับกลุ่มอิสลามแนวคิดรุนแรงไม่ใช่ศาสนาอิสลาม เพื่อตอบโต้บทความในเว็บไซต์ นสพ. Financial Times เมื่อ 4 พ.ย.2563 ที่กล่าวหาว่า ประธานาธิบดีมาครงประณามชาวมุสลิมในฝรั่งเศสเพื่อหวังผลต่อการเลือกตั้ง และสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวและความคลางแคลงใจต่อคนกลุ่มนี้ ซึ่งต่อมาบทความนี้ถูกลบออกจากเว็บไซต์ นสพ.ดังกล่าว โดยระบุเหตุผลว่ามีข้อมูลที่คลาดเคลื่อน อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีมาครงยืนยันว่าจะไม่ยอมให้ผู้ใดกล่าวหารัฐบาลฝรั่งเศสว่าสนับสนุนการเหยียดศาสนาอิสลาม ขณะที่ทุกฝ่ายหวังว่าท่าทีเช่นนี้ จะสร้างบรรยากาศคลี่คลายลดตึงเครียดกับโลกมุสลิม
มงครงอาจลืมว่าพูดอะไรไว้-มุสลิมยังไม่ลืม
ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสเมื่อวันศุกร์ ที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมาว่า“ ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่อยู่ในวิกฤตทุกวันนี้ทั่วโลก” ก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่โกรธเกรี้ยวไปทั่วโลกมุสลิม
วาทกรรม “อิสลามหัวรุนแรง” “อิสลามแยกเอกเทศ” “อิสลามก่อการร้าย” วาทกรรมต่างๆ ดังกล่าว มาครงจัดเต็มในสุนทรพจน์ที่กล่าวใน Les Moreaux ในเขตชานเมืองปารีสซึ่งเขาเรียกร้องให้ “เผชิญหน้ากับศาสนาอิสลามหัวรุนแรง” ที่พยายาม “สร้างรัฐคู่ขนาน” และ “ปฏิเสธคุณค่าของสาธารณรัฐ”
องค์กรอิสลามได้ออกมาตอบโต้ทันควัน ทั้งสภาวิจัยอิสลามแห่งอัซฮัร สหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ สภาอุลามาอ์ยุโรป รวมถึงอุลามาอ์ดังๆอีกหลายๆท่าน ทั้งหมดล้วนกล่าวตรงกันว่า มาครงเหยียดหยามศาสนาอิสลาม สิ่งที่มาครงกระทำไม่ใช่การต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรง แต่เป็นการกระทำต่ออิสลามโดยตรง
ความขัดแย้งของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ครูสอนวิชาภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ หยิบภาพการ์ตูนอื้อฉาวขึ้นมาประกอบการสอนเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เขาถูกคนร้ายใช้มีดฆ่าตัดศีรษะ ทำให้หลายฝ่ายตระหนักว่าความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ระหว่างกลุ่มที่ยึดมั่นใน “เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น” กับกลุ่มที่เชื่อในหลัก “เสรีภาพความเชื่อทางศาสนา” และข้อถกเถียงอย่างยาวนานเกี่ยวกับแนวคิดฆราวาสนิยม (Secularism) ประเด็นอ่อนไหวที่พร้อมจะปะทุ นำไปสู่ความรุนแรงนองเลือดได้ทุกเมื่อ
ชนวนมาครงทำสงครามกับก่อการร้าย
หลังเกิดเหตุสังหารครูปาตี ประธานาธิบดีมาครงเดินหน้าปราบปรามแนวคิดอิสลามสุดโต่งทั่วประเทศ มีคำสั่งปิดสุเหร่าและสลาย “กลุ่มชีค ยาสซิน” ที่ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์ที่มีฐานในฉนวนกาซา มีการบุกตรวจค้นองค์กรอิสลามหลายแห่งที่แสดงท่าทีส่อไปทางสร้างความเกลียดชัง แตกแยกในประเทศ และหลังเกิดเหตุโจมตีโบสถ์เมืองนีซ ประธานาธิบดีมาครงกล่าวประณามเหตุการณ์นี้ และให้คำมั่นว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการใหม่ในการต่อสู้กับการก่อการร้าย โดยบอกว่า รัฐบาลจะส่งกำลังทหารเข้าประจำการในสถานที่สำคัญ เช่น โรงเรียน และโบสถ์ ขณะที่หลายฝ่ายมองว่าท่าทีของมาครงยิ่งทำให้เกิดกระแส “เกลียดกลัวอิสลาม” (Islamophobia) ภายในประเทศ
ทางออกจากวิกฤติขัดแย้งชาวมุสลิม
ประธานาธิบดีมาครงให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์อัลจาซีรา เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ระบุว่า เขาเข้าใจความรู้สึกของชาวมุสลิมที่ตกใจและเดือดแค้นกับภาพการ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัด แต่ย้ำว่ากลุ่มมุสลิมที่มีแนวคิดรุนแรงนั้นเป็นภัยไม่เพียงกับฝรั่งเศส แต่เป็นภัยกับทุกคน รวมไปถึงชาวมุสลิมเองด้วย และขอให้ทุกคนเข้าใจว่าเขามีบทบาทหน้าที่สองสิ่งที่ต้องทำคือ ส่งเสริมความสงบ และปกป้องสิทธิในการที่จะอยู่อย่างสงบ
มาร์วาน บิชารา นักวิเคราะห์การเมืองอาวุโสของอัลจาซีรา มองว่า คำกล่าวของนายมาครงแสดงให้เห็นว่าเขาพยายามที่จะทำให้เกิดความชัดเจนว่าจุดยืนของเขาคืออะไร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับฝรั่งเศสและโลกมุสลิม โดยความเจ็บปวดและบอบช้ำได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่แน่ชัดว่าความรุนแรงนองเลือดจะจบลงหรือขยายวงออกไป และเกิดความสูญเสียขึ้นอีกหรือไม่ แต่สุดท้ายแล้วย่อมไม่มีใครเป็นผู้ชนะ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส หรือโลกมุสลิม ในขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดจะเป็นชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในฝรั่งเศสและหลายประเทศในยุโรปนั่นเอง ดังนั้นการที่มาครงออกมาระบุชัดว่า ที่ผ่านมาเขาไม่ได้มีความประสงค์ที่จะเป็นปรปักษ์กับอิสลาม ในฐานะศาสนา ก็น่าจะเป็นการเริ่มต้นให้เกิดบรรยากาศที่ดีขึ้นระหว่างฝรั่งเศส ยุโรป กับโลกมุสลิม