สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ลงนาม MOU ว่าด้วยความร่วมมือกับรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งเมื่อ พ.ย.2562 ส่งผลให้ขณะนี้จีนได้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 5Gมาก โดยเฉพาะนักธุรกิจจากมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งแจ้งสนใจลงทุนอุตสาหกรรม 5 G, ถุงมือยาง อุปกรณ์การแพทย์ และสนใจพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City)ร่วมกับนักลงทุนไทย สอดคล้องยุทธศาสตร์ของไทยผลักดันไทยเป็น “ดิจิทัลฮับอาเซียน”
นายคเณศ วังส์ไพจิตร ผู้ช่วยเลขาธิการด้านการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า หลังการลงนามดังกล่าวได้ประสานความร่วมมือต่อเนื่อง โดยล่าสุดจากการหารือกับคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมณฑลกวางตุ้ง โดยนักธุรกิจมณฑลกวางตุ้งสนใจมาลงทุนในอีอีซีมากใน 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่
- อุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์
- อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี)
- อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 5จี
ทั้งนี้ นักลงทุนจากกวางตุ้ง ให้ความสนใจลงทุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 5จี มาก เพราะจะเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอุปกรณ์ด้านการสื่อสารและระบบสารสนเทศครั้งสำคัญ ซึ่งจะเปลี่ยนอุปกรณ์ด้านโทรคมนาคมจากแบบเดิมเป็น 5จี ทั้งหมด จึงทำให้เอเชียและตลาดโลกต้องการอุปกรณ์ 5จี มหาศาล ทั้งอุปกรณ์ Router Wireless , Small Cell และระบบส่ง รับสัญญาณ
รวมทั้งขยายไปอุปกรณ์ 5จี ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ชิพในมือถือ คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ซึ่งจีนโดดเด่นเทคโนโลยี 5จี เป็นอันดับต้นของโลก
ดังนั้นหากดึงดูดเข้ามาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตได้จะทำให้ไทยก้าวสู่ศูนย์กลางการผลิตอุปกรณ์ 5จี ในภูมิภาคนี้ เหมือนในอดีตที่ไทยดึงต่างชาติมาลงทุนจนไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์อาเซียน รวมทั้งยังทำให้บุคลากรของไทยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี 5จี ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อ ยอดไปสู่อุตสาหกรรมและธุรกิจไฮเทคอื่น ๆ อีกมาก
“สกพอ.ได้มุ่งเน้นในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรม 5จี สูงมาก ซึ่งนอกจากจีนแล้วยังเตรียมเข้าไปเจรจาดึงดูดการลงทุนกับผู้ประกอบการในฮ่องกงและไต้หวัน เนื่องจากมีหลายบริษัทที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ 5 จี ชั้นนำของโลก” นายคเณศ กล่าว
อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ได้มีผู้ผลิตรถอีวี รายใหญ่อันดับต้นของจีนสนใจมาลงทุนผลิตรถอีวีและชิ้นส่วนภายในอีอีซี ซึ่งกำลังจะนักเข้ามาหารือกันในรายละเอียด โดยจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมรถอีวีของไทย จากที่ผ่านมามีบริษัทผลิตรถอีวีจากญี่ปุ่น ยุโรปและจีน เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้วหลายราย
รวมทั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมรถอีวีเพิ่มเติม ซึ่งจะรวมไปถึงรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 3 ล้อ และ 2 ล้อ รถบรรทุกและเรือ เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร และเป็นฐานการผลิตใหญ่เพียงพอที่จะดึงดูดให้ประเทศเจ้าของเทคโนโลยีเข้ามาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถอีวี ที่สำคัญในไทย
อุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีนักลงทุนจากกวางตุ้งสนใจมาลงทุนผลิตถุงมือยาง เนื่องจากที่ผ่านมาได้นำเข้าถุงมือยางจากไทยสูงมาก จึงมีแผนที่เข้ามาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทย เพื่อผลิตถุงมือยางส่งออกไปจีนและทั่วโลก เพราะไทยพร้อมในเรื่องของวัตถุดิบ และเทคโนโลยีการผลิตถุงมือยาง
รวมทั้งยังมีแผนเข้ามาลงทุนในอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เช่น เครื่องช่วยหายใจ และอุปกรณ์ไฮเทคในห้องไอซียู เป็นต้น ทั้งนี้เนื่อจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกมีความต้องการอุปกรณ์การแพงเหล่านี้สูงมาก และในอนาคตก็มีความเสี่ยงในเรื่องของโลกระบาดสูง ทำให้อุปกรณ์การแพทย์กลายเป็นสินค้าด้านความมั่นคงที่สำคัญ ทำให้จีนมีความต้องการขยายเข้ามาลงทุนในไทย
“ทางนักลงทุนกวางตุ้งมีความตั้งใจเข้ามาลงทุนผลิตอุปกรณ์การแพทย์ในไทยสูง เพราะไทยมีความโดดเด่นในเรื่องการรับมือโควิด-19 ได้ดี สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานชั้นสูงของระบบสาธารณสุขของไทย รวมทั้งหากสินค้าเหล่านี้ผลิตในไทยและโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนไทยให้การยอมรับและนำไปใช้ ก็จะยิ่งสร้างความเชื่อถือให้กับลูกค้าในอาเซียน ทำให้เจาะตลาดภูมิภาคนี้ได้ง่ายขึ้น”
นอกจากนี้ นักธุรกิจกวางตุ้งยังแสดงความต้องการที่จะเข้ามาลงทุนด้าน เมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) ในไทย ตั้งแต่ระดับการสร้างสมาร์ทซิตี้ไปถึงการลงทุนผลิตอุปกรณ์สมาร์ทซิตี้ เพราะ สกพอ.มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านนี้ในอีอีซีและจังหวัดอื่นของไทยจะเกิดสมาร์ทซิตี้เป็นจำนวนมาก ตลอดจนยังสามารถขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย ส่วนจำนวนและมูลค่าการลงทุนนั้น ยังไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจนในขณะนี้ จะต้องใช้เวลาเจรจาหารือกันอีก 1-2 ครั้ง จึงจะมีรายละเอียดที่ชัดเจน
ในขณะที่นักธุรกิจกวางตุ้ง กลุ่มเครื่องสำอางสำอาง ได้แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเป็นจำนวนมาก และพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนทันที 80-90 บริษัท แต่ทั้งนี้ ไทยจะต้องคัดเลือกส่งเสริมการลงทุนเฉพาะในกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ได้มาตรฐานสากล และมีความปลอดภัยสูง และเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวไม่ส่งผลกระทบต่อสื่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ทั้งนี้ มณฑลกวางตุ้ง ยังได้เสนอที่จะร่วมมือกับ สกพอ.พัฒนาบุคลากร โดยมีแผนที่จะมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่อยู่ใน อีอีซี หลายสิบทุน เพื่อเข้าไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่มาณฑลกวางตุ้งฟรีจนจบการศึกษา ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตบุคลากรเข้ามารองรับการลงทุนจากจีนต่อไปในอนาคต
“ที่ผ่านมามีนักลงทุนจากมณฑลกวางตุ้งหลายรายเข้ามาซื้อที่ดินเพื่อตั้งฐานการผลิตในไทย แต่ถูกคนไทยหลอกลวงขายที่ดินในราคาสูงเกินจริง หรือขายที่ดินที่ไม่สามารถตั้งโรงงานได้ ทำให้มีนักลงทุนจำนวนมากที่อยากเข้ามาลงทุนในไทยแต่ไม่กล้าเข้ามา เพราะไม่มีพาทเนอร์ที่ไว้ใจในไทย แต่จากความร่วมมือกับ สกพอ.และบีโอไอ ทำให้นักลงทุนเหล่านี้มีความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุน และ สกพอ.ได้ช่วยประสานงานให้รู้จักกับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมของไทยที่ได้มาตรฐาน และติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้นักลงทุนเกิดความสบายใจ และพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนใน อีอีซี อีกเป็นจำนวนมาก
โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลครอบคลุมทั่วประเทศ
ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีบริการ 5G เชิงพาณิชย์ เพราะมีความพร้อมทั้งด้านผู้บริโภค ที่ต้องการใช้บริการ 5G ขณะที่ฝั่งผู้ให้บริการ ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 4G ครอบคลุมทั่วประเทศและพร้อมที่จะพัฒนาเป็น 5G ทั้งนื้ รัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุน 5G สร้างแรงจูงใจดึงดูดนักลงทุนให้เกิดการลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีในรูปแบบใหม่ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรม 5G โดยการใช้งาน 5G จะเกิดขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และดึงดูดการลงทุนจากบริษัทต่างชาติ ขณะที่ 6 กลุ่มจังหวัดที่จะได้ประเดิมการใช้งาน 5G เพื่อนำไปสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น สงขลา และภูเก็ต รวมทั้งท่าอากาศยานที่สำคัญที่จะได้สัมผัส 5G ก่อน