ครม.อนุมัติงบ 6.19 หมื่นล้าน ประกันรายได้ข้าว – ยางพาราปี 64

2361

จากกรณีการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจรที่จังหวัดภูเก็ต ในตอนเช้าของวันนี้ (3 พ.ย. 63)พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร)

ว่า ที่ประชุมครม.ร่วมกันมีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 2 และโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563-2564 รอบที่ 1 ประกอบด้วยมาตรการอื่นๆ วงเงินรวมจำนวน 61,193.96 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 2 วงเงิน 10,042 ล้านบาท

ขณะที่โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวฯ และมาตรการคู่ขนาน วงเงิน 51,248.14 ล้านบาท ทั้งนี้เราต้องปรับลดงบประมาณบางรายการ ในมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เพื่อให้รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอสำหรับการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรดังกล่าว ซึ่งนี่คือปัญหาของเราที่ต้องหาวิธีการที่เหมาะสมในการดูแลเกษตกร เพราะมีเกษตรกรปลูกพืชหลักต่างๆ รวม 6 ชนิด

ดังนั้นรัฐบาลต้องหาวิธีที่เหมาะสมในการพิจารณาโครงการประกันรายได้เกษตรกรวงรอบต่อไป สำหรับปีงบประมาณ 2564 ว่าเราจะมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการประกันราคาพืชผลการเกษตรอย่างไร ซึ่งตนสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ไปหารือกับกระทรวงการคลัง

ซึ่งนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ เปิดเผยเพิ่มเติมถึงรายละเอียด โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 พร้อม3 มาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพชีวิตผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต

โดยการประกันรายได้ข้าว 5 ชนิด ความชื้นจะต้องไม่เกินร้อยละ 15 ได้แก่ 1. ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 14 ตัน 2. ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน 3. ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ตัน 4. ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน และ 5. ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน

โดยเกษตรกรสามารถเข้าร่วมโครงการประกันฯ ได้แปลงละ 1 ครั้ง เท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นการจ่ายเงินซ้ำซ้อน ในส่วนของการจ่ายเงิน ธ.ก.ส. จะดำเนินการจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดภายใน 3 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดภาระในการเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ฯ เกษตรกรไม่ต้องทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส.

รองฯ รัชดา กล่าวต่อไปถึง มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64 ประกอบไปด้วย 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 19,826 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 1 พฤศจิกายน 2563 – 31 ธันวาคม 2564 2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ ตุลาคม2563-31ธันวาคม 2564 และ 3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก วงเงิน 610 ล้านบาท ปีการผลิต 2563/64 ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2563 – 31 ตุลาคม 2565 โดยทั้ง 3 โครงการจะใช้เงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 35,999 ล้านบาท

มากไปกว่านั้น ครม.ยังเห็นชอบ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563 /2564 โดยให้จ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับกรมการส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท เป็นการจ่ายก่อนในเบื้องต้น วงเงินจ่ายขาด 28,046 ล้านบาท

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ขณะนี้เราโชคดีที่ราคายางพาราเริ่มดีขึ้น แต่ไม่ยั่งยืนมากนัก เพราะมีภัยพิบัติต่างๆเกิดขึ้นในหลายประเทศที่ปลูกยางพารา ซึ่งตนได้เคยเตือนเรื่องนี้แล้วว่าทุกคนต้องระมัดระวังเรื่องการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยจำเป็นต้องมีกิจกรรมเสริม อาทิ การเลี้ยงสัตว์ในสวนยางพารา หากเกิดกรณีที่พืชชนิดนั้นราคาตก จะทำให้ยังมีรายได้จากสิ่งอื่นๆ อย่างไรก็ตาม กรณีของเกษตรกรชาวสวนยางตอนนี้มี 1.8 ล้านราย ซึ่งโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 2 จะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนมีความมั่นใจในการประกอบอาชีพและลดความเสี่ยงเรื่องการขาดรายได้จากการปลูกยางพารา เพราะการทำสวนยางพาราในตอนนี้มีการจ้างแรงงานกรีดยางด้วย ทำให้รัฐบาลต้องกำหนดสัดส่วนการดูแลเกษตรกรเจ้าของสวนยางและผู้กรีดยางด้วย ซึ่งรัฐบาลพยายามดูแลและช่วยเหลือคนเหล่านี้อย่างเป็นธรรม

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีของชาวนาทั่วประเทศมีประมาณ 4.6 ล้านครัวเรือน รัฐบาลได้อนุมัติการช่วยเหลือชาวนาไปแล้ว 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว รอบที่ 1 วงเงิน 18,096 ล้านบาท 2.มาตรการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าว เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาในช่วงเก็บเกี่ยว 5,105.26 ล้านบาท 3.การสนับสนุนค่าบริหารจัดการพัฒนาคุณภาพผลผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563-2564 วงเงิน 28,046.82 ล้านบาท ตนจึงขอย้ำกับชาวนาว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกคน แต่อยู่ที่เราจะช่วยกันอย่างไรในอนาคตเพื่อไม่ให้มีการใช้จ่ายงบประมาณในเรื่องเหล่านี้มากเกินไปจนทำให้รัฐบาลมีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการลดอัตราภาษี มีการให้ผ่อนชำระ หรืออะไรต่างๆก็ตาม ซึ่งทำให้รัฐบาลเก็บรายได้ลดลง ทั้งนี้อะไรลดได้ก็ลดไป แต่ขอลดลงเป็นช่วงๆ 3 เดือน หรือ 6 เดือน แต่ให้ลดตลอดทั้งปีไม่ได้

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดวันนี้ คือ เราจะต้องทำอย่างไรให้ธุรกิจที่ยังมีโอกาส มีสภาพที่ไม่ใช่เรื่องของการบริการท่องเที่ยวอย่างเดียวสามารถที่จะเดินต่อได้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการหมุนเวียน ทางรายได้ มีเงินอยู่ในระบบหมุนเวียน ทั้งนี้ สิ่งที่ตนได้รับแจ้งมา จากมาตรการของรัฐบาลคือเรื่องของโครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งได้รับความนิยม ตนจึงได้สั่งการว่าในเมื่อวงเงินเรายังเหลืออยู่ ให้ลองดูว่าจะทำอย่างไรต่อไป จะปรับปรุงอะไรให้มากขึ้นได้หรือไม่ มีมาตรการอื่นเสริมหรือไม่ในตรงนี้

“ที่ผ่านมามันเป็นเรื่องของรัฐกับประชาชนช่วยกัน ต่อไปนี้อาจมีภาคเอกชนธุรกิจมาร่วมมือกันด้วยได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของสถานประกอบการ หรือสายการบินต่างๆ ที่จะมาร่วมในโครงการเหล่านี้ ซึ่งรัฐบาลก็จะหามาตรการที่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ได้มีการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น เพราะขณะนี้เราก็มั่นใจในระบบ สาธารณสุขที่ดูแลเรื่องสุขภาพเราทำได้ดี ถือว่าดีมากแต่เราก็ประมาทไม่ได้ อย่าลืมเรายังประมาทไม่ได้”นายกฯ กล่าว