กรมการค้าฯเผย!?! ยอดใช้สิทธิ FTA-GSP ดันส่งออกอาหาร-ถุงมือยางพุ่ง มูลค่ากว่า 3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

2345

กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศ เผยยอดใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าจีเอสพี(GSP) และเอฟทีเอ(FTA) สินค้าอาหาร, ถุงมือยาง ยังครองแชมป์ เทียบ 7 เดือนจีนใช้เอฟทีเอทำยอดสั่งซื้อพุ่ง, สหรัฐใช้สิทธิ์การค้าจีเอสพีอันดับ1 สะท้อนสินค้าอาหารและพืชเกษตรของไทยมีศักยภาพในการค้าและการส่งออก ท่ามกลางการระบาดโควิด-19 ความต้องการอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลและเอกชนต้องปรับตัวรับสถานการณ์ที่เป็นผลดีนี้ เพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืน สู่เป้าหมายพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจในทุกมิติ

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี(FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป(GSP) ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ค. 2563 พบว่า มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวมเท่ากับ 35,421.85 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 77.94% แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้FTA อยู่ที่ 32,875.25 ล้านดอลลาร์ และมูลค่าการใช้สิทธิGSP อยู่ที่ 2,546.60 ล้านดอลลาร์ โดยภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ฯ 7 เดือนแรกของปีนี้ ลดลง 14.77 %

สหรัฐใช้สิทธิGSP ซื้อสินค้าไทยพุ่ง

ขณะที่การใช้สิทธิ GSP ทั้ง 4 ระบบสหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในช่วง ม.ค.-ก.ค. 2563 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 2,546.60 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2.61% คิดเป็นสัดส่วน 81.32%

 ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯจีเอสพี มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าอยู่ที่ 2,243.21 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 0.49% คิดเป็นสัดส่วน 83.24% อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าอยู่ที่ 200.24 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 29.17% คิดเป็นสัดส่วน 62.66% อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่า อยู่ที่ 84.64 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 4.92% คิดเป็นสัดส่วน 84.60% และนอร์เวย์ มีมูลค่าอยู่ที่ 18.51 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 34.72% คิดเป็นสัดส่วน 100%

สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯสูง อาทิ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ กรดซิทริก เลนส์แว่นตาทำด้วยวัสดุอื่นๆ ฐานรองฟูกทำด้วยยางเซลลูลาร์หรือพลาสติก เป็นต้น ส่วนสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม เกษตรแปรรูป ไทยยังคงเป็นครัวของโลกที่มีศักยภาพในการผลิตและส่งออกสินค้าดังกล่าวได้อย่างหลากหลาย และสามารถส่งออกไปหลายประเทศคู่ค้าได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 

FTA: จีนอันดับ 1,อาเซียนตาม

ปัจจุบันประเทศที่ไทยทำเอฟทีเอด้วย 15 ประเทศจาก 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ได้ยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บจากไทยแล้วทุกรายการ ยกเว้น 3 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้าปลาแปรรูปต่างๆ รวมถึงปูแปรรูปที่ 5% ปูกระป๋องที่ 9.6%, เกาหลีใต้เก็บภาษีนำเข้าปลาทูน่ากระป๋อง หรือแปรรูปที่ 20% ปลาซาร์ดีนกระป๋องที่ 16% และอินเดียเก็บภาษีนำเข้าปลาทูน่ากระป๋อง และกุ้งกระป๋องและแปรรูปที่ 30% เป็นต้น.

การใช้สิทธิประโยชน์ FTA ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้  มีมูลค่า 32,875.25 ล้านดอลลาร์ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 15.88% คิดเป็นสัดส่วน 77.69% โดยตลาดที่ไทยส่งออก สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.จีน มูลค่า 11,152.89 ล้านดอลลาร์ 2.อาเซียน มูลค่า 10,798.63 ล้านดอลลาร์ 3. ญี่ปุ่น มูลค่า 3,890.21 ล้านดอลลาร์ 4. ออสเตรเลีย มูลค่า 3,426.95 ล้านดอลลาร์ และ 5. อินเดีย มูลค่า 1,784.67 ล้านดอลลาร์

“แม้ภาพรวมการใช้สิทธิลดลง แต่สินค้าบางรายการของไทยยังส่งออกได้ต่อเนื่อง ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 สินค้าที่ขยายตัวได้ดียังมีเช่น เครื่องดื่มที่ไม่เติมแก๊ส เช่น นม(อาเซียน) ผลไม้สดต่างๆ ทั้งทุเรียน มังคุด มะม่วง(อาเซียน) อาหารปรุงแต่ง(อาเซียน) น้ำผลไม้ ปลาทูน่าปรุงแต่ง อาหารปรุงแต่งที่ทำจากเกล็ดธัญพืช เต้าหู้ปรุงแต่ง ซอสปรุงแต่ง กุ้ง ข้าวโพดหวาน ปลาสคิปแจ็ก (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เป็นต้น”

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปของไทยเติบโตได้ดี แม้อยู่ในภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน เพราะผู้ประกอบการมีศักยภาพในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ประกอบกับ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการอาหารที่เก็บไว้ได้นานเพิ่มมากขึ้น และไทยยังมีแต้มต่อจากการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ช่วยปลดล็อกกำแพงภาษีศุลกากรที่ประเทศคู่เอฟทีเอเก็บจากสินค้าของไทย ส่งผลให้ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเล กระป๋องและแปรรูปอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน และส่งออกทูน่ากระป๋องอันดับ 1 ของโลก

ในช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 63 ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ 2,583.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 5% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตลาดส่งออกสำคัญ เช่น สหรัฐฯ 729 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 24% ออสเตรเลีย 170 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 2.4% และอาเซียน 120 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 41% “อาเซียนมูลค่าส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกประเทศ เช่น กัมพูชาเพิ่ม 52% สิงคโปร์ เพิ่ม 61% มาเลเซียเพิ่ม 19% ฟิลิปปินส์เพิ่ม 88% เป็นต้น สินค้าที่เติบโตได้ดี ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง และปลาแปรรูป”