นักวิเคราะห์แฉ!?! อเมริกาใช้ก๊าซและน้ำมันในทะเลจีนใต้ ดึงอาเซียนรบจีน ไทยหนุนเป็นกลาง เหตุรุกหนักการเมืองบนถนน

6184

สหรัฐกำลังกระตุ้นให้ประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียนเผชิญหน้ากับจีน  แม้ว่าจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน จะได้พยายามแก้ไขกรณีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ผ่านการเจรจาจัดสรรประโยชน์ และมีแนวโน้มเป็นบวกมาโดยตลอด  แต่เมื่อแต่ละประเทศต่างเผชิญความยากลำบากทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจากการระบาดไวรัสโควิด-19 จึงมิอาจมองผ่านการชูผลประโยชน์ เรื่องก๊าซและน้ำมันในบริเวณพื้นที่พิพาท ทำให้ท่าทีของหลายประเทศในอาเซียนมีลักษณะไม่ตรงตามคำประกาศร่วม ว่าจะรักษาความเป็นกลางและแก้ปัญหาด้วยการเจรจาครั้งประชุมร่วมในเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา

ทะเลจีนใต้ที่เคยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ จึงกลายเป็นสมรภูมิร้อนของสองมหาอำนาจช่วงชิงการนำในภูมิภาคอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ประเทศไทยเป็นแกนกลางในการผลักดันความเป็นกลางในภูมิภาค ได้รับการตอบรับจากมิตรประเทศในเบื้องต้น  แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ ณ เวลานี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว การชุมนุมบนท้องถนนในโมเดลฮ่องกงได้เริ่มขึ้น พร้อมการสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งเครือข่ายสากล นักการเมืองในประเทศและขบวนการบ่อนเซาะประเทศไทย จับตาดูความดิบเถื่อนรุนแรงจะขยายวง เพื่อสร้างความชอบธรรมแทรกเข้ามาทางทหารอย่างเป็นทางการ

บทวิเคราะห์ที่น่าสนใจของฝรั่งในดงจีนเกี่ยวกับบทบาทรุกรานแทรกแซงในบริบทใหม่ของสหรัฐอเมริกาเมื่อรัฐบาลไทยไม่เป็นที่โปรดปรานของสหรัฐฯ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

ASEAN being pressed by US military to help contain China

by Mark Valencia

09/10/2020

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังถูกบีบคั้นกดดันให้เข้าช่วยเหลือความพยายามทางการทหารของสหรฐฯที่มุ่งจะปิดล้อมจีน และก็มีบางรายเหมือนกันซึ่งกำลังทำเช่นนั้นอยู่ ทว่าการกระทำในทิศทางเช่นนี้ เป็นต้นว่าการอำนวยความสะดวกให้แก่การพิสูจน์ทราบทางด้านการข่าวกรองของอเมริกันนั้น มีแต่จะดึงลากให้ชาติในภูมิภาคนี้จมถลำลงไปในการแบ่งแยกนี้ล้ำลึกลงเรื่อยๆ

ไห่โข่ว, มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) – เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของกัมพูชา ร้องเรียนอย่างขมขื่นระหว่างกล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติว่า “บางประเทศ” กำลังก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในของกัมพูชา คำพูดซึ่งดูไม่เป็นที่นิยมของฝ่ายอื่นๆ เช่นนี้ อันที่จริงแล้วเป็นการเพียงการเปรยๆ ให้ทราบถึงความยากลำบากทางการทูต ในขณะที่เหล่าประเทศเอเชียตะวันออกเฉีบงใต้ทั้งหลายกำลังถูกบีบอัดเค้นคั้นอยู่ระหว่างจีนกับสหรัฐฯมากขึ้นเรื่อยๆ ในท่ามกลางการต่อสู้ของอภิมหาอำนาจทั้ง 2 รายนี้เพื่อช่วงชิงฐานะครอบงำทางทหารในภูมิภาคแถบนี้

สิ่งที่กัมพูชามีความวิตกกังวลเป็นพิเศษ ได้แก่การที่สหรัฐฯประกาศลงโทษคว่ำบาตรกลุ่มบริษัทก่อสร้างจีนที่มีชื่อว่า ยูเนียน ดีเวลอปเมนต์ กรุ๊ป (Union Development Group) ซึ่งกำลังเป็นผู้พัฒนาเขตพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวเขตใหญ่มหึมาตามแนวชายฝั่งของกัมพูชา เหตุผลที่วอชิงตันอ้างเพื่อการแซงก์ชั่นกลุ่มบริษัทจีนนี้ ได้แก่ “การทำตัวเป็นหน้าฉากให้แก่ประเทศจีน ในการเดินหน้าตามความทะเยอทะยานของตนที่จะแผ่อำนาจออกไปทั่วโลก” ทั้งนี้สหรัฐฯกำลังแสดงความวิตกว่าจีนอาจจะสร้างฐานทัพทางทหารหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อการสนับสนุนทางการทหาร ในโครงการพัฒนาเขตท่องเที่ยวในเขมรดังกล่าว –ถึงแม้นั่นเป็นสิ่งที่จีนปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง ขณะที่กัมพูชายืนยันว่าตนเองจะไม่ยินยอมให้ทำเช่นนั้นแน่นอน

สำหรับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ นั้น เห็นได้อย่างชัดเจนว่ากำลังถูกบีบคั้นกดดันให้เข้าช่วยเหลือความพยายามทางการทหารของสหรัฐฯที่มุ่งจะปิดล้อมจีน –และก็มีบางประเทศเหมือนกันซึ่งกำลังทำเช่นนั้นอยู่

ฟิลิปปินส์กับไทยนั้นยังคงเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ และช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้แก่ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ด้วยการจัดหา “สถานที่ต่างๆ” สำหรับการจัดวางทรัพย์สินทางทหารของอเมริกัน พวกฐานทัพต่างๆ ของกองทัพอากาศไทยถูกระบุว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในยุทธศาสตร์ “การจัดวางตำแหน่งส่วนหน้า” (“forward positioning” strategy) ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ขณะที่ข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯกับฟิลิปปินส์ถึงแม้ว่าอยู่ในอาการชักเข้าชักออก แต่สหรัฐฯก็ยังคงมีการปรากฏตัวทางทหารอย่างต่อเนื่องในฐานทัพ 5 แห่งที่ประเทศนั้น –รวมทั้งบางแห่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้ทะเลจีนใต้ด้วย

ฐานทัพ “บัตเตอร์เวิร์ธ” (Butterworth) ของกองทัพอากาศมาเลเซีย ก็ถูกใช้โดยออสเตรเลีย ผู้เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ และคือกองบัญชาการของระบบป้องกันพื้นที่แบบบูรณาการ ของข้อตกลงป้องกัน 5 ฝ่าย (Five Power Defense Arrangements’ Integrated Area Defense System) โดยที่ข้อตกลงนี้ยังประกอบด้วยพันธมิตรของสหรัฐฯอย่าง สหราชอาณาจักร ตลอดจนสิงคโปร์ อีกด้วย

แต่การจัดวางของกองทัพสหรัฐฯรอบๆ ส่วนหนึ่งของเส้นขอบนอกของทะเลจีนใต้นี้ ยังเป็นเพียงแค่ส่วนที่มองเห็นได้ชัดเจนที่สุดเท่านั้นของแถบสเปคตรัมอันกว้างขวางมากยิ่งกว่านี้นักหนา โดยที่สหรัฐฯใช้อากาศยานปฏิบติภารกิจในด้านการข่าวกรอง, การเฝ้าตรวจ, และการลาดตระเวน (intelligence, surveillance and reconnaissance ใช้อักษรย่อว่า ISR) เหนือสิ่งปลูกสร้างเพื่อการป้องกันชายฝั่งและการป้องกันนอกชายฝั่งของจีนปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนหลายร้อยภารกิจ บางภารกิจบินออกมาจากฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ขณะที่มาเลเซียก็ถูกสันนิษฐานว่าได้เสนอให้เครื่องบินสปายสหรัฐฯสามารถเข้าไปเติมน้ำมันที่ลาบวน (Labuan)

สหรัฐฯยังกำลังพิจารณาที่จะซัปพลายเครื่องบินสปายให้แก่เวียดนาม โดยที่เวียดนามน่าจะนำมาใช้ในการเฝ้าตรวจสอดแนมกิจกรรมต่างๆ ของจีน และแบ่งปันสิ่งที่ได้มาให้แก่สหรัฐฯ ยิ่งกว่านั้น เที่ยวบินในภารกิจ ISR ของสหรัฐฯบางเที่ยวบินอาจจะบินออกจากตอนเหนือของออสเตรเลีย และในท้ายที่สุดกระทั่งมาจากหมู่เกาะโคโคส์ (Cocos Islands) –และบินเหนือน่านฟ้าอินโดนีเซีย— ด้วยเหตุนี้จึงกำลังดึงลากแคนเบอร์ราให้เข้ามาอยู่ในความวุ่นวายไม่ลงรอยกันทางการเมืองในเวลานี้

พวก “เจ้าบ้าน” เหล่านี้ส่วนใหญ่ต่างพากันปฏิเสธ หรือไม่ก็แสดงอาการบ่ายเบี่ยงป้องกันตัวในเรื่องการมีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันเหล่านี้ แน่นอนทีเดียว จีนไม่ซื้อ “คำอธิบาย” ของพวกเขา และน่าที่จะพิจารณาการเป็นเจ้าบ้านให้แก่การตรวจตราต่างๆ เหล่านี้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่ไม่เป็นมิตร นี่อาจจะทำให้ “ทรัพย์สินสหรัฐฯ” เหล่านี้ตกเป็นเป้าหมายได้หากความเป็นปรปักษ์กันเกิดระเบิดตูมตามขึ้นมา

เหล่าประเทศในสมาคมอาเซียนควรต้องตระหนักว่า การเข้าพัวพันเกี่ยวข้องในทางทหารเหล่านี้คือการส่งสัญญาณทางการเมืองซึ่งผิดแผกแตกต่างไปจากถ้อยคำวาจาวางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัดของพวกเขา แท้ที่จริงแล้ว การอำนวยความสะดวกให้แก่การตรวจตราหาข่าวกรองของสหรัฐฯเพื่อต่อต้านจีนนั้นมีแต่จะดึงลากพวกเขาให้จมลึกเข้าไปในความแบ่งแยกกันระหว่างแดนอินทรีกับแดนมังกรเท่านั้น

เวลานี้ อินเดียเพิ่งอนุญาตให้สหรัฐฯนำเครื่องบินติดอาวุธ โบอิ้ง พี-8 โพไซดอน (Boeing P-8 Poseidon) ลำหนึ่ง เข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและรับความสนับสนุนทางโลจิสติกส์ที่ พอร์ตแบลร์ (Port Blair) ในหมู่เกาอันดามัน (Andaman Islands) 

ยังไม่เป็นที่ชุดเจนว่านี่เป็นเรื่องครั้งเดียวจบ หรือเป็นการเริ่มต้นของแบบแผนการปฏิบัติที่จะมีครั้งต่อๆ ไป หากว่าเป็นอย่างหลัง จีนก็อาจจะพิจารณาได้เช่นกันว่า จากการกระทำเช่นนี้ เมื่อมองถึงวัตถุประสงค์ในทางปฏิบัติแล้ว อินเดียก็ไม่ถือว่าเป็น ประเทศ “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” (non-aligned) อีกต่อไป

สิ่งที่ให้ความรู้สึกย้อนแย้งเป็นอย่างยิ่งก็คือว่า อินเดียนั้นมีฐานะคล้ายคลึงกันมากๆ กับจีน หากพิจารณาถึงเรื่องที่สหรัฐฯคอยทำตัวเป็นสปายสืบความลับในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zones ใช้อักษรย่อว่า EEZs) ของตนอยู่เสมอ อินเดียแสดงความไม่เห็นด้วยกับการตึความของสหรัฐฯในบทมาตราที่เกี่ยวข้องของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล (UN Convention on the Law of the Sea ใช้อักษรย่อว่า UNCLOS) นั่นคือมาตราที่ห้ามการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทางทะเลในเขตเศรษฐกิจจำเพราะของประเทศอื่น เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากรัฐเจ้าของชายฝั่ง 

สหรัฐฯถือว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นการสำรวจทางการทหาร และด้วยเหตุนี้เป็นข้อยกเว้นโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตก่อน ทว่านี่เป็นทัศนะของเสียงข้างน้อยในเอเชีย ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐฯก็ไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญา UNCLOS ซึ่งถือเป็นรากฐานของระเบียบระหว่างประเทศทางทะเลด้วยซ้ำไป ดังนั้นสหรัฐฯจึงแทบไม่สามารถอ้างความชอบธรรมใดๆ หรือแทบไม่ได้มีเครดิตความน่าเชื่อถืออะไร จากการตีความตามอำเภอใจฝ่ายเดียวในมาตราเฉพาะเจาะจงต่างๆ ของ “ดีลแบบแพกเกจ” นี้ เพียงเพื่อให้ตนเองได้เปรียบได้รับประโยชน์

เวลานี้ ตามข้อมูลการรวบรวมของโครงการริเริ่มพิสูจน์ทราบสถานการณ์ทางยุทธศาสตร์ทะเลจีนใต้ (South China Sea Strategic Situation Probing Initiative ใช้อักษรย่อว่า SCSPI) ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) ระบุว่า ระหว่างวันที่ 8 ถึง 10 กันยายน เครื่องบินตรวจจับและรวบรวมสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้ากองทัพอากาศสหรัฐฯ (US Air Force electromagnetic signals detection and collection aircraft) ลำหนึ่ง ได้ใช้รหัสระบุอัตลักษณ์ (identification codes) ที่จัดสรรให้แก่เครื่องบินพลเรือนลำหนึ่งของมาเลเซีย ขณะป้วนเปี้ยนอยู่ในน่านฟ้าระหว่างประเทศบริเวณระหว่างไห่หนาน (ไหหลำ) กับหมู่เกาะพาราเซล (Paracel Islands)

อีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 22 กันยายน เครื่องบินเฝ้าตรวจภาคพื้นดิน, บริหารจัดการการสู้รบ, และบังคับการอำนวยการของกองทัพอากาศสหรัฐฯ (USAF ground surveillance, battle management and command and control aircraft) ลำหนึ่ง ได้บินอยู่เหนือทะเลเหลือง โดยกำลังใช้รหัสช่องรับส่งผ่านสัญญาณ (transponder code) ที่จัดสรรให้แก่เครื่องบินสายการบินเพื่อการพาณิชย์ลำหนึ่งของฟิลิปปินส์

.

หากเรื่องเหล่านี้เป็นความจริง นี่ก็คือการปฏิบัติที่ไม่ปลอดภัยและละเมิดบรรทัดฐานระหว่างประเทศ อุบายหลบหลีกเช่นนี้เป็นการผลักไสให้ฟิลิปปินส์และมาเลเซียถูกข้องใจสงสัย คำถามที่ชัดเจนมากก็คือ พวกเขาได้ทราบและอนุมัติการโกหกหลอกลวงเช่นนี้หรือไม่? ถ้าหากพวกเขาไม่ทราบไม่ได้อนุมัติ ทำไมพวกเขาจึงไม่แถลงออกมาให้สาธารณชนรับรู้?

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของฟิลิปปินส์ เฮอร์โมเจเนส เอสเปรอน จูเนียร์ (Hermogenes Esperon Jr) แสดงให้เห็นว่า มะนิลาไม่ได้ตระหนักเลยในเรื่องที่สหรัฐฯปฏิบัติเช่นนี้ เขาแสดงความกังวลว่าเหตุการณ์นี้อาจจะทำให้ฟิลิปปินส์ “ถูกกล่าวโทษ” และเรียกร้องขอคำอธิบายจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ

 จุดที่ต้องเน้นย้ำก็คือว่า ถึงแม้บรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกาศแสดงตัวว่าเป็นกลางในประเด็นปัญหาระหว่างสหรัฐฯ-จีนในทะเลจีนใต้ แต่กลับปรากฏว่ามีบางรายในทางสาระสำคัญแล้วคือกำลังช่วยเหลือและกำลังหนุนหลังสหรัฐฯ และน่าที่จะตกเป็นเป้าหมายถ้าหากความเป็นศัตรูกันระหว่างสหรัฐฯ-จีนระเบิดตูมตามขึ้นมา  พวกเขาอาจจะกำลังโกหกหลอกลวงสาธารณชนในประเทศของพวกเขาเอง แต่พวกเขาไม่อาจที่จะโกหกหลอกลวงพวกผู้แข่งขันชิงชัยตัวหลักๆ ซึ่งกำลังผลักดันดึงลากชาติสมาชิกอาเซียนแต่ละราย ตลอดจนสมาคมอาเซียนโดยองค์รวม ให้มาอยู่ข้างพวกเขา

**มาร์ค เจ วาเลนเซีย เป็นนักวิเคราะห์นโยบายทางทะเลซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในระดับระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นนักให้ความเห็นผ่านสื่อในประเด็นทางการเมือง, และเป็นที่ปรึกษาซึ่งโฟกัสที่เอเชีย ล่าสุดเขาได้ไปเป็นนักวิชาการอาวุโสรับเชิญ (visiting senior scholar) อยู่ที่สถาบันแห่งชาติเพื่อทะเลจีนใต้ศึกษาของจีน (China’s National Institute for South China Sea Studies) และยังคงเป็นนักวิชาการอาวุโสทรงคุณวุฒิ (adjunct senior scholar) ของสถาบันแห่งนี้ วาเลนเซียมีผลงานตีพิมพ์เป็นหนังสือ 15 เล่ม และบทความเผยแพร่ในวารสารที่ข้อเขียนต้องผ่านการตรวจสอบทบทวนจากเพื่อนร่วมอาชีพก่อนตีพิมพ์ เป็นจำนวนกว่า 100 บทความ