ยิ่งกว่าสึนามิ??ซีอีโอทวิตเตอร์เตือน อภิมหาเงินเฟ้อสหรัฐ ฉุดศ.เมกาพาโลกพัง

1431

ฮือฮากันทั่วโซเชียลมิเดีย เมื่อ“แจ็ก ดอร์ซีย์” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของทวิตเตอร์ เป็นคนแรกที่พูดถึง “ไฮเปอร์อินแฟลชั่น” (hyperinflation)หรือจะเรียกว่า อภิมหาเงินเฟ้อของสหรัฐ ในการทวีตตอบคำถามขอความคิดเห็นเมื่อคืนวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา จนกลายเป็นข่าวไปทั่วโลก

ดอร์ซีย์ไม่ได้พูดถึง “ภาวะเงินเฟ้อสูง” แบบที่นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญหลายคน เชื่อว่าจะยังคงอยู่กับอเมริกานานกว่าที่คาดหมายไว้ หรือตามที่เฟดพยายามปลอดว่าเป็นภาวะชั่วคราวจะดีขึ้นในปีหน้า อะไรประมาณนี้ แต่ดอร์ซีย์ฟันธงเจาะจงใช้คำว่า “ไฮเปอร์อินแฟลชั่น” เป็นพิเศษย้ำ หมายถึงยิ่งกว่าฟองสบู่เงินเฟ้อ ยิ่งกว่าสินามิก็แล้วกัน

ไฮเปอร์อินแฟลชั่น ไม่ใช่ภาวะเงินเฟ้อปกติทั่วไป แต่เป็นสถานการณ์ที่ “ราคา” ของสินค้าและบริการทั้งหลาย พุ่งขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งแบบ “ควบคุมไม่ได้”

จุดเริ่มต้นของไฮเปอร์อินแฟลชั่น มักจะเป็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดการ “ดิสรัปต์” หรือก่อความปั่นป่วนอย่างรุนแรงต่อห่วงโซ่อุปทาน ตัวอย่าง เช่น การเกิดสงคราม หรือเกิดการลุกฮือขึ้นชุมนุมประท้วง หรือไม่ก็เกิดภาวะ “ซัพพลายช็อก” ครั้งใหญ่ขึ้น จนเป็นเหตุให้ซัพพลายที่เป็นสินค้าและบริการต่าง ๆ ทั้งหลายลดลงมากอย่างฉับพลัน ส่งผลกระทบต่อราคาและค่าจ้างในที่สุด

ไฮเปอร์อินแฟลชั่นนอกจากจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมากแล้ว ยังส่งผลต่อค่าเงินของประเทศนั้นมหาศาลอีกด้วย และมันก็หมายถึงส่งผลกระทบต่อดอลลาร์สหรัฐอย่างแน่นอนนั่นเอง

ดอร์ซีย์ให้ทรรศนะไว้ว่า ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาจะแย่ลงอีกมากในไม่ช้าไม่นานนี้ และกำลังจะกลายเป็น “ไฮเปอร์อินแฟลชั่น” ที่ “กำลังจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง” ซึ่งแน่นอนคงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีแน่ ที่สำคัญเขาย้ำว่า ภาวะไฮเปอร์อินแฟลชั่น ไม่เพียงแต่จะคุกคามต่อสหรัฐอเมริกา แต่จะส่งผลกระทบไปทั่วโลกในเร็ว ๆ นี้อีกด้วย

แม้ดอร์ซีย์จะไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ระดับหัวกะทิของโลก แต่ตอนนี้เขาออกมาให้ความเห็นมาเตือนแสดงว่า มันไม่ใช่ภาวะปกติธรรมดา   ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯกำลังพุ่งขึ้นไปอยู่ใกล้เคียงกับระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี และยังไม่มีทีท่าว่าจะชะลอลงในเร็ววัน

ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ที่เป็นตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อที่รวมเอาราคาอาหารและพลังงานอยู่ด้วย เพิ่งถีบตัวสูงขึ้นอีก 0.4 % เมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้อัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกันปีต่อปีอยู่ที่ 5.4% สูงสุดในรอบ 30 ปีอย่างที่ว่า

อัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาหรือเฟดใช้ ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน แต่เป็นการวัดราคาที่ผู้บริโภคต้องควักกระเป๋าจริง ๆ ก็อยู่ที่ 3.6% เกินกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของเฟดซึ่งอยู่ที่ 2% อยู่มาก

นั่นทำให้ “เจอโรม เพาเวลล์” ประธานเฟด แสดงความกังวลออกมา และส่งสัญญาณหลายครั้งว่าจะเริ่มระงับมาตรการผ่อนปรนในเชิงปริมาณ หรือคิวอี ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

เจ้าหน้าที่ของเฟดเองยังคงยืนยันว่า การที่ราคาของสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น เกิดจากภาวะ “ช็อก” ในห่วงโซ่อุปทานของโลก ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายในเร็ววัน เมื่อผสมเข้ากับอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการที่พุ่งสูงผิดปกติ และภาวะขาดแคลนแรงงาน ซึ่งทั้งหมดเชื่อมโยงกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอย่างที่เห็น

สิ่งที่นักวิชาการพยายามจะบอกก็คือ เมื่อปัญหาในระบบซัพพลายเชนคลี่คลาย อัตราเงินเฟ้อก็จะค่อย ๆ ลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่คนในแวดวงการเงินกลับไม่คิดเช่นนั้น 

เจฟฟรีย์ กุนด์ลัคช์ นักลงทุนในพันธบัตรระดับเศรษฐีพันล้าน ชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางอย่างอาจลดต่ำลงได้ในอีกไม่ช้าไม่นาน ปัจจัยบางอย่างไม่เป็นเช่นนั้น ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ “ค่าที่อยู่อาศัย” ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ในซีพีไอ สูงถึง 1 ใน 3 ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้

กุนด์ลัคช์เชื่อว่า ปัจจัยอย่างเช่น ราคาที่พักอาศัย รวมถึงค่าจ้างแรงงานที่ถีบตัวสูงขึ้น จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาขึ้นไปอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ซึ่งคาดว่าอัตราเงินเฟ้อไม่น่าจะต่ำกว่า 4% ตลอดทั้งปี และไม่ว่าจะเป็นภาวะอภิมหาเงินเฟ้อสูง หรือที่เรียกว่าไฮเปอร์อินแฟลชั่น สถานการณ์เช่นนี้ก็คุกคามต่อการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ของสหรัฐอเมริกา และโลกได้ทั้งสิ้น