ซูเปอร์โพลเผยผลสำรวจ สังคมรับไม่ได้กับม็อบปลุกระดมจาบจ้วงเสาหลักของชาติ ทุกข์ใจชุมนุมบานปลายไม่จบไม่สิ้น

2312

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่องสังคมรับไม่ได้ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,216 ตัวอย่าง

ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 กันยายน–3 ตุลาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.6 ระบุรับไม่ได้จากขบวนการปั่นกระแส ยั่วยุ ปลุกระดมต่าง ๆ ในเรื่อง ใช้อารมณ์ ไร้เหตุผล รองลงมาคือ ร้อยละ 96.1 ระบุ จาบจ้วง ล่วงละเมิด ทำลายเสาหลักของชาติ ร้อยละ 95.7 ระบุ คุกคาม ทำลายผู้อื่น ที่เห็นต่าง ร้อยละ 94.1 ระบุ ใส่ร้าย ป้ายสี พ่นสี และสาดสี และร้อยละ 93.4 ระบุ ก้าวร้าว หยาบคาย ใช้คำไม่สุภาพ ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.4 ระบุรับไม่ได้ เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุม ละเมิดกฎหมาย ทำลาย ทรัพย์สินส่วนรวม คุกคาม ทำร้ายกัน ในขณะที่ เพียงร้อยละ 2.6 รับได้ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.9 ระบุ ข่าวการชุมนุม เป็นการซ้ำเติม วิกฤตเศรษฐกิจ และ วิกฤตโควิด ในขณะที่ร้อยละ 10.1 ระบุไม่เป็นการซ้ำเติม ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.0 ไม่ต้องการ การแสดงออกของกลุ่มประชาธิปไตยที่ล่วงละเมิด ทำลายผู้อื่น ทำให้คนเห็นต่าง เดือดร้อน คุกคาม ใช้ความรุนแรง ในขณะที่ร้อยละ 11.0 ต้องการ

ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.8 เป็นทุกข์ใจ เมื่อเห็น ม็อบก่อเกิดความรุนแรงบานปลาย ในขณะที่ร้อยละ 5.2 ระบุไม่เป็นทุกข์

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่รับไม่ได้กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มุ่งสู่การเผชิญหน้าเพราะประชาชนส่วนใหญ่ทราบดีว่า จะมีประโยชน์อะไรที่จะชนะบนซากปรักหักพังและการสูญเสียอันเป็นการซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตโควิด

ขาดความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อสังคมที่อาจจะได้รับผลกระทบความเสียหายจากการเผชิญหน้ากันของกลุ่มผู้ชุมนุม


จะมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งต้องการให้เกิดการสูญเสียเพื่อพวกเขาและพวกพ้องจะได้รับผลประโยชน์จากการเผชิญหน้าและสูญเสียที่เกิดขึ้น สุดท้ายกลุ่มคนที่เป็นผู้นำ (leaders) ปลุกปั่นไปสู่การสูญเสียมักจะได้ผลประโยชน์ส่วนตัวและของพวกพ้องเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตแต่กลุ่มคนที่เป็นผู้ตาม (followers) ไปสู่การเผชิญหน้าและสูญเสียมักจะไม่ได้อะไร ผลที่ตามมาคือ

คนส่วนใหญ่ทั้งประเทศคือผู้แพ้ แต่คนหยิบมือเดียวคือผู้ที่ชนะสามารถกอบโกยผลประโยชน์เข้าตัวได้จากการเผชิญหน้าและการสูญเสีย

“ดังนั้น ทางออกของประเทศในสถานการณ์ที่เปราะบางนี้มีแนวทางที่เป็นไปได้อย่างน้อยสามแนวทางคือ แนวทางแรก ฝ่ายอำนาจรัฐ (State Power) ตอบสนองความต้องการของฝ่ายเรียกร้องแต่อยู่ภายใต้กฎหมาย ใครผิดก็ว่าไปตามผิดที่สังคม (Non-State Power) ยอมรับได้ แนวทางที่สอง ทุกฝ่ายรู้เท่าทันการปลุกปั่นกระแสที่กำลังเกิดขึ้นจากต้นตออย่างน้อยสองส่วนคือ ส่วนแรกการใช้เทคโนโลยีผ่าน บอต (bot) และเอไอ (Ai) ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของโลกโซเชียลกระตุ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนทำให้คนที่เคยอยู่กลาง ๆ

ถูกผลักเลือกข้างและส่วนที่สองคือการใช้กลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่งเปิดประเด็นปั่นกระแสจากหลักร้อยปั่นเป็นหลักล้านตามที่หลายฝ่ายทราบดีจึงต้องรณรงค์ให้เกิดความรู้เท่าทันและ แนวทางที่สามคือ การใช้การชี้แจงด้วยเหตุผลและหลักฐานชนะใจกลุ่มพลังเงียบ ถึงแม้ว่ากลุ่มตั้งตนเป็นฝ่ายตรงข้ามจะไม่ยอมรับการชี้แจงที่พวกเขาจะมองว่าเป็นการแก้ตัวก็ตาม แต่ก็ต้องชี้แจงไม่ใช่เดินหนีเพราะจะเสียกลุ่มคนไปสองกลุ่มหรืออาจจะเสียกลุ่มเคยอยู่เป็นพวกไปด้วยก็ได้”