สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2564 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ครั้งที่ 23/2564
มี ศ.นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร เป็นประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พร้อมด้วย ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ตัวแทนจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO
โดยนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 1 เข็ม กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ได้รับวัคซีน ซิโนแวค 2 เข็ม ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ได้รับวัคซีน ซิโนแวค 2 เข็ม ให้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 1 เข็ม โดยอาจเป็นวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า AstraZeneca หรือวัคซีนชนิด mRNA อย่างน้อย 4 สัปดาห์หลังจากวัคซีนซิโนแวค Sinovac เข็ม 2 ซึ่งสามารถกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันให้สูงและเร็วขึ้น เพื่อให้การป้องกันและควบคุมโรคโควิด -19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ของโรค
พร้อมยืนยันว่า การพิจารณานโยบายการให้วัคซีนโควิด 19 ดังกล่าว ใช้ข้อมูลผลการศึกษาวิจัยในประเทศไทยรองรับ และผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการด้านวิชาการฯ และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุดในสถานการณ์ขณะนี้
ต่อมามีรายงานว่า คณบดีคณะแพทยศาสตร์ 10 คณะ ในฐานะคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ออกแถลงการณ์สนับสนุนมาตรการฉีดวัคซีนสลับชนิด และวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ตามมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 7/2564
ระบุว่า เนื่องจากมีข้อเสนอแนะให้มีการทบทวนข้อมูลทางวิชาการ เรื่อง การให้วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 1 เข็มกับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) 2 เข็ม และการให้วัคซีนโควิด19 แบบสลับชนิด ตามด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) สำหรับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ตามมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 นั้น
คณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขใน ศบค. ซึ่งประกอบด้วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ 10 คณะ มีความเห็นว่า มติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เป็นมติที่ควรได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังต่อไปนี้
สำหรับมาตรการฉีดวัคซีนสลับเข็มสำหรับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย
1. เชื้อก่อโรคโควิด19 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รายงานว่า ในกรุงเทพมหานครมีสายพันธุ์เดลตาเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดพบว่ามีสายพันธุ์เดลตา ร้อยละ 69 จากข้อมูลสำรวจรายสัปดาห์ ทั้งนี้ สายพันธุ์เดลตาแพร่ได้เร็ว อัตราตายสูง และดื้อต่อวัคซีนที่พัฒนาจากสายพันธุ์เดิม
2. ผลการศึกษาภูมิคุ้มกันชนิด Neutralizing Antibody ต่อสายพันธุ์เดลตา พบว่า วัคซีนแอสตร้าฯ เข็มแรก และวัคซีนซิโนแวค สองเข็ม เพียงอย่างเดียว กระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตาได้ไม่ดี
3. วัคซีนแอสตร้าฯ 1 เข็ม ยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่สูงพอจะกันป่วยหนักจากสายพันธุ์เดลตา ทำให้ประเทศอังกฤษประกาศร่นระยะเวลาการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ 2 เข็ม จาก 12 สัปดาห์ เหลือ 8 สัปดาห์
4. วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่สูงพอที่จะกันป่วยหนักจากสายพันธุ์เดลตาได้ ทำให้มีรายงานบุคลากรทางการแพทย์เสียชีวิตหลายร้อยรายในประเทศอินโดนีเซีย
5. ในระบบการให้วัคซีนของประเทศไทย มีผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 แบบสลับชนิด โดยเข็มแรกฉีดวัคซีนซิโนแวคตามด้วยวัคซีนแอสตร้าฯ เป็นเข็มที่สอง จำนวน 1,102 ราย เนื่องจากสาเหตุบางประการ ทำให้ไม่สามารถรับวัคซีนซิโนแวคเข็มที่สองได้ เช่น เกิดภาวะไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 1 โดยทั้ง 1,102 รายนี้ ได้รับการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ในระบบของกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงหรือเสียชีวิต และยังไม่มีรายงานการติดเชื้อก่อโรคโควิด ในคนกลุ่มนี้ จากฐานข้อมูลของกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2564
6. ผลการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 แบบสลับชนิด โดยเข็มแรกฉีดวัคซีนซิโนแวคและตามด้วยวัคซีนแอสตร้าฯ เป็นเข็มที่สอง จำนวน 36 ราย โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจำนวน 17 ราย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับนักวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พบว่า ระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนแบบสลับชนิดสูงกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ถึง 8 เท่า และผลการตรวจภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์เดลตา พบว่า ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์เดลตามีค่าสูงทุกราย และอนุมานได้ว่าประสิทธิภาพของวัคซีนสูตรนี้ต่อสายพันธุ์เดลตา น่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 80
7. การให้วัคซีนโควิด19 แบบสลับชนิด ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ น่าจะทำให้ผู้ได้รับวัคซีนมีภูมิคุ้มกันสูงต่อเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้รวดเร็วกว่าการให้วัคซีนแอสตร้า สองเข็มห่างกัน 8 สัปดาห์ โดยการให้วัคซีนโควิด แบบสลับชนิด ซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าฯ น่าจะทำให้ระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์เดลตาสูง เมื่อ 5-6 สัปดาห์หลังฉีดเข็มที่ 1
8. เนื่องจากประเทศไทยมีการใช้วัคซีนซิโนแวค เป็นจำนวนมาก ในสถานการณ์ที่เชื้อสายพันธุ์เดลตาระบาดรุนแรง ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้สูงและรวดเร็ว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการใช้วัคซีนที่มีอยู่ต่อการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตจากสายพันธุ์เดลตา มติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา นั้นมีความเหมาะสมแล้วในสถานการณ์ปัจจุบัน
สำหรับมาตรการการให้วัคซีนเข็มกระตุ้น 1 เข็ม หลังจากที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มในบุคลากรด่านหน้านั้น เป็นไปตามข้อมูลที่ได้ติดตามผลการตรวจภูมิคุ้มกันหลังจากได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม พบว่าระดับภูมิคุ้มกันไม่สูงพอ สำหรับเชื้อสายพันธุ์เดลตา จึงมีข้อแนะนำให้ฉีดกระตุ้นในบุคลากรด่านหน้าได้ โดยอาจเป็นวัคซีนแอสตร้าฯ หรือวัคซีนชนิด mRNAอย่างน้อย 4 สัปดาห์หลังจากวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 2 โดยมติดังกล่าว เป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ที่จะต้องปฏิบัติภารกิจคัดกรอง ตรวจวินิจฉัย และรักษาผู้ป่วยโควิด สายพันธุ์เดลตา อย่างใกล้ชิด ซึ่งไม่สามารถรอให้มีหลักฐานพิสูจน์ทราบว่าวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มไม่ได้ผล คือ การพบบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าป่วยหนักหรือสูญเสียชีวิตได้
ดังนั้นแม้จะยังไม่มีหลักฐานถึงประสิทธิภาพที่ชัดเจน แต่เนื่องจากมีข้อมูลยืนยันว่าการให้วัคซีนเข็มกระตุ้น 1 เข็ม หลังจากที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ชัดเจน และพบผลไม่พึงประสงค์รุนแรงได้ไม่บ่อย จึงเห็นควรสนับสนุนมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในการดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้ามีความปลอดภัยและสามารถดูแลประชาชนในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ได้อย่างเต็มที่