“โควิด-19” ยังระบาดหนักทั่วโลก แต่เสียงสะท้อนจากสงครามเชิงพื้นที่เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสหรัฐเปิดฉากกดดันสมาชิกสหประชาชาติ ต่ออายุมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ห้ามประเทศไหนซื้อหรือขายอาวุธแก่อิหร่านพร้อมขยายสู่การแซงก์ชั่นเศรษฐกิจขั้นสูง ปธน.ทรัมป์เล็งออกคำสั่งพิเศษ ใช้มาตรการเข้มทางการค้ากับอิหร่านเพิ่ม โดยไม่สนใจคำท้วงติงของประเทศสมาชิกอื่น ใช้ข้ออ้างเดิม เป็นภัยความมั่นคงของสหรัฐและโลก นักวิเคราะห์มองว่าอาจแค่สัญลักษณ์เรียกคะแนน ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐวันที่ 3 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้
ปธน.ทรัมป์จุดชนวนขัดแย้งอิหร่าน-เล็งเปิดฉากสงครามการค้ากดดันเพิ่ม
แหล่งข่าวไม่เปิดเผยกล่าวกับรอยเตอร์ว่าคำสั่งพิเศษของปธน.ทรัมป์คาดว่าจะระบุถึงการลงโทษขั้นรุนแรงโดยการคว่ำบาตรครั้งที่สอง ถึงขั้นริบทรัพย์สินของอิหร่านที่อยู่ในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งทางทำเนียบขาวไม่ตอบข้อซักถามนี้แต่อย่างใด การชดใช้ค่าสินไหมจากอิหร่านตามกฎของสหประชาชาติหมดอายุลงในเดือนตุลาคมปีนี้ สหรัฐพร้อมที่จะต่ออายุการแซงก์ชั่นทันที ระบุว่าถ้ามีใครขายหรือซื้ออาวุธสงครามกับอิหร่านจะต้องได้รับการแซงก์ชั่นจากสหรัฐด้วย
ภายใต้สนธิสัญญาข้อตกลงล้มเลิกนิวเคลียร์ปี 2015 อิหร่านได้หยุดเกี่ยวข้องกับการสะสมนิวเคลียร์ทุกรูปแบบ ด้วยความร่วมมือของ มหาอำนาจทั้ง 6 ได้แก่สหราชอณาจักร, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา(ในสมัยโอบามา) มาตรการของสหประชาชาติจะหมดอายุลงในวันที่ 18 ตุลาคม 2020 เกิดขึ้นในระยะใกล้การเลือกตั้งสหรัฐ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563
สหรัฐซึ่งถอนตัวออกจากสนธิสัญญาฉบับนี้ในปี 2018 กล่าวว่า สามารถกลับไปใช้สิทธ์เดิมเพื่อลงโทษอิหร่านได้แม้ไม่ประกาศกลับเข้าร่วมสนธิสัญญาอีกก็ตาม มาตรการลงโทษอิหร่านโดยสหประชาชาติจะหมดอายุลงในเวลา 8 นาฬิกา ของคืนวันเสาร์ที่จะถึงนี้
ในกรณีนี้ ประเทศผู้ร่วมลงนามบังคับใช้ กฎหมายฉบับ 2015 รายอื่นในสมัชชาความมั่นคงสหประชาชาติ ระบุว่าสหรัฐไม่มีสิทธิที่จะกระทำการตามที่ต้องการได้เพราะเป็นผู้ถอนตัวออกมาเอง ถ้าทำจริงก็ไม่มีผลทางกฎหมายทางสากลแต่อย่างใด ขณะเดียวกันโฆษก รัฐบาลอิหร่านเชื่อว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่สมัชชาความมั่นคงสหประชาชาติจะยอมรับการทำละเมิดกฎหมายเสียเองของสหรัฐได้ เพราะเวลาแซงก์ชั่นอิหร่านจะหมดอายุลงเดือนตุลาคมนี้แน่นอน
กลาโหมของสหรัฐให้ความเห็นว่า การแซงก์ชั่นครั้งที่สองกระทำได้เพื่อลงโทษประเทศที่สองที่ทำการค้ากับบุคคลที่สามในตลาดของสหรัฐ เป็นกลไกอำนาจเฉพาะของสหรัฐเพราะเป็นประเทศเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ บริษัทส่วนใหญ่ไม่ต้องการเผชิญความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจจากการลงโทษโดยสหรัฐซึ่งนั่นคือจะไม่สามารถค้าขายกับสหรัฐ คงไม่อาจแลกกับการค้ากับประเทศเล็กๆอย่างอิหร่านได้
สำหรับนักกฎหมาย นาย Doug Jacbson ให้ความเห็นว่า น่าจะเป็นเพียงสัญลักษณ์มากกว่าการปฎิบัติเพราะบริษัทหรือประเทศที่เคยค้าขายกับอิหร่านโดนลงโทษไปแล้วในฐานะ แซงก์ชั่นอันดับสอง เป็นการส่งสัญญาณบอกพันธมิตรมหาอำนาจทั้งหลายว่า สหรัฐไม่พอใจที่ไม่ตอบสนองรุมอิหร่านเหมือนเคย
นายอิเลียต แอบบรามส์ ที่ปรึกษาด้านเวเนซุเอลาแลอิหร่านของสหรัฐกล่าวว่า วอชิงตันวางแผนเสนอการแซงก์ชั่นใครก็ตามที่ละเมิดข้อห้ามสะสมอาวุธของสหประชาชาติ ถึงแม้จะไม่ลงนามคำสั่งพิเศษก็ตาม และเช่นเคย นายไมค์ ปอมเปโอ รมว.กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ส่งสัญญาณท่าทีของสหรัฐที่อาจเพิ่มเติม แซงก์ชั่นทางการค้าต่ออิหร่าน
“เราจะทำในทุกอย่างที่เราต้องการจะทำเพื่อให้มั่นใจว่า การแซงก์ชั่นจะมีผลจริง” ปอมเปโอกล่าว “เราเคยประสพความสำเร็จในทุกสิ่งถึงแม้ว่าโลกจะพูดว่าอย่างไร” นั่นหมายถึงท่าทีของสหรัฐต่อการขัดขวางอิหร่านพุ่งเป้าในทางเศรษฐกิจโดยตรง
ปัจจัยเสี่ยงสงครามพื้นที่เพราะสัมพันธ์สหรัฐ-อิหร่านวิกฤติถึงขั้นสูงสุด
-ความสัมพันธ์ร้าวระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านเริ่มขึ้นเมื่อ การปฏิวัติอิสลามในปี 1979 “อายะตุลลอฮ์ รูฮุลลอฮ์ โคมัยนี” นักการศาสนา อดีตผู้นำสูงสุด ทำปฏิวัติอิหร่านนำไปสู่การล้มล้างพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พันธมิตรร่วมผลประโยชน์กับสหรัฐแต่เก่าก่อน และต้องลี้ภัยไปอยู่ในสหรัฐฯ และมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง เป็นระบอบสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน
นับแต่นั้นมาความสัมพันธ์เสื่อมลงต่อเนื่อง เพราะกลุ่มผู้นำอิหร่านไม่เห็นด้วยกับมหาอำนาจ เข้ามาเผาผลาญระดมทรัพยากรในประเทศ ทำให้มีการกวาดล้างอิทธิพล ผลประโยชน์ นำกลับมาเป็นของรัฐทั้งหมดเช่นเดิม แต่เกิดวิกฤติร้าวฉานหนักเมื่อกลุ่มนักศึกษาอิหร่านหัวรุนแรงกลุ่มหนึ่ง ได้บุกยึดสถานทูตสหรัฐฯ จับกุมเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯและพลเรือนไว้ 52 คน จำนวน 444 วัน มีการนำภาพจับตัวประกัน ถูกปิดหน้า ปิดตา นั่งคุกเข่าต่อหน้านักการศาสนา ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก
กลายเป็นบาดแผลแค้นของสหรัฐฯที่ไม่สามารถยอมรับกับการกระทำนั้นได้ นับจากนั้นเป็นต้นมาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านก็ขาดสะบั้นลงทุกด้านไม่มีการติดต่อทางการทูตกันอีกต่อไป
ปี 2001 เกิดเหตุการณ์ 9/11 สหรัฐฯประกาศ 3 ประเทศเป็นแกนแห่งความชั่วร้าย กล่าวหาอิหร่าน“พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์” กดดันสหประชาชาติและองค์กรต่อต้านอาวุธร้ายแรงในการเข้าตรวจสอบอิหร่าน แต่ก็ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าตรวจสอบ นำไป สู่มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจปี 2002
-กระทั่งปี 2015 ในสมัยยุค “บารัค โอบามา” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้หันมาคุยกับ “อิหร่าน” เป็นครั้งแรก เพื่อต้องการให้หยุดการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ ยุติความขัดแย้งอันยาวนานระหว่าง 2 ประเทศ และได้ทำข้อตกลงนิวเคลียร์ร่วมกับอิหร่าน ไม่สามารถเสริมสร้างแร่ยูเรเนียมเกินระดับ 300 กิโลกรัม ห้ามไม่ให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นเวลา 15 ปี เพื่อแลกกับการที่สหรัฐฯ และสหประชาชาติยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด ทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น ส่งผลให้อิหร่านก็เริ่มส่งออกน้ำมันมาได้เรื่อยๆ
-ในปี 2018 จุดแตกหักความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านก็เริ่มขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อ“โดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศถอนสหรัฐฯออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ อ้างว่ามีการละเมิดข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์ และใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจขั้นสูงสุด เพื่อไม่ให้อิหร่านส่งออกน้ำมันได้
ในช่วงปลายปี2019 มีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ เช่น ยิงเรือบรรทุกน้ำมัน ทั้งเรืออิหร่าน เรือน้ำมันซาอุดีอาระเบีย หรืออังกฤษยึดเรือของอิหร่าน มีการตอบโต้กันไปมาต่อเนื่อง…เหตุการณ์ครั้งใหญ่สุดคือ มีการใช้โดรนเข้าไปยิงคลังน้ำมันในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นน้ำมันส่งออกขาย 5% ของโลก สร้างความเสียหายอย่างมากซึ่งซาอุฯเชื่อว่าอิหร่ายอยู่เบื้องหลัง
-ปี 2020 “โดนัลด์ ทรัมป์” สั่งปลิดชีพ “พล.อ.คัสเซม โซไลมานี” ผู้นำของกองทัพอิหร่าน ทำให้มีการเผชิญหน้ากันโดยตรงระหว่าง 2 ประเทศ นับตั้งแต่ขาดสัมพันธ์กันมา 40 ปีที่แล้ว