จากกรณีที่ วันนี้ที่ 13 ก.พ. 64 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงสถานการณ์ประจำวัน
ว่า ผู้มีติดเชื้อรายใหม่ 126 ราย แบ่งเป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ 10 ราย ระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 37 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 79 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 24,405 ราย หายป่วยแล้ว 21,180 ราย อยู่ระหว่างรักษา 3,145 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดสะสมคงที่ 80 ราย
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ เมื่อวานนี้ 12 ก.พ. 64 บริเวณตลาดพรพัฒน์ (ตลาดสดรังสิต) ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี พ่อค้าแม่ค้ารวมตัวกันไม่เห็นด้วยกับคำสั่งปิดตลาด เป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 5 วันตั้งแต่วันที่ 12-16 ก.พ. 2564
โดยสาเหตุการปิดตลาดคือ 2 วันที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 60 คน โดยในวันที่ 10 ก.พ.ตรวจคัดกรองเชิงรุก 149 รายพบผู้ติดเชื้อ 32 ราย และวันที่ 11 ก.พ.ตรวจคัดกรองเชิงรุก 123 ราย พบผู้ติดเชื้อ 28 ราย และยังรอผลอีกกว่า 160 ราย เนื่องจากตลาดพรพัฒน์และตลาดสุชาติ พบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปทุมธานี จึงมีมติออกคำสั่งปิดทั้ง 2 ตลาดและเร่งตรวจคัดกรองเชิงรุกแบบ 100% ของกลุ่มแรงงานต่างด้าวและบุคคลกลุ่มเสี่ยงเพื่อจำกัดควบคุมเชื้อไม่ให้แพร่ระบาดไปในวงกว้าง
ล่าสุด วันนี้ ที่จุดคัดกรองตลาดพรพัฒน์ ซอยรังสิต-ปทุมธานี 19-21 ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอธัญบุรี ได้บูรณาการร่วมกันเร่งตรวจคัดกรอง แรงงานในตลาด และ เจ้าของร้าน
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะดำเนินการสืบประวัติ แรงงานต่างด้าวที่เข้าทำการตรวจสอบสวนโรค พร้อมดำเนินการตรวจหาเชื้อโดยวิธีการ SWAB คือการนำไม้สอดเข้าไปในจมูกเพื่อเก็บสารคัดหลั่งจากหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal swab) นำสารคัดหลั่งเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19
โดยตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. ได้ทำการตรวจคัดกรองไปจำนวน 169 พบผู้ติดเชื้อจำนวน 32 คน วันที่ 11 ก.พ. ตรวจคัดกรองไปจำนวน 288 คนพบผู้ติดเชื้อจำนวน 52 คน และในวันที่ 12 ก.พ. ตรวจคัดกรองไปแล้ว 360 คน พบเพิ่มอีก 40 คน โดยทั้ง 3 วัน ได้ตรวจคัดกรองไปแล้วกว่า 817 คนพบผู้ติดเชื้อโดยรวมทั้งคนไทย และ ต่างด้าว ติดเชื้อแล้วจำนวน 124 คน
ด้าน นายพิษณุ ประภาธนานันท์ นายอำเภอธัญบุรี เปิดเผยว่า ในการตรวจแบบเข้มข้นครั้งนี้ ทางจังหวัดปทุมธานี นำโดย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปทุมธานี และผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดปทุมธานี จะเร่งดำเนินการตรวจคัดกรองให้ได้ 100 เปอร์เซนต์โดยเร็ว เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปที่อื่น
ซึ่งต้องขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการร้านค้าในตลาด ให้ช่วยกันนำแรงงาน และ บุคคลที่อยู่ในตลาด หรือ ครอบครัว ให้ช่วยกันออกมาตรวจคัดกรองให้ได้ครบทุกคน ถ้าพบก็จะได้ทำการรักษาให้หายขาด เพื่อให้ตลาดกลับมาเปิดขายของได้โดยที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ เพื่อความสบายใจ และปลอดภัยของพี่น้องประชาชนที่จะเดินทางมาจับจ่ายใช้สอยได้อย่างเดิม
ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้เปิดเผย พื้นที่เป้าหมายการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในระยะเร่งด่วน ช่วงเดือนก.พ.-เม.ย.2564 จำนวน 2 ล้านโดสแรก จะกระจายใน 10 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ สมุทรสาคร กทม. นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรปราการ
พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด และพื้นที่ที่มีการพบการติดเชื้อต่อเนื่อง คือ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยจะให้บริการในสถานพยาบาลที่มีแพทย์และห้องฉุกเฉินทั้งรัฐและเอกชน แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น โดย 1 คนจะฉีด 2 เข็ม ดังนี้
1. สมุทรสาคร 8.2 แสนโดส จำนวน 4.1 แสนคน
เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 8,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 6,000 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 36,000 คน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 1.5 แสนคน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 2.1 แสนคน
2. กรุงเทพฯ 8 แสนโดส จำนวน 4 แสนคน
เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 32,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 8,000 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 1 แสนคน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 1 แสนคน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 1.6 แสนคน
3. นนทบุรี 26,000 โดส จำนวน 13,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน
4. ปทุมธานี 26,000 โดส จำนวน 13,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน
5. สมุทรปราการ 28,000 โดส จำนวน 14,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 5,000 คน
6. ระยอง 18,000 โดส จำนวน 9,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 5,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน
7. ชลบุรี 28,000 โดส จำนวน 14,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 10,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน
8. จันทบุรี 16,000 โดส จำนวน 8,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 6,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 2,000 คน
9. ตราด 12,000 โดส จำนวน 6,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 5,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 1,000 คน
10. ตาก 1.6 แสนโดส จำนวน 80,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 8,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 2,000 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 10,000 คน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 10,000 คน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 50,000 คน
รวมทั้งสิ้น 1,934,000 โดส จำนวน 967,000 คน ส่วนอีก 66,000 โดส สำหรับ 33,000 คนนั้นจะสำรองไว้เผื่อมีพื้นที่อื่นระบาดเกิดขึ้น โดยจะให้กับพื้นที่ที่อยู่โดยรอบพื้นที่ระบาดเพื่อเป็นการสกัดวงการแพร่เชื้อ