โควิดระบาดใหม่ทำบิ๊กตู่และครม.เครียด หารือล่วงหน้ามาตรการเยียวยาชุดใหม่ ที่คนไทยตั้งตารอ ล่าสุดครม.อนุมัติมาตรการ “เยียวยาผลกระทบโควิด”แล้วแบบเดิมๆ ไม่เพิ่มเงิน เพิ่มเวลาอย่างที่ภาคเอกชนเสนอ ด้วยยอดเงิน 3,500 บาทสำหรับคนละครึ่งภาคต่อ และเยียวยาตรงผู้ประกอบอาชีพอิสระ ลูกจ้างรายได้น้อย ซึ่งรับรองบิ๊กตู่รอล้างหูฟังคำวิจารณ์ได้เลย ท่ามกลางความแคลงใจว่า มีเงิน 7 แสนล้านบาทน่าจะพอเยียวยาถ้วนหน้าได้ในทันที จับตามาตรการการเงินการคลังที่จะคลอดตามกันมาอีกแป๊ป!!
วันนี้ (12 ม.ค. 64) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ณ ศูนย์บัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เกี่ยวกับมาตรการ “เยียวยาโควิด” ระลอกใหม่ โดยเห็นชอบดังต่อไปนี้คือ
1.ให้เปิดลงทะเบียน “คนละครึ่ง”ภาคต่อจำนวน 1 ล้านสิทธิ์ สิ้นเดือนม.ค. 2564 จำนวนเงิน 3,500 บาทระยะเวลา -3 เดือนเท่าเดิม (อาจพิจารณาเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์การระบาดฯ)
2.ช่วยเงินเยียวยากลุ่มลูกจ้าง และอาชีพอิสระจำนวน 3,500 บาท ต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน รายละเอียดจะได้ประกาศให้ทราบต่อไป
- มาตรการลดค่าใช้จ่ายประชาชนได้แก่
3.1)อินเทอร์เน็ต – เพิ่มความเร็วและแรงของอินเทอร์เน็ตบ้าน มือถือ และลดค่าใช้จ่ายผู้ใช้บริการ เพื่อเป็นการสนับสนุนการ Work From Home และโหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ฟรีเป็นเวลา 3 เดือน
3.2) ค่าไฟฟ้า- ลดค่าไฟฟ้าเป็นเวลา 2 เดือน ก.พ. – มี.ค. 2564 โดยบ้านทั่วไปใช้ที่ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย ใช้ฟรี 90 หน่วย หากเกิน 150 หน่วยต่อเดือนให้ลดตามเงื่อนไข ส่วนกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ให้ใช้ฟรี 50 หน่วยแรก ค่าน้ำ
3.3) ลดค่าน้ำประปาจำนวน 10% เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ตามใบแจ้งหนี้ในเดือน ก.พ. – มี.ค. 2564
ส่วนเรื่องวัคซีนโควิด-19 ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนภายในกลางปีนี้ แต่จะเป็นการทยอยรับมอบ และเมื่อได้วัคซีนมาแล้ว รัฐบาลจะกระจายวัคซีนต่อไป พร้อมกำหนดพื้นที่ที่จะต้องกระจายการแจกวัคซีน นายกฯประยุทธ์ยังคงย้ำว่า ประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 ให้เข้ารักษาได้ฟรีขณะที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำลังหาวิธีการจัดการเรื่องการกระจายวัคซีนให้ชัดเจนขึ้น โดยให้ตามลำดับความจำเป็นเร่งด่วน เช่น กลุ่มแพทย์ พยาบาลด่านหน้าก่อน แล้วค่อยพิจารณาฉีดให้ประชาชน ต่อไปก็จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน รับวัคซีนเข้ามาจำหน่ายได้ในอนาคต แต่ต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ส่วนการลดหย่อนเงินสมทบต่าง ๆ นายกฯแถลงว่า ให้ดูการจ้างงาน ได้มอบหมายให้ทุกกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานไปหาวิธีรับมือโควิด ดูแลคนไม่ให้ตกงาน ต้องดำเนินการเร่งด่วนให้ได้โดยเร็ว โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่ สำหรับคนที่จบการศึกษาใหม่ ต้องเร่งพิจารณาโดยเร็วด้วย
ด้านกระทรวงการคลังชี้แจงเพิ่มเติมว่า ยังมีการลดหย่อนเงินสบทบแรงงาน เหลือเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มวงเงินชดเชยเป็นร้อยละ 70 ไม่เกิน 200 วัน กรณีเลิกจ้างเป็นต้น ให้สิทธิบริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน คัดกรองเชิงรุกในโรงงาน
นอกจากนี้ยังเลื่อนใช้สิทธิเราเที่ยวด้วยกันไปถึงเดือนเมษายน 64 และสั่งขยายโครงการ
โจทย์เดิมๆที่รัฐบาลน่าจะยังทำการบ้านไม่เรียบร้อย จะกลับมาเป็นข้อจำกัดในการดำเนินงานอีกครั้ง
เพราะการระบาดรอบใหม่ ไม่เป็นสิ่งที่คาดหวังไว้ว่าจะเกิด ท่ามกลางความภูมิใจในผลงานที่ทำให้ไทยผ่านวิกฤติโควิด-19 รอบแรกมาได้และได้รับคำยกย่องชมเชย เป็นกับดักความสำเร็จที่วันนี้ยังละล้าละลัง ที่สำคัญบอกว่า เงินมีพร้อมแล้ว700,000 ล้านบาทพร้อมดูแลประชาชนทุกกลุ่ม
รัฐบาลยังคงคิดมาตรการช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ไปที่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบหนัก บางกลุ่มเท่านั้น โดยไม่ตระหนักว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ส่งผลต่อคนเป็นวงกว้าง และได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม ซึ่งตั้งตารอการตัดสินใจของคณะผู้บริหารว่าจะดูแลพวกเขาอย่างไร การปฏิเสธ “เราไม่ทิ้งกัน” ย่อมอาจทำให้คนไทยผิดหวัง เมื่อนำไปเปรียบกับประเทศอื่นๆที่มีมาตรการจ่ายถ้วนหน้ากับวิกฤติระบาดใหม่ที่หนักไม่แพ้รอบแรก
การขาดการยกเครื่องฐานข้อมูล BigData และการบูรณาการมาใช้ในการจัดการปัญหาใหญ่ๆทุกเรื่องอย่างจริงจังต่อเนื่อง ทั้งเรื่องแรงงานนอกระบบ ภาระหนี้สินครัวเรือน การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายอย่างยั่งยืน การมีงานทำในภาวะวิกฤติ เป็นต้น ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะกลับมาเหมือนตอนต้นที่เกิดการระบาดทำให้จนป่านนี้ รัฐบาลยังดำเนินการแบบตั้งรับมากกว่าเชิงรุก