ผู้รายงานพิเศษUNบี้รัฐบาลไทย?!? ดำเนินคดีม็อบปลดแอกละเมิดกติกาสากล ขู่ไม่ชี้แจงภายใน 60 วันจะฟ้อง

5239

ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติ 3 คนจี้รัฐบาล ให้ชี้แจงการดำเนินคดีม็อบสารพัดชื่อ ขู่จะฟ้องละเมิดกติกาสากล ต้นทางรายงานจากศูนย์ทนายสิทธิมนุษยชน เครือข่ายเคลื่อนไหวของ NED องค์กรชี้นำของโซรอส ก่อนหน้านี้ผู้แทนยูเอ็นทั้ง 3 ออกหมัดเคลื่อนไหวลงสื่อไทย-ต่างประเทศเอียงข้างม็อบตลอดมา บางคนทำแบบนี้ในกรณีกัมพูชา-ลาว-เมียนมา พฤติกรรมหวังดีประสงค์ร้ายแบบนี้จะหนักหน่วง เข้มข้นขึ้น  หลังการรับตำแหน่งปธน.สหรัฐคนใหม่แห่งพรรคเดโมแครต ท่ามกลางการระบาดหนักโควิด-19 รัฐบาลมีแผนเตรียมรับมือหรือยัง?

ในนามผู้เชี่ยวชาญสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติในที่นี้ประกอบด้วย:

นายเคลมอนต์ วูเล่ ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิการชุมนุมและรวมกลุ่มโดยสงบ-ไอรีน คาน ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก-แมรี่ ลอว์เลอร์ ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน

บทบาทยูเอ็นรับใช้ใคร?

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม เว็บไซต์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รายงานว่า 3 ผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้แก่ ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการสมาคม (Special Rapporteur on the rights to freedom of peaceful assembly and of association), ผู้รายงานพิเศษด้านการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น (Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression) และผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Special Rapporteur on the situation of human rights defenders) ได้ส่งหนังสือทวงถามรัฐบาลไทย (หนังสือลำดับที่ ALTHA 7/2020 ลงวันที่ 17 กันยายน 2563) ถึงกรณีการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทางการเมืองและประชาชน ได้แก่ นายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นายบารมี ชัยรัตน์, นางสาวสุวรรณา ตาลเหล็ก, นายกรกช แสงเย็นพันธ์, นายเดชาธร บํารุงเมือง, นายทศพร สินสมบูรณ์, นายธานี สะสม, นายณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์, นายธนายุทธ ณ อยุธยา, นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี, นายภานุมาศ สิงห์พรม และ นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ รวมไปถึงกรณีที่มีการปิดกั้นการเข้าถึงกลุ่มในแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก

ม็อบชุมนุมอย่างสงบ?เรื่องจริงหรือโกหก – คุ้นๆนะ!

โดยผู้รายงานพิเศษทั้ง 3 ได้เท้าความถึงม็อบสารพัดชื่อ เจ้าของเดียวกันโดยอ้างว่าในภาพรวม ทางผู้ชุมนุมได้เรียกร้องในประเด็นหลัก ได้แก่ เรียกร้องการเลือกตั้งใหม่, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่, ขอให้รัฐหยุดคุกคามประชาชน และเรียกร้องให้ระบอบกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ภายหลังจากการออกมาชุมนุมอย่างสงบ พบว่ามีผู้เข้าร่วมและผู้ปราศรัยหลายรายถูกดำเนินคดี

ทั้งนี้ 3 ผู้รายงานพิเศษได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างมาก และกล่าวย้ำเตือนกับทางรัฐบาลไทยว่าภายใต้กฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนสากล ไม่มีใครควรที่จะถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบหรือการแสดงออกทางการเมือง การตั้งข้อหากับนักกิจกรรมเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดมาตรา 19 และ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR – International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งไทยเป็นภาคีและบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2540

ลามมาเข้าข้างเฟซบุ๊ค-อยู่เมืองไทยต้องเคารพกฎหมายไทย

ข้อกังวลต่อการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลและการดำเนินคดีต่อผู้แสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งประเด็นนอกจากประเด็นเรื่องการดำเนินคดีผู้เข้าร่วมในการชุมนุม ในหนังสือฉบับนี้ได้กล่าวถึงบริบทการเกิดกลุ่มบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กที่คนออกมาพูดเรื่องการปฏิรูปทางการเมืองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปรากฎว่าเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ทางเจ้าหน้าที่รัฐยังได้สั่งให้เฟซบุ๊กบล็อคการเข้าถึงกลุ่มเฟซบุ๊ก กลุ่มหนึ่ง สำหรับผู้ใช้งานในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีคำสั่งดังกล่าว ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ขู่ที่จะใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่เฟซบุ๊กประเทศไทยด้วย

ผู้รายงานพิเศษทั้ง 3 แสดงความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า การปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลในกลุ่มเฟซบุ๊กจะส่งผลกระทบด้านลบต่อการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองและทางสาธารณะของประชาชน นอกจากนั้นยังมีกรณีที่ประชาชนที่ร่วมในการแสดงข้อคิดเห็นทางการเมืองในโลกออนไลน์ที่อาจเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี เนื่องจากข้อคิดเห็นบางส่วนอาจถือเป็นเรื่องร้ายแรงในสายตาของรัฐ

ขู่ซ้ำซาก-ข้อเสนอที่เอาแต่ได้ฝ่ายเดียว??

ทาง 3 ผู้รายงานพิเศษฯ ยังได้ย้ำเตือนรัฐบาลไทยเรื่องหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งนอกจาก ICCPR แล้ว ในความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 (General Comment No. 37) ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ยังเน้นย้ำว่า “แม้ว่าการชุมนุมโดยสงบของผู้ชุมนุมอาจตรงข้ามกับความเชื่อหรือก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบกลับด้วยความรุนแรงจากคนกลุ่มอื่นในสังคม แต่ด้วยเหตุผลดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่รัฐจะสามารถเข้ามาสั่งห้ามไม่ให้เกิดการชุมนุม … รัฐจะต้องมีมาตรการที่ไม่สร้างภาระเกินควรให้กับผู้เข้าร่วมชุมนุม เพื่อที่จะปกป้องผู้ชุมนุมทุกกลุ่มและทำให้การชุมนุมเกิดขึ้นโดยไม่ถูกขัดขวาง”

นอกจากนั้น ในหนังสือฉบับนี้ยังย้ำเตือนถึงคำแนะนำโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้ให้ไว้ในรายงานข้อสังเกตเชิงสรุปต่อรายงานประเทศฉบับที่ 2 ของประเทศไทยเมื่อปี 2560 ว่าทางรัฐบาลควรจะหยุดใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, มาตรา 116 และข้อกฎหมายอื่นๆ เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการพูดและการชุมนุมโดยสงบ รวมไปถึงต้องรับรองและเคารพในสิทธิเหล่านี้ของประชาชน (CCPR/C/THA/CO/2, ย่อหน้าที่ 35, 36, 39, 40)

ที่เพิ่มจากกรณีการจับกุมข้างต้น ทางผู้รายงานพิเศษฯ ยังได้อ้างถึงสิทธิในการที่จะไม่ถูกทำให้ปราศจากซึ่งเสรีภาพและสิทธิในการที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม สิทธิเหล่านี้ได้ถูกระบุไว้ในมาตรา 9 และ 14 ของ ICCPR การพรากเสรีภาพของผู้ชุมนุมที่เพียงแค่ออกมาใช้สิทธิหรือเสรีภาพของตนถือเป็นการใช้อำนาจโดยปราศจากกฎเกณฑ์

ทางผู้รายงานพิเศษฯ ได้ขอให้รัฐบาลไทยตอบกลับหนังสือฉบับนี้ภายใน 60 วัน หากช้าไปกว่านี้ การตอบกลับหรือท่าทีใดๆ ของทางรัฐบาลไทยจะถูกเปิดเผยบนเว็บไซต์รายงาน และจะถูกบันทึกในรายงานเพื่อนำเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC)

ต่อมาทางรัฐบาลไทยโดยผู้แทนถาวรประจำองค์การสหประชาชาติ ที่เจนีวา ได้ทำหนังสือตอบกลับแจ้งผู้รายงานพิเศษฯ ว่ารับทราบถึงหนังสือสอบถามเรื่องนี้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย. 2563 และจะส่งหนังสือนี้ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมถึงจะแจ้งความคืบหน้าให้ทางผู้รายงานพิเศษฯ ทราบทันทีที่ได้รับรายละเอียดจากทางการไทย อย่างไรก็ตาม ณ วันที่หนังสือสอบถามของผู้รายงานพิเศษฯ ฉบับนี้เผยแพร่ รัฐบาลไทยยังไม่มีคำตอบให้สหประชาชาติ