จากที่วันนี้(18 พ.ย.63) นาย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉบับของไอลอว์ ทั้งการชุมนุมเรียกร้องของม็อบ พร้อมคำขู่หากรัฐสภาและการเมืองไม่สนองตอบ?!!
เมื่อระบบไม่สนองตอบ “ประชาชน” ผู้ทรงอำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญจักปรากฏกายขึ้น อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ มี 2 ชนิด 1.) อำนาจปฐมสถาปนา 2.) อำนาจสถาปนาลำดับรอง เมื่อรัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้นมาแล้ว ก็กำหนดให้มีกระบวนการแก้ไขเอาไว้
รัฐสภา และประชาชน ก็ร่วมกันใช้อำนาจสถาปนาลำดับรองเข้าแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกรอบเงื่อนไขที่กำหนด แต่เมื่อการแก้ไขในระบบถูกสกัดขัดขวาง จนประชาชนไม่อาจแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ สถานการณ์พิเศษก็บังเกิด
“ประชาชน” ผู้ทรงอำนาจปฐมสถาปนาปรากฏกายขึ้น และใช้อำนาจปฐมสถาปนานั้นเข้าก่อตั้งรัฐธรรมนูญใหม่แบบไร้กรอบ ไร้ขีดจำกัด หากรัฐสภา และสถาบันการเมืองในระบบทั้งหมด ยังคงขัดขวางประชาชนอยู่แบบนี้ อีกไม่นาน สถานการณ์คงนำพาไปสู่อำนาจปฐมสถาปนาแบบไร้ขีดจำกัดของประชาชน
ล่าสุดนายปิยบุตร ได้โพสต์ข้อความต่อเนื่องถึงเรื่องราวดังกล่าวว่า สนามกฎหมาย EP.9 วิเคราะห์การประชุมรัฐสภา เพื่อลงมติในวาระหนึ่ง ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 7 ฉบับ มาดูรายละเอียดกันว่าแต่ละฉบับแตกต่างกันอย่างไร? เหตุใดจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐสภาต้องรับร่างฉบับประชาชน หรือ ฉบับของ iLaw?
แท้จริงแล้ว รัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกระบวนการเพื่อเปิดทางให้มี สสร. มาทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ทุกหมวด ทุกมาตราได้
ไม่จำเป็นต้องออกเสียงประชามติในตอนนี้ เพราะต้องจัดออกเสียงประชามติอยู่แล้วหลังผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ไม่จำเป็นต้องเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญในกรณีนี้หรือไม่
ที่มา : เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul – ปิยบุตร แสงกนกกุล