“นักข่าวดัง” ชำแหละเบื้องหลัง การสังเวยผู้สื่อข่าวช่องดังจำนวนมาก

3679

“นักข่าวดัง” ชำแหละเบื้องหลัง การสังเวยผู้สื่อข่าวช่องดังจำนวนมาก แต่กลุ่มผู้บริหารกลับไม่ต้องรับผิดชอบ!?

สืบเนื่องจากกรณีที่เป็นประเด็นร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ และเกิดกระแสตีกลับอย่างรุนแรงเป็นอย่างมาก เมื่อ นายจีรพันธ์ เพชรขาว หรือ หมอปลา พาทีมสื่อมวลชนบุกไปที่สำนักสงฆ์ดงสว่างธรรม อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร หลังจากที่ปล่อยคลิป “หลวงปู่แสง ญาณวโร” จับหน้าอกผู้หญิง จนเกิดเป็นกระแสไม่พอใจ เนื่องจากว่า หลวงปู่แสง ชราภาพและมีอาการอัลไซเมอร์

ต่อมาผู้สื่อข่าวหลายช่องได้ถูกทำโทษ เนื่องจากมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ในการทำข่าวดังกล่าว แต่ก็มีชาวโซเชียลจำนวนมาก จี้ให้ดำเนินการกับกลุ่มผู้บริหารของช่องต่างๆด้วยเช่นกัน

ล่าสุดทางด้านของ นายนิพนธ์ ตั้งแสงประทีป นักข่าวชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟสบุ๊กชื่อ Teejournalist โดยมีรายละเอียดว่า เสร็จนาฆ่าโคถึก …ถึงยุคนักข่าวสังเวยชีวิตจากข่าวหลวงปู่แสง

จากบทวิเคราะห์เมื่อวานที่ผมได้อธิบายเรื่องกระบวนการขั้นตอนทำข่าวนำเสนอข่าวขององค์กรสื่อ ที่ไม่ได้มีเพียงนักข่าวเพียงคนเดียวและไม่ควรตัดตอนแค่นักข่าวที่มีความผิดเพราะมีเรื่องของ “กระบวนการพิจารณาก่อนนำเสนอข่าว”ออกสู่สาธารณะด้วย แต่สุดท้ายเราจะเห็นสื่อต่างๆเลือกลงโทษเฉพาะนักข่าวในที่เกิดเหตุ ผมจึงบอกว่า

“เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกหลวงปู่นักข่าวสังเวย”

หลายคนตั้งคำถามว่า แล้วใครบ้างอยู่ในกระบวนการทำงานข่าวก่อนนำเสนอและ กระบวนการในอดีตองค์กรข่าวทำอย่างไรกันเมื่อมีการนำเสนอข่าวผิดพลาดของสื่อ ผมขอเล่าให้ฟังดังนี้ครับ

1.ในอดีตเมื่อสื่อถูกกล่าวหาว่านำเสนอข่าวผิดพลาดหรือนำมาสู่การกล่าวหา ครหาจากสังคม หรือหรือฟ้องร้องดำเนินคดี สิ่งที่สื่อนั้นๆจะทำคือ กองบรรณาธิการไล่มาตั้งแต่ ผอ.ข่าว บก.ข่าว หัวหน้าข่าว รวมถึงนักข่าวที่นำสนอจะมาประชุมเพื่อหารือข้อมูลข้อเท็จจริง พยานหลักฐานที่ได้มา ก่อนนำเสนอข่าวดังกล่าว

2.ในความเป็นจริงก่อนจะถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องในข้อ1.การทำข่าวในอดีต กองบรรณาธิการทั้งหมดจะรู้เรื่องราวทั้งหมดอยู่ก่อนแล้ว “จะปฎิเสธเอาตัวรอดว่านักข่าวไปทำเองไม่รู้เรื่องไม่ได้” เพราะแปลความได้ว่า สำนักข่าวนี้ให้นักข่าวทำข่าวฟรีสไตล์ อยากเลือกทำอะไรก็ได้? ซึ่งผมไม่เชื่อว่า เป็นเช่นนั้น เพราะหากเป็นจริงถือว่า กระบวนการผลิตข่าวปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก


3.เช่นหากได้ Hint ประเด็นหลวงปู่มา นักข่าวจะต้องหารือหัวหน้าข่าว หัวหน้าข่าวตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นก่อนนำเข้าสู่การหารือกับกองบรรณาธิการที่มี “ผอ.ข่าว” ผู้รับผิดชอบสูงสุดนั่งหัวโต๊ะ กรณีนี้หากมีการตรวจสอบข้อมูลกรณีหลวงปู่แสงให้ดีอาจไม่มีการทำข่าวนี้เกิดขึ้น หรือหากคิดว่า มีความเป็นไปได้จากพยานหลักฐานก็จะมีกระบวนการขั้นตอนการทำงานที่รัดกุมเพราะข้อมูลเบื้องต้นกองบก.ตรวจสอบพบแล้วดังนี้

-ท่านเป็นพระปฎิบัติพรรษาบวชของท่านยาวนาน
-เป็นพระสายหลวงปู่มั่น ที่เป็นที่นับถือ
-ไม่เคยมีข้อครหามาก่อนตลอดการครองสมณะ
-ประวัติครอบครัวท่านมีหลายท่านครองสมณเพศ

รวมถึงหัวใจสำคัญคือ การกลั่นกรองตรวจสอบ”ก่อนนำเสนอสู่สาธารณะ” เมื่อได้ข่าวมา ไม่Live ไม่รีบนำเสนอเพราะมีความเสี่ยงและสวนทางกับข้อมูลเบื้องต้นที่ได้มา

4.หลังการประชุมหารือของกองบรรณาธิการในข้อ1 กรณีข่าวใดข่าวหนึ่งถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดี กล่าวหา ครหา หากกองบรรณาธิการยืนยันความถูกต้องจะต่อสู้ในกระบวนการต่อไปเช่น สู้คดี ชี้แจงต่อสาธารณะถึงพยานหลักฐานในการนำเสนอข่าว ซึ่งส่วนใหญ่จะรอดเพราะเป็นการนำเสนอบนพยานหลักฐานข้อเท็จจริงและ”เพื่อประโยชน์สาธารณะ”คำนี้จะได้ยินบ่อยในวงการสื่อ


5.แต่หากตรวจสอบแล้วพบว่าตนเองมีความผิดพลาดทำผิดจริงจะมีการติดต่อกับผู้เสียหายเพื่อเจรจา เบาสุด ถ้าเป็นสื่อส่ิงพิมพ์สมัยก่อนคือ ลงประกาศในสื่อตนเอง หรือสื่ออื่นเพื่อขออภัยขอโทษตามเงื่อนไข ของผู้ที่เสียหาย หรือสื่อทีวีก็จะทำในลักษณะใกล้เคียงกัน โดยการแสดงคำขอโทษเสียใจจะไม่ได้ทำโดยนักข่าว แต่ทำโดย ผู้บริหารข่าวหรือในนามชื่อองค์กร

6.แต่หากผู้เสียหายไม่ยินยอม คดีขึ้นสู่ชั้นการสอบสวนหรือศาล คนที่จะถูกดำเนินคดีคนแรก”ไม่ใช่นักข่าว” แต่เป็น “บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา” สำหรับหนังสือพิมพ์ และ “ ผู้อำนวยการสถานีสำหรับโทรทัศน์” หรือแล้วแต่ผู้ถูกกล่าวหาจะเลือกฟ้อง กรณีนี้เชื่อว่าหากไม่ได้ความเมตตาจากหลวงปู่เป็นผู้เสียหายอื่นจะไม่ยินยอมจบแค่เอานักข่าวมาลงโทษอย่างแน่นอน

7. ส่วนใหญ่แล้วนักข่าวที่กระทำผิดจะเป็นจำเลยในคดีลำดับท้ายๆ เมื่อเป๋นคดีความ หรือบางครั้งก็ไม่โดนดำเนินคดีก็มีเพราะหลักใหญ่จะถือว่า นักข่าวเป็นเพียงผู้ปฎิบัติเท่านั้น

8.อนึ่งผู้ประกาศเป็นอีกเรื่องสำหรับสื่อทีวี ที่ผู้ประกาศมักจะซวยเพียงลำพังเพราะเป็นผู้อ่านข่าว ที่คิดว่า กองบรรณาธิการกลั่นกรองมาแล้ว เวลาฟ้อง ผู้ประกาศจึงโดนไปด้วยหรือบางครั้งโดนก่อนโดนคนเดียว โดยกองบรรณาธิการไม่โดนก็มี ต้องยอมรับว่า ในข้อเท็จจริง ผู้ประกาศไม่มีเวลามานั่งอ่านหรือตรวจสอบเนื้อหาทั้งหมดก่อนออกอากาศได้ว่า “จริงหรือไม่”

ส่วนตัวผมชอบดูหนังจีนกำลังภายใน แต่ทุกเรื่องเมื่อแม่ทัพที่ออกรบกำลังพลาดพลั้งและจะพ่ายแพ้ ก็จะยอมสู้จนตัวตายนำหน้าเหล่าทหารที่เหลือ สู้จนชีวิตจะหาไม่ ผมไม่เคยเห็นแม่ทัพอยู่ข้างหลังแล้วโยนพลทหารให้มาตาย โดยแม่ทัพนั่งเฉยๆหรือหนีกลับที่ตั้ง

ขอให้กำลังใจนักข่าวทุกคนที่โดนลงโทษเพียงลำพัง และขอให้สิ่งเหล่านี้เป็นบทเรียนหากจะต้องยึดวิชาชีพนี้ต่อไป แต่นักข่าวอีกหลายคนอาจเลือกไปเดินทำอาชีพอื่น เพราะจากภาพและข่าวที่ออกไปอาจทำให้ลำบากในการใช้ชีวิตต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้ครับ

“ไม่เคยมียุคไหนที่…นักข่าวต้องสังเวยชีวิตจากการทำข่าวมาก่อนยกเว้นกรณีการทำข่าวสงครามจริงเท่านั้น”