สมาคมผู้ผลิตไก่ฯ ชี้ยอดส่งออกเนื้อไก่สดยิงยาวถึงกลางปีแล้ว คาดทั้งปีไทยส่งออกอียูทะลุกว่า 9.4 แสนตัน ดันราคาหน้าฟาร์มพุ่ง 3 บาท/กก. แต่ห่วงแรงงานขาดจะผลิตไม่ทัน
วันที่ 4 พ.ค. 2565 นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผยว่า ผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกไก่จากยูเครนเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป ทำได้ลำบากขึ้น ทางผู้นำเข้าอียูจึงหันมาเร่งนำเข้าไก่จากไทย ก่อนที่จะปิดโควตานำเข้าประจำปี ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับค่าบาทอ่อนค่าลงด้วย จึงส่งผลดีให้ภาพรวมการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ในปี 2565 ไปอียู คาดว่ามีปริมาณ 9.4 แสนตัน หรืออาจจะเพิ่มขึ้นอีก
“ด้านราคาปรับขึ้นราคาไก่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากปัจจัยต้นทุนอาหารสัตว์ ด้านพลังงานน้ำมัน การเลี้ยงส่งผลให้ราคาขายปรับตัวขึ้น ไม่ต่างจากสินค้าอื่น ๆ ขณะที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศก็สูงเช่นกัน แต่ดีที่ขณะนี้การส่งออกมีมากขึ้น หลังยูเครนส่งเข้ายุโรปลำบาก ซึ่งเมื่อเราเเจ้งปรับราคากับลูกค้าส่งออก ปรากฏว่าลูกค้าเข้าใจสถานการณ์ และรับราคาได้ ทำให้ช่วง 2-3 เดือนนี้ (เม.ย.-มิ.ย.) ส่งออกไปยุโรปเยอะกว่าปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว
คาดว่าตลาด EU จะมีปริมาณส่งออก 3.2 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มี 2.7 แสนตัน คิดเป็นสัดส่วน 30% ของการส่งออก ส่วนตลาดญี่ปุ่นสัดส่วนสูงสุด 48% แต่ช่วงต้นปีญี่ปุ่นสต๊อกสินค้าไก่จากบราซิลจำนวนมาก ทำให้การส่งออกไทยไปยังตลาดนี้ทรงตัว”
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยด้านแรงงานไม่เพียงพอส่งผลกระทบต่อการผลิต ซึ่งสมาคมรอให้ผ่อนคลายมาตรการอย่างเต็มรูปแบบ และแม้ว่าต้นทุนการเลี้ยงสูง จากสถานการณ์อาหารสัตว์ขาดแคลน แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงก็ยังเพิ่มการเลี้ยงมากขึ้น เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
รายงานข่าวระบุว่า การส่งออกไก่สดแช่แข็งและแปรรูปในไตรมาส 1/2565 มีปริมาณ 2.44 แสนตัน เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่า 931.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.7%
ก่อนหน้านี้ นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการปรับขึ้นราคาหน้าฟาร์มไก่ กก.ละ 3 บาท จาก 39 เป็น 42 บาท เพื่อให้เกษตรกรไม่ขาดทุนจากต้นทุนราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาไก่สดทั้งตัวอยู่ที่ กก.ละ 75 บาท ราคาอกไก่ กก.ละ 85 บาท และราคาน่องไก่ กก.ละ 65 บาท
สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไร้จุดจบ ขณะที่สหรัฐฯและชาติพันธมิตรในยุโรปเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรเพื่อปิดล้อมทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ขณะรัสเซียก็ตอบโต้กลับแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ล่าสุด (8 เม.ย.) รัฐสภายุโรปลงมติคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน เชื้อเพลิงนิวคลียร์จากรัสเซียทันที (แต่มติดังกล่าวไม่ได้มีผลผูกพันทางกฎหมาย ขณะที่หลายประเทศเกรงหากคว่ำบาตรรัสเซียจะก่อให้เกิดวิกฤติพลังงาน) ขณะที่รัสเซียประกาศให้ชาติที่ไม่เป็นมิตรหากยังต้องนำเข้าก๊าซจากรัสเซียต้องชำระด้วยเงินรูเบิล
อย่างไรก็ดีจากที่ยูเครนเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” หรือแหล่งนำเข้าสินค้าอาหารสำคัญของยุโรป จากสงครามครั้งนี้ส่งผลให้เกษตรกรยูเครนจำนวนมากต้องละทิ้งไร่นาของตนเพื่อหนีเอาชีวิตรอดจากภัยสงคราม ขณะที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(เอฟเอโอ) ประเมินว่า สถานการณ์การสู้รบจะทำให้ยูเครนสูญเสียผลผลิตจากพื้นที่เพาะปลูกราว 20-30% ทั่วประเทศ ส่งผลให้ยุโรปที่เคยนำเข้าสินค้าอาหารและสินค้าอื่น ๆ จากยูเครนต้องเร่งหาแหล่งนำเข้าอื่นทดแทน
ขณะที่สินค้าไทยที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนในภาพรวมการส่งออกไปทั่วโลก ในสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน สินค้าถุงมือยางจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด ในสินค้าอาหารที่คาดว่าจะเติบโต และได้รับอานิสงส์ ได้แก่ ไก่สด อาหารทะเลและผักผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารสำเร็จรูป มันสำปะหลัง อาหารสัตว์เลี้ยง ผักผลไม้ ซอสปรุงรส ธัญพืช และน้ำตาล เป็นต้นผลิต