Truthforyou

เซอร์ไพรซ์!! เรือพลังงานไฮโดรเจนลำแรกของโลกจากฝรั่งเศส อวดโฉมพลังงานยุคหน้า แวะเทียบท่าไทย1 เดือน

“Energy Observer” เรือพลังงานไฮโดรเจนลำแรกของโลกจากฝรั่งเศส แวะเทียบท่าพัทยา ประเทศไทยเป็นเวลา 1 เดือน หลังจากเดินทางรอบโลกมากว่า 48,000 ไมล์ทะเล โดยไม่ใช้น้ำมันซักหยด

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2565 นายตีแยรี มาตู เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และคณะ ให้การต้อนรับเรือ Energy Observer เรือพลังงานไฮโดรเจนลำแรกของโลกจากฝรั่งเศส ณ โอเชี่ยน มาริน่า ยอชท์ คลับ พัทยา ในโอกาสแวะเทียบท่าในไทยที่พัทยา หัวหิน และ เกาะสมุย ระหว่างวันที่ 25 เม.ย.-26 พ.ค. 2565

เรือลำนี้มีภารกิจเดินทางรอบโลกภายใน 7 ปี ภายใต้การสนับสนุนของนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยจะแวะเทียบท่าตามประเทศต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูลจัดทำสื่อสร้างความตระหนักรู้ เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เรือลำนี้ออกเดินทางจากฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2560 และแวะเทียบท่ามาแล้ว 71 ครั้งใน 40 ประเทศ ก่อนจะมาถึงไทย

Energy Observer คือ เรือยอชท์เดินสมุทร ที่ติดตั้งระบบผลิตพลังงานจากธรรมชาติทั่วทั้งลำเรือ ไม่ว่าจะเป็นแผงโซล่าร์เซลล์ ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ ที่มีขนาดรวมกว่า 130 ตารางเมตร และกังหันสำหรับเก็บพลังงานจากลม นอกจากการสร้างพลังงาน ขับเคลื่อนด้วยแสงอาทิตย์ และ กระแสลม 

พลังงานทั้งหมดจะถูกเปลี่ยนสภาพเป็น “ไฮโดรเจน” เพื่อใช้สำหรับขับเคลื่อนเรือในช่วงเวลาที่ลมสงบ หรือไร้ซึ่งแสงอาทิตย์ยามค่ำคืนได้อีกด้วย อีกหนึ่งข้อดีของไฮโดรเจน คือมีน้ำหนักเบา และมีประสิทธิภาพดีกว่าเชื้อเพลิงทั่วไปถึง 3 เท่า อีกทั้งยังช่วยให้เรือมีน้ำหนักเบากว่าเดิมถึงหลายเท่าตัว เนื่องจากเรือไม่ต้องบรรทุกแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ หรือถังน้ำมันจำนวนมากอีกต่อไป 

ทั้งนี้พลังงานไฮโดรเจนที่ผลิตได้ทั้งหมด จะกระจายตัวออกไปในโครงสร้างตำแหน่งต่างๆ ของเรือ เพื่อจัดเก็บพลังงานไว้ โดยไม่มีห้องหรือที่กักเก็บเฉพาะ สำหรับเรือยอชท์ Energy Observer มีแผนออกเดินทางไปทั่วโลก ภายในระยะเวลา 6 ปี เพื่อไปเยือนประเทศต่างๆ 50 ประเทศทั่วโลก โดยเริ่มเดินทางอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม ปี 2017 จนถึงปี 2022 นับเป็นครั้งแรกของโลก ที่เรือออกเดินทางโดยไม่ต้องพึ่งน้ำมันเลยแม้แต่หยดเดียว

ความเป็นมาจากอดีตที่เป็นเรือแข่ง สู่ ห้องทดลองลอยน้ำนั้น สำหรับ Energy Observer เป็นเรือรูปทรง “คาตามารัน” (Catamaran) ซึ่งเป็นเรือยอช์ทเดินสมุทรที่มีลักษณะลำเรือสองลำ ความพิเศษของเรือที่เป็นรูปแบบนี้ คือจะทำให้เรือมีความเสถียรมากขึ้นเมื่อเผชิญกับกระแสคลื่นลมแปรปรวน ซึ่งจะช่วยให้เรือไม่โคลงเคลงไปตามกระแสคลื่นเหมือนกับเรือท้องลำเรือเดียว (Monohull) ขณะเดียวกันยังมีพื้นที่ใช้สอยที่มากกว่าเรือแบบทั่วไป

โดยเรือ Energy Observer แต่เดิมเรือถูกต่อขึ้นในประเทศแคนาดาเมื่อปี 1983 เพื่อใช้ในการแข่งขัน จนสามารถคว้าชัยชนะในการแข่งขันแล่นเรือในหลายแมตช์ มีชื่อเดิมว่าเรือ Formule Tag โดยหนึ่งในรางวัลที่สำคัญของเรือลำนี้คือ รางวัล Jules Verne Trophy ซึ่งเป็นการแข่งขันแล่นเรือรอบโลกที่เรือลำนี้สามารถทำสถิติแล่นรอบโลกในเวลา 74 วัน 22 ชั่วโมง 17 นาที 22 วินาที

หลังการคว้าชัยชนะผ่านการแข่งขันแล่นเรือในหลายแมตช์ ในปี 2017 เรือลำนี้ถูกฟื้นคืนชีพอีกครั้งในฐานะต้นแบบการใช้พลังงานสะอาดจาก 3 ส่วนคือ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานไฮโดรเจนจากน้ำทะเล เสมือนเป็นห้องทดลองลอยน้ำที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อผลักดันเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกสำหรับเรือเดินสมุทรเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนต่อสิ่งแวดล้อม

ด้วยความกว้างตัวเรือ 12.8 เมตร ยาว 30.5 เมตร ประกอบความพิเศษคือเป็นเรือที่รวมเอาเทคโนโลยีด้านพลังงานจากหลายแหล่งมารวมเข้าไว้ด้วยกัน โดยแหล่งพลังงานจากทั้งพลังงานลม แสงอาทิตย์ และไฮโดรเจน จะทำงานเสริมกันในแต่ละช่วงสภาพอากาศที่เรือเผชิญเพื่อให้การเดินทางของเรือ แล่นต่อไปได้อย่างต่อเนื่องโดยไร้ข้อจำกัด

อะนัยส์ โตโรเอ็นเจล(Anaïs Toro-Engel) ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของโครงการนี้ เผยว่า เรือลำนี้เป็นเรือต้นแบบที่เสมือนห้องทดลองลอยน้ำสำหรับการต่อยอดการใช้พลังงาน “ไฮโดรเจน” ซึ่งเธอกล่าวว่า ไฮโดรเจนถือเป็นพลังงานหมุนเวียหลักที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการต่อยอดเทคโนโลยีการเดินเรือในอนาคตเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างยั่งยืน ทั้งยังไร้ข้อจำกัดในการเติมเชื้อเพลิง ซึ่งนับตั้งแต่เรือออกเดินทางในปี 2017 ข้อจำกัดเดียวของเรือลำนี้คือ อาหารและของใช้จำเป็นสำหรับลูกเรือเท่านั้น

An “Oceanwing” to increase speed and reduce energy use on the Energy Observer, a boat powered by hydrogen and other renewable energy sources, is pictured as it is moored in Pattaya on April 26, 2022, during a round the world voyage. (Photo by Jack TAYLOR / AFP)
Exit mobile version