ทั้งสหประชาชาติในนามอังค์ถัดและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร ต่างประเมินแนวโน้มสินค้าส่งออกอาหาร-เกษตร-แปรรูปเกษตร ของไทยเติบโตและฟื้นตัวในไตรมาส 4 ปี 2563 มีสัดส่วนถึง 74.5% เฉพาะอาหารมูลค่า 1 ล้านล้านบาท หมายถึงผู้ประกอบการไทยมีโอกาสขยายการส่งออกสินค้าข้างต้นได้ ทั้งนี้ยังคงต้องจับตาปัจจัยภายนอกและภายใน ทั้งการระบาดโควิด-19 สถานการณ์การค้าโลก สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน การกีดกันทางการค้า การแข่งขันทางด้านราคาที่จะมีมากขึ้น เมื่อระดับการผลิตของแต่ละประเทศกลับมาเหมือนเดิม รวมทั้งเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน และปัจจัยการเมืองภายในประเทศที่เกิดขึ้นว่าจะจบเร็วหรือยืดเยื้ออีกด้วย
รายงานการค้าและการพัฒนาของอังค์ถัด2020
Trade and Development Report 2020: From Global to Prosperity for All: Avoiding Another lost Decade เปิดเผยว่า
-แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity)ปี 2563 ราคาจะลดลง 21% ขณะที่ราคาสินค้ากลุ่มอาหารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 4.9% แบ่งเป็นกลุ่มพืชอาหารเขตร้อน (Tropical beverages) เพิ่มขึ้น 7.1% กลุ่มอาหารเพิ่มขึ้น 4.4% กลุ่มธัญพืชให้น้ำมัน เพิ่มขึ้น 4.8% กลุ่มโลหะมีค่า (Precious metals) เพิ่มขึ้น 24.1%
-โลกค้าขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ 597,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ป้องกัน อุปกรณ์ห้องทดลอง ยา และเทคโนโลยียา โดยพบว่าการค้าสินค้าประเภทนี้ในปี 2562 มีการส่งออก 597,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.7% ของการค้าโลก โดยประเทศที่ผลิต 10 อันกับคิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของการส่งออกของโลก ขณะที่ประเทศผู้ซื้อ 10 อันดับแรกคิดเป็น 2 ใน 3 ของการนำเข้า
“ความร่วมมือขององค์กรระหว่างประเทศ รวมไปถึงข้อตกลงการค้าต่างๆ พยายามช่วยการเก็บภาษีการค้าจากสินค้าเหล่านี้และพยายามให้แต่ละประเทศสามารถเข้าถึงได้ โดยภาษีการค้าของสินค้าเหล่านี้อยู่ที่เฉลี่ย 4.8% ต่ำกว่าภาษีเฉลี่ยของสินค้าเกษตร โดยประเทศถึง 70 ประเทศจาก 164 สมาชิกขององค์การการค้าโลกได้เก็บภาษีของสินค้าเหล่านี้ 5% หรือต่ำกว่า โดยมี 4 ประเทศที่ไม่ได้เก็บเลยคือมาเก๊าและฮ่องกงของจีน ไอซ์แลนด์ และสิงค์โปร์ แต่อีกหลายประเทศยังเก็บภาษีในระดับสูงถึง 55%”
สถาบันเอกชนฟันธงส่งออกครึ่งปีหลังบวก
สถาบันอาหาร, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารไทยลดลงร้อยละ 8.6 ด้านการส่งออกมีมูลค่า 505,584 ล้านบาท หดตัวลงเล็กน้อยร้อยละ 2.0 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 พบกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปขยายตัวเพิ่มขึ้น (+0.1%) กลุ่มสินค้าเกษตรวัตถุดิบหดตัวลง (-3.7%)
คาดการณ์การส่งออกอาหารไทยครึ่งปีหลังจะพลิกเป็นบวก มูลค่าราว 519,416 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ทั้งนี้ประเมินว่าหากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว เงินบาทไม่แข็งค่าและผันผวนมากนัก และการขาดแคลนวัตถุดิบมีแนวโน้มลดลงจากภัยแล้งที่เริ่มคลี่คลาย ภาพรวมการส่งออกอาหารจะมีมูลค่า 1,025,000 ล้านบาท ขยายเพิ่มจากปีก่อน 0.8%
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผอ.สถาบันอาหารกล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (Food Intelligence Center) โดยมีสภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้า ร่วมบูรณาการข้อมูล
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ชี้ปัญหาภัยธรรมชาติ ภาวะตลาดโลกและนโยบายรัฐ ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรเดือนตุลาคม 2563มีแนวโน้มราคาสูงขี้น เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ยางพาราแผ่นดิบ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ด้านข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบ สุกรและกุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนตุลาคม 2563 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่
-ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่9,479 – 9,628 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.05 – 1.63 เนื่องจากปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงในประเทศออสเตรเลีย ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลงร้อยละ 90 จึงมีสต็อกข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภค ทำให้ประเทศออสเตรเลียอาจนำเข้าข้าวจากประเทศไทยในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน
-ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 48.00 – 48.25 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.23 – 0.75 เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราภายในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากมาตรการภาครัฐ ประกอบกับคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดลดลงจากภาวะฝนตกชุกซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยางพารา
-มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 1.77 – 1.82 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.57 – 3.41 เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาลผลิตปี 2563/64 ผลผลิตยังออกสู่ตลาดไม่มาก ประกอบกับความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง และ
-ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 4.07 – 4.15 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.25 – 2.22 เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความต้องการใช้พลังงานไบโอดีเซลภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น จึงผลักดันให้ราคาปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics) ประเมินทิศทางการส่งออกสินค้าในครึ่งปีหลัง 2563 จะฟื้นตัวจากกลุ่มสินค้าอาหาร อาหารสัตว์ ผักผลไม้ ยารักษาโรคและเครื่องมือแพทย์ เครื่องดื่ม พลังงาน เคมีภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน สินค้าอุปโภค เครื่องจักรกล สินค้าเกษตร ซึ่งมีสัดส่วน 3 ใน 4 ของมูลค่าส่งออกรวม แนะผู้ประกอบการเร่งปรับปรุงมาตรฐานสินค้าไปพร้อมกับเสริมศักยภาพการผลิต หาตลาดใหม่เป็นทางเลือก และแนะภาครัฐใช้โอกาสนี้ช่วยเจรจาเปิดตลาดสินค้า อำนวยความสะดวกทางการค้าและเสาะหาตลาด ช่องทางในการกระจายสินค้าของผู้ประกอบการไทย ช่วยให้การส่งออกฟื้นตัวกลับมาได้อย่างแข็งแกร่ง
ทั้งนี้ TMB Analytics ทำการวิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 โดยประเมินจากปัจจัยลักษณะสินค้าและทิศทางการฟื้นตัวของอุปสงค์ ซึ่งได้แก่ ความจำเป็นของลักษณะสินค้าบริโภค นโยบายปลดล็อกประเทศในโครงสร้างตลาดส่งออก ภาวะตลาดส่งออกก่อนเกิดการระบาด ซึ่งจากการประเมินแบ่งการฟื้นตัวของการส่งอออกได้ 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มหนึ่ง : สินค้าที่คาดว่าจะเติบโตในช่วงโควิด-19 ได้แก่ อาหาร อาหารสัตว์ ผักผลไม้ ยารักษาโรคและเครื่องมือแพทย์ สินค้ากลุ่มนี้ล้วนเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อผู้บริโภค ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกี่ยวข้องกับภาคเกษตร เช่น ข้าว อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป รวมทั้งอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งประเทศไทยมีความสามารถในการผลิตเพื่อรองรับความต้องการในตลาดได้อีกมาก รวมทั้งมีปัจจัยหนุนจากกำลังซื้อในตลาดจีนที่ฟื้นตัวแล้ว แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากปัญหาวัตถุดิบที่ถูกกระทบจากภัยแล้งและการแข่งขันสูงในตลาดโลก โดยสินค้ากลุ่มนี้ในครึ่งปีแรก ส่งออกเพิ่มขึ้น 7.5% yoy มีมูลค่าส่งออกรวม 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 12.7% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมด
กลุ่มสอง : สินค้าที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ได้แก่ เครื่องดื่ม พลังงาน เคมีภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน สินค้าอุปโภค เครื่องจักรกล สินค้าเกษตร สินค้าในกลุ่มนี้จะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังคลายล็อกดาวน์และการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ระดับราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังลดลงมากในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ช่วยพยุงในเรื่องของราคาสินค้า โดยสินค้ากลุ่มนี้ในครึ่งปีแรก ส่งออกลดลง -9.2% yoy มีมูลค่าส่งออกรวม 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 61.8% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมด
กลุ่มสาม : สินค้าที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปี 2564 ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องแต่งกายและเครื่องประด้บ สินค้ากลุ่มนี้จะฟื้นตัวช้า เนื่องจากกำลังซื้อที่หดหายจากทั่วโลกกระทบต่อสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อรายได้ เป็นสินค้าที่มีต้นทุนสูงกว่าคู่แข่งต่างประเทศทำให้เสียเปรียบและเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มถูกผลกระทบจากการกีดกันการค้าทางตรงและทางอ้อมหรือไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้า โดยสินค้ากลุ่มนี้ในครึ่งปีแรก ส่งออกลดลง -24.2% yoy มีมูลค่าส่งออกรวม 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 25.5% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมด
ยุทธศาสตร์ 20 ปีของกระทรวงเกษตรฯ(โดยย่อ)
นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภาระกิจเร่งด่วนที่ทางกระทรวงต้องเร่งทำ เพื่อพัฒนาการผลิตทางการเกษตรของไทยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง
ด้านการผลิต-ตัวเกษตรกรผู้ผลิต กำลังแรงงานภาคเกษตรมีทักษะสูงแต่สูงวัย ต้องเสริมด้วยเทคโนโลยี -พื้นที่การเกษตรจะต้องเชื่อมโยงกับโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ปรับโครงสร้างโดยอาศัยแผนที่การเกษตร (Agri-Map) -เสริมบิ๊กดาต้าให้เกษตรกรเท่าทันสถานการณ์ ทั้งพื้นที่ ปัจจัยการผลิต น้ำและการตลาด
ด้านการตลาด จะใช้การตลาดนำการเกษตร โดยชูสินค้าเกตรที่มีอัตลักษณ์, หาตลาดใหม่ มีอัคราชทูตที่ปรึกษา(ฝ่ายเกษตร)ศึกษาตลาดและแนะนำการผลิต, การรักษาตลาดเดิม ด้วยการเพิ่มคุณภาพสินค้าและบริการ
ด้านน้ำนั้นในช่วง 2 ปีจะผลักดันการผันน้ำยวมเข้าสู่เขื่อนภูมิพล ใช้งบฯลงทุน 7 หมื่นล้านบาทสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ ขยายพื้นที่ชลประธานปีละ6-7 แสนไร่