จับตา!มูลค่าการค้ารถไฟจีน-เวียดนาม โตกว่า 300% ไตรมาส 1 ท้าทายไทยเปลี่ยนคู่แข่งเป็นพันธมิตรการค้า

1196

เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวอยู่ที่ 5.03% ในไตรมาสแรก เป็นอัตราการขยายตัวของมูลค่าที่แท้จริงของปี 2022 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าและหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้จีดีพีขยายตัวฉลุย ก็คือมูลค่าการค้าผ่านทางรถไฟจีน-เวียดนามเติบโตกว่า 3 เท่าตัวหรือ 300% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2022 ซึ่งจีนกล่าวว่านี่จะเป็นเส้นทางที่มั่นคงสำหรับ Supply Chain ในอาเซียนทั้งหมด เป็นเรื่องที่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆในอาเซียนรวมทั้งไทยจับตาอย่างใกล้ชิด 

วันที่ 24 เม.ย.2565 สำนักข่าวโกลบัลไทมส์รายงานว่า โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน จ้าว ลีเจี้ยน(Zhao Lijian)แถลงว่า การค้าระหว่างจีน-เวียดนามปีที่ผ่านมา มีมูลค่าเกิน 230,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  โดยจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนามมาหลายปีติดต่อกัน และเวียดนามยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนในกลุ่มอาเซียน 

ความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพมหาศาลและมีแนวโน้มในวงกว้าง รถไฟบรรทุกสินค้าข้ามพรมแดนซึ่งเพิ่งเริ่มดำเนินการได้ก่อให้เกิดแรงผลักดันใหม่ๆ ในความร่วมมือนี้ จีนพร้อมจะทำงานร่วมกับเวียดนามเพื่อแสวงหาการผนึกกำลังกันที่มากขึ้นระหว่าง BRI กับแผน Two Corridors และ One Circle และใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของการเชื่อมต่อการขนส่งทางรถไฟข้ามพรมแดนอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินงานของอุตสาหกรรมและซัพพลายเชนเป็นไปอย่างราบรื่น เร่งความพยายาม เพื่อยกระดับความร่วมมือเชิงปฏิบัติการระดับทวิภาคี และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก

ก่อนหน้านี้ทางด้านทางการเวียดนามเปิดเผยเรื่องนี้เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า รถไฟขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างเวียดนามกับท้องถิ่นของจีน เช่น เสฉวนและอานฮุย ได้เริ่มดำเนินการแล้ว การเชื่อมโยงการขนส่งทางรางสอดคล้องกับความพยายามของทั้งสองฝ่ายในการผลักดันความร่วมมือในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) และแผนสองเส้นทางและหนึ่งวงกลมของ เวียดนาม ทั้งนี้ทั้งสองประเทศ พร้อมที่จะทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมการพัฒนาการค้าทวิภาคีที่มั่นคง สมดุล และยั่งยืน .

ท่าเรือรถไฟผิงเซียงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงของจีนตอนใต้มีการขนส่งสินค้าทั้งหมดถึง 202,000 ตันในภายไตรมาสแรก เพิ่มขึ้น 95.8% จากไตรมาส 1 ปี 2021 โดยมีมูลค่ารวม 6.32 พันล้านหยวน (972 ล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้นถึง 240.7% เมื่อเทียบปีต่อปี

ในหมู่สินค้าที่ขนส่ง ผลไม้นำเข้ามีการเติบโตอย่างรวดเร็วและโดดเด่น นอกจากนี้ข้อมูลการค้าระหว่างจีนกับประเทศอาเซียนทั้งหมดมีมูลค่ารวม 1.35 ล้านล้านหยวนในไตรมาสแรกของปี 2022 เติบโต 8.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากประเทศอาเซียนกลับมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน หลังจากที่แซงหน้าสหภาพยุโรปในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้

ด้านประเทศไทยก็ได้เร่งเชื่อมความสัมพันธ์กับเวียดนามในด้านการค้ามากขึ้น ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าฯ เปิดเผยว่า เป็นเจ้าภาพเปิดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 4 ร่วมกับนายเหวียน ห่ง เซียน (H.E. Mr. Nguyen Hong Dien) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของประเทศเวียดนาม 

มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเวียดนาม เมื่อปีที่แล้วมีมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้มีการตั้งเป้าปี 2025 จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ฝ่ายไทยได้เสนอขอความสนับสนุนจากทางเวียดนาม หลายประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง ขอให้ทางการเวียดนามช่วยเจรจากับรัฐบาลจีนในฐานะประเทศที่มีชายแดนติดกัน เพื่ออำนวยความสะดวกการส่งผลไม้ไทยผ่านด่านเวียดนามไปจีน อาทิ 

1.ด่านโหย่วอี้กวานของจีน ที่อยู่ตรงข้ามกับด่านหวูหงิของเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันเปิดทำการตั้งแต่ 8.00-19.00 น. ขอให้เวียดนามช่วยเจรจากับจีนให้เปิดเป็น 24 ชั่วโมง 

2.ด่านรถไฟผิงเสียงกับด่านรถไฟด่งดังของเวียดนาม เปิดทำการ 8.30-18.00 น. ขอให้ขยายเป็น 24 ชั่วโมง 

3.ด่านตงซิงของจีนกับด่านหม่องก๋ายของเวียดนามซึ่งขณะนี้ปิดทำการ จึงขอให้ทางเวียดนามช่วยเจรจาอีกครั้งให้เปิดด่านต่อไป

นอกจากนี้ ไทยได้ขอให้เวียดนามและจีนช่วยเพิ่มช่องทางกรีนเลน (Green Lane) อำนวยความสะดวกส่งสินค้าไทยที่ผ่านกระบวนการปลอดโควิดตามมาตรฐานเข้าจีนให้เร็วขึ้น และขอให้ช่วยเจรจาทั้ง 2 ฝ่ายเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกมากขึ้น ซึ่งท่านรัฐมนตรีเวียดนามแจ้งว่า เวียดนามยินดีที่จะส่งเสริมกรีนเลนให้กับฝ่ายไทย แต่การเจรจากับจีนต้องหารือกันต่อไปเพราะเป็นนโยบายซีโร่โควิดของจีน ซึ่งทางไทยได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับด่านของจีนแล้ว ขอโอกาสในการหารือเพราะผลไม้ไทยกำลังเริ่มออกในเดือนพฤษภาคมนี้

ประเด็นที่สอง ขอให้ทางการเวียดนามยกเลิกการระงับการนำเข้าสินค้า 3 ตัวจากไทย คือ 1.เนื้อไก่ 2.เงาะ และ 3.มะม่วง ซึ่งท่านรัฐมนตรีเวียดนามรับไปพิจารณาต่อไป

ประเด็นที่สาม เรื่องการส่งออกยาของไทยไปเวียดนาม ซึ่งได้มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมนอกเหนือจากข้อตกลงอาเซียน ซึ่งขอให้ทางเวียดนามช่วยปรับปรุงใหเป็นไปตามข้อตกลงอาเซียน ยกเลิกเอกสาร มาตรการที่เกินข้อตกลง ท่านรัฐมนตรีจะเข้าไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป

ประเด็นที่สี่ ขอให้ทางเวียดนามช่วยประชาสัมพันธ์การจัดงานแสดงสินค้าไทยในเวียดนาม โดยเฉพาะงาน Mini Thailand Week ที่จะจัดขึ้นกลางปีนี้ ที่นครเกิ่นเทอและเมืองกว่างนิงห์ ท่านรัฐมนตรีรับปากจะอำนวยความสะดวกและจะส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมงานด้วย

ประเด็นที่ห้า ขอให้เวียดนามสนับสนุนให้ไทยใช้แพลตฟอร์มของเวียดนามเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าสู่มือผู้บริโภคต่อไป ไม่ว่าจะเป็น Shopee Lazada เวียดนาม TIKKI และ Sendo ซึ่งท่านรัฐมนตรีเวียดนามสนับสนุนและไทยจะสนับสนุนให้สินค้าเวียดนามเข้ามาขายในแพลตฟอร์มไทยด้วยเช่นเดียวกัน

ประเด็นที่หก ขอให้เวียดนามสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานสะอาดของนักลงทุนไทยในเวียดนาม เร่งเปิดการประชุมร่วมในการส่งเสริมพลังงานสะอาดเพื่อเพิ่มการลงทุนระหว่างกันโดยเร็วที่สุด เบื้องต้นควรดำเนินการได้ในไตรมาสที่ 2 หรือ 3 เป็นอย่างช้าในปีนี้

ประเด็นที่เจ็ด ประเด็นแรงงานเวียดนาม ขอให้เวียดนามสนับสนุนแรงงานเพิ่มเติมจากปัจจุบัน ประมงกับก่อสร้าง ขอให้เพิ่มอีก 2 สาขาคือ แม่บ้านและผู้ใช้แรงงาน

ประเด็นที่แปด ขอให้เวียดนามเร่งขึ้นทะเบียนจีไอ สำหรับลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนของไทย ที่ได้ไปขอขึ้นทะเบียนไว้

สำหรับประเด็นที่ท่านรัฐมนตรีเวียดนามได้นำมาหารือ ดังนี้ ประเด็นแรก เรื่องการขาดดุลการค้าที่เวียดนามขาดดุลการค้ากับไทยมาก ซึ่งตนพร้อมที่จะช่วยสนับสนุนงานต่างๆที่เวียดนามจะมาจัดในไทย อย่างไรก็ตาม ปีที่แล้วการนำเข้าสินค้าเวียดนามมาไทยเป็นบวกถึง 27%

ประเด็นที่สอง เวียดนามขอให้ไทยเร่งออกใบอนุญาตนำเข้าผลไม้ 5 ชนิด คือ ส้มโอ น้อยหน่า เสาวรส ลูกน้ำนม และเงาะ ซึ่งไทยได้เสนอให้เวียดนามใช้ช่องทาง MoU ที่ทำกับกระทรวงเกษตรฯของไทยเป็นเวทีหารือต่อไป

ประเด็นที่สาม ขอให้ท่าเรือของเราลดขั้นตอนการตรวจสินค้า รวมทั้งช่วยตรวจเอกสารให้เร็วขึ้น กระทรวงการคลังและคมนาคม รับเรื่องนี้ไปปรับปรุงอำนวยความสะดวก

ประเด็นที่สี่ ขอให้ทางไทยร่วมสนับสนุนจัดงานแสดงสินค้าของเวียดนามในประเทศไทยในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งได้เรียนว่ากระทรวงพาณิชย์ไทยยินดีสนับสนุน

จับตาบทบาทของโครงการยุทธศาสตร์หนึ่งแถบและเส้นทางหรือ BRI ของจีนในอาเซียนซึ่งคืบหน้าไปอย่างมีนัยสำคัญ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของจีน แม้ต้องเผชิญอุปสรรคการสร้างรถไฟในไทย แต่เส้นทาง รถไฟจีน-ลาว เชื่อมต่อไปยังเวียดนามประสบความสำเร็จ สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจการค้าให้กับลาว เวียดนามและจีนอย่างชัดเจน ขณะที่ประเทศไทยได้ปรับบทบาทความสัมพันธ์กับเวียดนาม ให้เป็นพันธมิตรทางการค้ามากกว่าเป็นคู่แข่งอย่างเดียว