ซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ความรู้สึกประชาชน กับ ม็อบ 14 ตุลาคม ร้อยละ 98.9 รู้สึกแย่ รับไม่ได้ กับ ม็อบประชาธิปไตย หยาบคาย คุกคาม จาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบัน
จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (14 ตุลาคม 2563) ได้มีการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งได้มีการเคลื่อนกำลังไปบุกยึดทำเนียบรัฐบาล ท่ามกลางขบวนเสด็จของสมเด็จพระราชินี และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ได้ผ่านทางด้านแยกนางเลิ้ง ถนนพิษณุโลกนั้น
ต่อมาทางด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. แถลงว่า หลังนายกฯ มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกทม. นายกฯได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.เป็นผู้แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเจ้าพนักงาน เพื่อดำเนินการตามประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉิน
เมื่อวานนี้ (15 ต.ค.63) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ความรู้สึกประชาชน กับ ม็อบ 14 ตุลาคม กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ
โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,831 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง 14 – 15 ตุลาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.8 รู้สึกแย่ รับไม่ได้ กับ ม็อบประชาธิปไตย พาคนลงถนน 14 ตุลาคม ในขณะที่เพียงร้อยละ 11.2 ไม่รู้สึกแย่เลย
เมื่อถามถึงความรู้สึกประชาชนกับม็อบประชาธิปไตยละเมิดกฎหมาย พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.4 รู้สึกแย่ รับไม่ได้ ในขณะที่เพียงร้อยละ 4.6 ไม่รู้สึกแย่เลย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.9 รู้สึกแย่ รับไม่ได้ กับ ม็อบประชาธิปไตย หยาบคาย คุกคาม จาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบัน เสาหลักของชาติ
ในขณะที่เพียงร้อยละ 1.1 ที่ไม่รู้สึกแย่เลย ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.1 รู้สึกแย่ รับไม่ได้ กับ ม็อบประชาธิปไตย ซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตโควิด เพิ่มทุกข์ยากและความเดือดร้อนของประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 4.9 ไม่รู้สึกแย่เลย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.5 รู้สึกแย่ รับไม่ได้ กับ ม็อบประชาธิปไตย ใช้โซเชียลบริษัทข้ามชาติ บิดเบือนข้อมูล สาดสี สร้างแตกแยกคนในชาติ ทำลายความสงบสุขคนไทย ในขณะที่ร้อยละ 6.5 ไม่รู้สึกแย่เลย
เมื่อถามถึง ความเห็นของประชาชนต่อความจำเป็นของเจ้าหน้าที่ บังคับใช้กฎหมาย จัดการคนทำผิดกฎหมาย ทุกคดีเคร่งครัด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.5 เห็นถึงความจำเป็นของเจ้าหน้าที่ บังคับใช้กฎหมาย จัดการคนทำผิดกฎหมาย ทุกคดีเคร่งครัด ทำให้บ้านเมืองสงบสุขคืนมาโดยเร็ว ในขณะที่ร้อยละ 3.5 ไม่เห็นถึงความจำเป็นเลย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.2 รู้สึกกังวล ม็อบ 14 ตุลาคม ซ้ำเติม วิกฤตโควิด แหล่งแพร่ระบาดโควิด ซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของประชาชน ในขณะที่เพียงร้อยละ 2.8 ไม่กังวลเลย ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.4 ระบุ ม็อบประชาธิปไตย ไม่ใช่ทางออก แต่ แก้วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตโควิด ร่วมมือกันแก้ปัญหา คือ ทางออก ในขณะที่ร้อยละ 3.6 ระบุ ม็อบประชาธิปไตย คือ ทางออก ตามลำดับ
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้รับรู้ได้ถึงความรู้สึกสะเทือนใจของประชาชนต่อภาพปรากฏของม็อบประชาธิปไตยที่ฝืนความรู้สึกและกระทบจิตใจของคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศในหลายตัวชี้วัดคือ ม็อบประชาธิปไตยคุกคาม หยาบคาย ม็อบประชาธิปไตยละเมิดกฎหมาย ม็อบประชาธิปไตยจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบัน เสาหลักของชาติ ม็อบประชาธิปไตยซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตโควิดที่ยังอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาด ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ม็อบประชาธิปไตยยังเปิดรับเครื่องมือของบริษัทโซเชียลมีเดียข้ามชาติมาปลุกปั่นกระแสแตกแยกของคนในชาติ ม็อบประชาธิปไตยกำลังปั่นกระแสในโลกโซเชียลหลอกตัวเองและคิดว่านั่นคือความจริงเพราะยอดปั่นมาจากต่างประเทศผสมโรงสร้างความแตกแยกของคนในชาติที่ต่างชาติต้องการให้ประเทศไทยกลายเป็นซากปรักหักพังและสูญเสีย เพื่อเข้ามาสร้างความชอบธรรมจัดระเบียบใหม่กอบโกยผลประโยชน์ชาติไทยไปอยู่ในมือของต่างชาติ และจะเห็นว่า ม็อบประชาธิปไตยไม่ใช่ทางออกที่ดี แต่การหันหน้ามาช่วยกันแก้วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตโควิด ลดความเดือดร้อนความทุกข์ยากของประชาชนเป็นทางออกที่ดีกว่า
ผศ.ดร.นพดล ยังกล่าวต่อไปว่า “ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นถึงความจำเป็นของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย จัดการกับกลุ่มคนที่ทำผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด โดยควรจับกุมทุกคดี ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จัดทำเป็นฐานข้อมูลประชากร (Profiling) ของคนกลุ่มนี้เอาไว้จะทำให้การละเมิดกฎหมายและการแสวงหาผลประโยชน์หรือทำธุรกิจกับม็อบประชาธิปไตยลดน้อยลงได้ ส่วนแกนนำม็อบประชาธิปไตยที่มีจิตใจที่ดีมีอุดมการณ์น่าจะพิจารณาตัวเองว่า การบริหารม็อบที่ดียังทำไม่ได้แล้วจะเข้ามาบริหารประเทศให้ดีได้อย่างไร”