ใกล้ถึงเดทไลน์หนุนค่าดีเซลแล้ว ส.อ.ท.แนะรัฐขยายมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาท/ลิตร ต่ออีก 3 เดือนหลังสิ้นสุด 20 พ.ค.นี้ หวั่นซ้ำเติมดีเซลที่ต้องขยับเพดาน 30 บาทต่อลิตร 1 พ.ค.65 หนุนพลังงานขึ้นเป็นขั้นบันได สกัดราคาสินค้าพาเหรดขึ้นราคา ผวาหนี้ครัวเรือนพุ่งฉุดทำกำลังซื้อหด ขณะสหภาพแรงงานขนส่งขู่เข้ม จะขึ้นค่าขนส่งพร้อมกันทั่วประเทศ 1 พ.ค.นี้ หลังกองทุนน้ำมันเลิกอุ้มดีเซล พร้อมเสนอ 3 แนวทางแก้ปัญหาราคาพลังงานแพง
วันที่ 22 เม.ย.2565 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่รัฐบาลควรขยายมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตร ต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน
จากเดิมที่ ครม.เห็นชอบให้ปรับลดเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 20 พ.ค.นี้ โดยรัฐจะสูญเสียรายได้รวม 17,000 ล้านบาท เพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลต้องสูงขึ้นจนเกินไป เพราะจะเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่จะถูกส่งผ่านมาในราคาสินค้าจากค่าขนส่งที่แพงขึ้น
ขณะเดียวกันวันที่ 1 พ.ค.นี้ รัฐบาลได้กำหนดไว้ว่าจะลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล จากกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลง โดยจะอุดหนุนเหลือ 50% ซึ่ง ณ วันที่ 21 เม.ย. กองทุนฯอุดหนุนดีเซลที่ลิตรละ 11.31 บาทต่อลิตร หากราคายังทรงตัวระดับนี้
วันที่ 1 พ.ค.นี้ เท่ากับว่าน้ำมันจะต้องขึ้นราคา 50% หรือราว 5 บาทกว่าต่อลิตร ทำให้ราคาน้ำมันดีเซล จากที่มีนโยบายตรึงไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ก็จะเป็น 35 บาทต่อลิตร แต่กระทรวงพลังงานส่งสัญญาณว่าจะขึ้นเป็นขั้นบันไดเพื่อลดผลกระทบ เช่น 2-3 บาทต่อลิตร ก็เห็นด้วย แต่อย่าลืมว่าพอถึง วันที่ 20 พ.ค.นี้ ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจะหมดอายุ หากไม่ต่ออายุ ก็จะทำให้ราคาขายปลีกขึ้นอีก 3 บาทต่อลิตร จึงเห็นว่าระยะสั้นต้องดูแลราคาไม่ให้ขึ้นแรงเกินไป
ทั้งนี้ หากราคาน้ำมันดีเซลขยับขึ้น 5 บาทต่อลิตร จะกระทบค่าขนส่งปรับขึ้นอีก 15-20% ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าภาพรวมสูงขึ้นเฉลี่ย 3-4% ทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้นได้ ปัจจัยเหล่านี้จะยิ่งซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อของไทยมากขึ้น ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เตือนว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะผลักดันให้เงินเฟ้อทั่วโลกสูงขึ้น โดยตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาปีนี้จะพุ่งแตะระดับ 8.7% ชี้ให้เห็นว่าภาวะเงินเฟ้อของไทยยังคงมีความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นได้อีก
ดังนั้น สิ่งที่ ส.อ.ท.กังวลคือหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สูง 90% ชี้ว่ารายรับไม่พอรายจ่าย ซึ่งจะกดดันกำลังซื้อให้หดตัว ขณะที่มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินต่างๆก็จะทยอยหมดลงในเดือน มิ.ย.นี้ จึงเห็นว่ารัฐบาลควรหามาตรการดูแลระยะสั้น ก่อนที่จะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบเพิ่มขึ้น น่ากังวลว่าจะเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ ที่รัฐบาลจึงต้องเร่งหามาตรการระยะสั้นดูแลเร่งด่วน
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่าคาดว่าเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ ราคาน้ำมันดีเซลจะอยู่ที่ 140-150 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หากมีการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มราคาน้ำมันจะสูงขึ้นไปอีก สนพ.ได้หารือกับสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) หาแนวทางว่าจะทยอยปรับขึ้นราคาอย่างไร หลังมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลจะสิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย.นี้ หากขึ้นตามแผนเดิม ประชาชนจะเดือดร้อน
สำหรับฐานะเงินกองทุนน้ำมัน ณ 17 เม.ย. ติดลบ 50,614 ล้านบาท ส่วนการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่กองทุนก้อนแรก 20,000 ล้านบาท จากกรอบวงเงินกู้ 40,000 ล้านบาท ปรากฏว่ายังไม่สามารถกู้ได้ ซึ่งหากกู้ไม่ได้ กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังต้องหารือกันว่า กองทุนฯจะดำเนินการอย่างไร เพราะการที่กองทุนฯติดลบมูลค่าสูง ก็เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ดูแลราคาดีเซลและแอลพีจีเพื่อลดผลกระทบประชาชน
ด้านสหภาพแรงงานขนส่งฯส่งเสียงขู่ลั่น ราคาน้ำมันขึ้นเมื่อไหร่ ขึ้นค่าขนส่งทันที
นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กลุ่มรถสิบล้อกำลังจับตาดูว่า กระทรวงพลังงานจะปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลเกินระดับ 30 บาทต่อลิตร ตามที่ประกาศจริงหรือไม่หลังพ้นวันที่ 30 เมษายน ที่จะสิ้นสุดมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งหากขยับราคาขึ้นจริง
สหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ก็จำเป็นต้องประกาศปรับขึ้นอัตราค่าขนส่งตาม โดยจะปรับตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เช่น หากราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้น 1 บาท จะต้องปรับค่าขนส่งขึ้น 3% ซึ่งรวม ๆ แล้วอาจต้องปรับค่าขนส่งขึ้นอีก 15-20% เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าขนส่งมาตลอด ซึ่งหากราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มเกินลิตรละ 30 บาทก็แบกรับภาระต่อไม่ไหว พร้อมมองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในเวลานี้ยังไม่เหมาะกับการปรับขึ้นราคาน้ำมันเพราะจะเป็นการซ้ำเติมทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค
ในวันที่ 20 พฤษภาคม จะครบกำหนดมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 3 บาท ภาระค่าใช้จ่ายเงินในกองทุนน้ำมันฯ จะกลับมาสูงอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันกองทุนมีกระแสเงินสด อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท แต่สถานะติดลบแล้วกว่า 4.2 หมี่นล้านบาท
อย่างไรก็ดี ทางสหพันธ์มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งพิจารณาเพื่อเป็นทางออกในการแก้ปัญหาราคาพลังงานแพง ได้แก่ ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงด้านขนส่งเหลือ 0.20 บาทต่อลิตร เท่ากับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน รวมถึงนำไบโอดีเซลที่ใช้ผสมน้ำมันออกจากระบบชั่วคราวจะลดได้ 1.50-2.00 บาทต่อลิตร เพราะปัจจุบันราคาสูงกว่าน้ำมันดีเซลเท่าตัว และในการเทียบราคาน้ำมันประเทศสิงคโปร์ ขอให้เลิกคิดค่าขนส่งรวมเข้าไปในต้นทุนด้วย