อินเดียเอาจริง! เมิน “ไบเดน” หลังพยายามต่อสายคุย ชวนกดดัน”ปูติน” เย้ยเจ็บ ซื้อน้ำมันดิบรัสเซียสุดกระหน่ำ!?

1087

จากกรณีที่มีรายงานว่า อินเดียเตรียมคว้าน้ำมันรัสเซียราคาถูก เครมลินเสนอขายถูกกว่าราคาตลาด 3 เท่า คาดอินเดียเล็งซื้อลอตแรก 15 ล้านบาร์เรล โดยย้อนไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 บลูมเบิร์กรายงานว่า รัสเซียได้เสนอขายดับน้ำมันดิบในราคาแสนถูกแก่อินเดียที่ 35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ราว 1,160 บาท) หรือถูกกว่าราคาตลาดถึง 3 เท่า ท่ามกลางสถานการณ์จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ทางสหรัฐฯแสดงท่าทีไม่พอใจถึงประเด็นนี้มากนัก

ล่าสุดประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ จะพูดคุยทางไกลกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย จากการเปิดเผยของทำเนียบขาว ในช่วงเวลาที่อเมริกาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการเห็นอินเดียยกระดับการนำเข้าน้ำมันของรัสเซีย


เจน ซากิ เลขานุการฝ่ายสื่อสารมวลชนของทำเนียบขาว ระบุในถ้อยแถลงที่เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์(10เม.ย.) “ประธานาธิบดีไบเดนจะเดินหน้าปรึกษาหารือใกล้ชิดเกี่ยวกับผลสืบเนื่องจากสงครามอันโหดร้ายของรัสเซียกับยูเครน และบรรเทาผลกระทบของมัน ที่บั่นทอนเสถียรภาพอุปทานอาหารโลกและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์”


ดาลีป ซิงห์ รองที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งเพิ่งเดินทางเยือนอินเดียเมื่อไม่นานมานี้ กล่าวว่าอเมริกาจะไม่ “ขีดเส้ยตาย” ใด ๆ สำหรับอินเดีย ต่อการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย แต่ไม่ต้องการเห็นอินเดียเร่งซื้อน้ำมันจากรัสเซียมากขึ้น หลังจากถูกล่อใจด้วยราคาลดกระหน่ำ อินเดียซื้อน้ำมันดิบรัสเซียแล้วอย่างน้อย 13 ล้านบาร์เรล นับตั้งแต่มอสโกรุกรานยูเครนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่เมื่อปีที่แล้วตลอดทั้งปี อินเดียซื้อน้ำมันจากอินเดีย เพียงราว ๆ 16 ล้านบาร์เรล

การพบปะหารือครั้งนี้จะเริ่มต้นด้วย “การประชุมระดับรัฐมนตรี 2+2 สหรัฐฯ-อินเดีย” ระหว่าง แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯและลอยด์ ออสติน รัฐมนตีกลาโหมสหรัฐฯ กับสุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีกิจการต่างประเทศของอินเดีย และรัชนาถ ซิงห์ รัฐมนตรีกลาโหมอินเดีย จากการเปิดเผยของทำเนียบขาว

ไบเดน ซึ่งพูดคุยกับ โมดี ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนมีนาคม เร็ว ๆ นี้เคยบอกว่ามีเพียง อินเดีย ชาติเดียวในกลุ่ม Quad ที่มีจุดยืนสั่นคลอนในการดำเนินการกับรัสเซีย ต่อกรณีรุกรานยูเครน อินเดียพยายามสร้างสมดุลในความสัมพันธ์กับรัสเซียและตะวันตก แต่ต่างจากสมาชิกอื่น ๆ ของ Quad ประกอบด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย อินเดียไม่กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานรัสเซีย


รัสเซียคือผู้จัดหายุทโธปกรณ์กลาโหมรายใหญ่ที่สุดของอินเดียมาช้านาน แม้อินเดียเพิ่มการสั่งซื้อจากสหรัฐฯมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมมองว่าอุปทานอาวุธยุทโธปกรณ์ของอินเดีย มีราคาที่น่าดึงดูดใจมากกว่าและมีความสำคัญกับอินเดีย ในขณะที่นิวเดลีต้องเผชิญหน้ากับกองทัพจีน ที่มีแสนยานุภาพเหนือกว่า และครั้งที่ ดาลีป ซิงห์ เดินทางเยือนอินเดีย เขาบอกว่าสหรัฐฯพร้อมให้ความช่วยเหลืออินเดีย ด้านความหลากหลายทางพลังงานและอุปทานกลาโหม ในขณะที่อินเดีย คือชาติผู้นำเข้าและบริโภคพลังงานรายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลก ดาลีป ซิงห์ เตือนด้วยว่าสหรัฐฯไม่ต้องการเห็นพันธมิตรช่วยกอบกู้รูเบิล ซึ่งเคยดำดิ่งทันทีหลังสงครามเริ่มต้นขึ้น แต่ฟื้นตัวกลับมาแล้วในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา


ส่วนทางด้านยูเครนเปิดเผยว่ากำลังขอให้สหภาพยุโรปกำหนดมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่เล่นงานมอสโก และร้องขอความช่วยเหลือด้านการทหารมากขึ้นจากพันธมิตร ในขณะที่พวกเขาเตรียมพร้อมรับมือกับการโจมตีครั้งใหญ่ของรัสเซีย ในภาคตะวันออกของประเทศ รัสเซีย ล้มเหลวไม่สามารถยึดเมืองหลัก ๆ ได้เลยนับตั้งแต่เปิดฉากรุกรานในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ แต่ยูเครนบอกว่ารัสเซียกำลังระดมกำลังในภาคตะวันออก สำหรับโจมตีครั้งใหญ่และเร่งเร้าประชาชนอพยพหลบหนีออกมา

ขณะที่ทางด้านมอสโก ปฏิเสธคำกล่าวอ้างของยูเครนและตะวันตก ที่กล่าวหาพวกเขาก่ออาชญากรรมสงคราม และยืนกรานว่าไม่ได้เล็งเป้าเล่นงานพลเรือน ในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าปฏิบัติการพิเศษด้านการทหารเพื่อปลดอาวุธและทำลายความเป็นนาซีในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ทางยูเครนและตะวันตกระบุว่ามันเป็นคำกล่าวอ้างทำสงครามที่ไร้เหตุผล

นอกจากประเด็นยูเครนแล้ว ซากิ บอกต่อว่า ไบเดนและโมดี จะหารือความร่วมมือในประเด็นอื่นต่าง ๆ นานา ในนั้นรวมถึงโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ตอบโต้วิกฤตโลกร้อน เสริมความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจโลก และยึดมั่นในระเบียบโลกบนพื้นฐานของกฎระเบียบที่เสรีและเปิดกว้าง เพื่อส่งเสริมความมั่นคง ประชาธิปไตยและความรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก