จากกรณีที่สื่อของเอเอฟพีรายงานคำแถลงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา เมื่อวันพุธที่ 20 เมษายน 2565 ตามเวลาท้องถิ่น ระบุว่า สหรัฐฯได้ส่งมอบเครื่องบินขับไล่และชิ้นส่วนเครื่องบินให้ยูเครน เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กองกำลังทางอากาศไว้เผชิญกับการบุกโจมตีของรัสเซีย โดยไม่ได้ระบุจำนวนและที่มาของเครื่องบินเหล่านั้น
คำแถลงดังกล่าวมีขึ้นหนึ่งสัปดาห์หลังจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เปิดเผยชุดความช่วยเหลือทางทหารมูลค่า 800 ล้านดอลลาร์ ให้แก่ยูเครน ซึ่งรวมถึงยุทโธปกรณ์ เช่น ปืนครก เนื่องจากการสู้รบเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นในยูเครนตะวันออก
โดยจอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า กองกำลังยูเครนขณะนี้ มีอากาศยานปีกคงที่ไว้ใช้ในภารกิจขับไล่ได้มากกว่าที่พวกเขาเคยทำได้เมื่อสองสัปดาห์ก่อน
เคอร์บีไม่ได้ระบุประเภทของเครื่องบินที่ส่งมอบให้กับกองกำลังยูเครน แต่บอกแค่ว่าเป็นเครื่องบินที่ผลิตในรัสเซีย และเสริมว่า มีหลายประเทศที่มีประสบการณ์กับเครื่องบินประเภทนี้ ที่สามารถจัดหาเครื่องบินที่พร้อมใช้งานให้แก่ยูเครนได้ สหรัฐฯไม่ต้องการเสี่ยงถูกมองว่าเข้าร่วมในความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียในครั้งนี้ ทำได้แค่ช่วยขนส่งชิ้นส่วนบางจำนวน แต่สหรัฐฯ ไม่ได้ส่งเครื่องบินทั้งลำไปให้ยูเครน ยูเครนได้ร้องขอให้พันธมิตรตะวันตกจัดหาเครื่องบินขับไล่ มิก-29 ที่นักบินยูเครนคุ้นเคยอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเครื่องบินที่หลายประเทศในยุโรปตะวันออกมีอยู่มากมายหลายลำ
ก่อนหน้านี้มีการหารือเกี่ยวกับการส่งเครื่องบินดังกล่าวผ่านความช่วยเหลือของโปแลนด์ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ก่อนที่สหรัฐฯ จะระงับแผนดังกล่าวไว้ เพราะเกรงว่ารัสเซียอาจมองเป็นการแทรกแซงความขัดแย้งโดยตรงของกลุ่มพันธมิตรนาโต้
ขณะที่ทางด้านนายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อควานในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงสถานการณ์ของรัสเซีย-ยูเครน ด้วยว่า สงครามฉากใหม่ โดยนายลาลอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียให้สัมภาษณ์สื่ออินเดียว่า สงครามปลดปล่อยเขตดอนบาสได้บรรลุผลแล้ว และกำลังเริ่มเข้าสู่ฉากต่อไปของการปฏิบัติได้เริ่มแล้ว และยืนยันว่า รัสเซียไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในยูเครน ให้ชาวยูเครนเลือกตัดสินด้วยตนเอง และเน้นปฏิบัติการด้วยอาวุธตามรูปแบบ conventional weapon (แปลว่า จะไม่ใช้อาวุธทางยุทธศาสตร์)
และที่รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียแถลงว่า เมื่อ 18 เมษายน รัสเซียได้ใช้เครื่องบินทิ้งบอมบ์ต่อเป้าหมาย 60 แห่ง และยิงปืนจัดการเป้าหมายทางทหาร 1,260 แห่ง และฐานทหารอีก 1,214 แห่ง
ผู้นำยูเครนยอมรับว่า รัสเซียได้ปฏิบัติการครั้งใหม่ต่อเป้าหมายดอนบาส และทางกลาโหมรัสเซียน่าจะเน้นกดดันกองกำลังยูเครนและทหารต่างชาติที่ยังหลงเหลือหลบซ่อนอยู่ในโรงงานเหล็กในมาริอูโปล โดยเสนอให้วางอาวุธและมอบตัวอีกครั้งหนึ่ง หลังจากจัดการเปิดฉากทะลุทะลวงต่อโรงงานจนเสียหายอย่างหนักและเรียกร้องให้ยูเครนปลดปล่อยชาวยูเครนที่หลบภัยอยู่ในเขตดังกล่าวอย่าใช้ประชาชนเป็นโล่ห์มนุษย์ป้องกันตัวจากการโจมตีของรัสเซีย
ปฏิบัติการรอบใหม่นี้ต่อเขตดอนบาส น่าจะเป็นความพยายามในการสร้างและสถาปนาเขตปลอดภัยในพื้นที่ดอนบาส เก็บกวาดล้างทหารยูเครนและกำลังAzov ที่หลงเหลือหลบซ่อนอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ อาจรวมถึงขยายเขตพื้นที่ปลอดภัยให้ดอนบาสด้วย
อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์เรื่องการส่งเครื่องบินขับไล่จากสหรัฐฯตามที่ปรากฎเป็นข่าวนั้น ทำให้น่าจับตามองว่า ยูเครนจะโดนหลอกหรือไม่ เพราะขณะนี้กำลังขาดแคลนยุทโธปกรณ์ ที่จะต่อสู้กับรัสเซีย แม้ว่าสหรัฐฯและนาโต้ จะให้คำมั่นเรื่องความช่วยเหลือ แต่ดูเหมือนว่า จะยังมีความเกรงอำนาจปูติน ไม่กล้าส่งยุทโธปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่านี้มาช่วย และหากเทียบกับการรุกหนักของกองทัพรัสเซีย อาจจะทำให้ยูเครนยื้อรักษาพื้นที่บางส่วนในประเทศต่อไปไม่ไหวด้วยหรือไม่