ปูตินแถลง สหรัฐ-EUคว่ำบาตรเหลว ทำยุโรปอ่วม แต่รัสเซียศก.ดี-เงินสะพัดมหาศาล!
จากกรณีที่ อียู มีการหารือด่วนเพื่อลงโทษรัสเซียด้วยการออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม คราวนี้เป็นการคว่ำบาตรในหมวดพลังงานซึ่งเป็นสิ่งที่ยุโรปพึ่งพารัสเซียสูงมาก เนื่องจากรัสเซีย เป็นประเทศมหาอำนาจด้านพลังงานของโลก ทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ
ในส่วนของน้ำมันดิบมีปริมาณน้ำมันสำรอง 80,000 ล้านบาเรล หรือคิดเป็นร้อยละ 4.8 ของปริมาณน้ำมันดิบสำรองของทั้งโลก โดยผลิตน้ำมันดิบวันละประมาณ 11 ล้านบาร์เรล ในจำนวนนี้ส่งออกเกือบครึ่งคือประมาณ 5.1 ล้านบาเรล เป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันดิบมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากซาอุดีอาระเบีย
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมของอียู ไม่ได้มีการระบุวันที่ชัดเจนว่า จะเลิกการซื้อพลังงานจากรัสเซียเมื่อใด สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายที่สหภาพยุโรปจะยุติการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียโดยสมบูรณ์ และความเคลื่อนไหวของอียูทำให้เยอรมนี ในฐานะพี่ใหญ่ของกลุ่มอาจต้องมีการปรับนโยบายด้านพลังงาน
ในขณะที่ทางด้าน นายเจริญสุข ลิมป์บรรจงกิจ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ได้โพสต์ข้อความ ถึงกรณีที่ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้แถลงย้ำว่า มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกนั้น ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง โดยบอกว่า
ปธน.ปูติน ผู้นำรัสเซีย แถลงย้ำ “การคว่ำบาตร #รัสเซีย ของ #ชาติตะวันตก นั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง”
“การคว่ำบาตรรัสเซียของบรดาประเทศตะวันตก มีเป้าหมายคือต้องการบ่อนทำลายทั้งทางการเงินและเศรษฐกิจในประเทศของเราอย่างรวดเร็วและรุนแรง ต้องการสร้างความตื่นตระหนกให้กับตลาด ให้ระบบธนาคารของรัสเซียต้องล่มสลาย และให้เกิดการขาดแคลนสินค้า” ปูตินกล่าวในการประชุมประเด็นทางสังคมและเศรษฐกิจเมื่อวันจันทร์
“แต่เราสามารถพูดได้อย่างมั่นใจแล้วว่ามาตรการคว่ำบาตรที่มีต่อรัสเซียนั้นล้มเหลว”
ปธน.ปูตินย้ำอีกว่า “กลยุทธ์สายฟ้าแลบของพวกเขาที่ต้องการกัดเซาะทางเศรษฐกิจของรัสเซียนั้นล้มเหลว”
“ที่สำคัญ การคว่ำบาตรของพวกเขานั้น ยังกลับส่งผลกระทบต่อพวกเขาเองนั่นแหละ ผมหมายถึงประเทศที่หวังจะเล่นงานเรา กลับต้องเจอการเพิ่มขึ้นอย่างมากของอัตราเงินเฟ้อและการว่างงาน การเสื่อมถอยของพลวัตทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรป มาตรฐานการครองชีพในยุโรปที่ลดลง เงินออมของพวกเขาต้องหดหายลง”
“ในทางกลับกัน เศรษฐกิจของรัสเซียกลับกำลังมีเสถียรภาพ ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนรูเบิลกำลังกลับสู่ระดับต้นเดือนกุมภาพันธ์”
ปูตินกล่าว “รัสเซียยืนหยัดต่อแรงกดดันที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สถานการณ์ทางเศรของเรากำลังมีเสถียรภาพ อัตราแลกเปลี่ยนเงินรูเบิลได้กลับสู่ระดับครึ่งแรกของเดือนกุมภาพันธ์ และถูกกำหนดโดยยอดการชำระเงินที่แข็งแกร่งอย่างเป็นกลาง”
ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในรัสเซียเกิน 58 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 1 “แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์” ประธานาธิบดีปูตินกล่าว พร้อมเสริมว่าเงินสดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกำลังกลับคืนสู่ระบบธนาคารของประเทศและปริมาณเงินฝากของพลเมืองกำลังเพิ่มขึ้น