เมื่อองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ แสดงออกอย่างชัดเจนมาก ว่าต้องการมุ่งหน้ามาทางตะวันออกมากขึ้น เพื่อคานอำนาจกับจีน กลุ่มประเทศในอินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะ “อาเซียน” ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคก็ว่าได้ จะวางตัวอย่างไรให้เหมาะสม ขณะที่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขอเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ในเดือนหน้าซึ่งคาดได้ว่าจะผลักดันกลุ่มอาเซียนทั้งเรื่องรัสเซีย-จีนและเมียนมา
วันที่ 19 เม.ย.2565 สำนักข่าวรอยเตอร์และอะราบิยารายงานว่า ปธน.โจ ไบเดนแห่งสหรัฐ จะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำของสมาคมประชาชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนในกรุงวอชิงตันในเดือนหน้าสำหรับการประชุมสุดยอดนี้ ในวันที่ 12-13 พฤษภาคมมีขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐอเมริกาในการเป็นหุ้นส่วนกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ขณะที่ยังไม่มีท่าทีจากประธานอาเซียน อย่างกัมพูชาตอบสนองว่าอย่างไร?
ก่อนหน้านี้ทำเนียบขาวได้ประกาศว่าการประชุมสุดยอดจะจัดขึ้นในวันที่ 28-29 มีนาคม แต่อาเซียนได้ขอเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ไบเดนอ้างว่าการประชุมสุดยอดครั้งนี้ จะจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 45 ปีระหว่างสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งล่าสุดนั้นไบเดน ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งเขาได้ประกาศโครงการใหม่มูลค่า 102 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยประเทศเหล่านี้ในเรื่องโควิด-19 และความมั่นคงด้านสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเท่าเทียมทางเพศ
เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวระบุในการแถลงข่าวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า “การบริหารของไบเดน-แฮร์ริสมีความสำคัญสูงสุดในการทำหน้าที่เป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งและเชื่อถือได้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” “เป็นความปรารถนาร่วมกันของสหรัฐฯสำหรับภูมิภาคนี้ ที่จะยังคงสนับสนุนความมุ่งมั่นร่วมกันของเราในการพัฒนาอินโดแปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง ปลอดภัย เชื่อมต่อถึงกัน และยืดหยุ่นได้”
ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
อาเซียนกำลังพยายามดำเนินการตามแผน5ประเด็น สำหรับเมียนมาที่ตกลงกันเมื่อปีที่แล้ว โดยเน้นที่การเจรจา ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการยุติความรุนแรง แต่สภาทหารปกครองของเมียนมาร์ได้ชะลอการดำเนินการตามแผน แม้ว่าประเทศจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติบางคนอธิบายว่าเป็นสงครามกลางเมือง
การขาดความร่วมมือของเมียนมาทำให้อาเซียนในปีที่แล้วสั่งห้าม พล.อ. มิน อ่อง ลาย ผู้นำสูงสุดของประเทศเข้าร่วมการประชุมสุดยอดประจำปี ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับองค์กรที่สมาชิกมักจะหลีกเลี่ยงการวิจารณ์ซึ่งกันและกันและดำเนินการโดยฉันทามติ ทั้งนี้ทางเมียนมาจึงไม่ส่งใครเข้าร่วมการประชุมนับตั้งแต่นั้น
แผนยุทธศาสตร์ “ปักหมุดเอเชีย” ของตะวันตก หรือที่สหรัฐเรียกว่า ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง คือแผนปฏิบัติการมุ่งเป้าต่อต้านจีนโดยตรง กำลังยกระดับบรรยากาศตึงเครียดด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกให้มากขึ้น เนื่องจากสหรัฐและจีนแสดงออกอย่างไม่ปิดบัง ว่าต้องการช่วงชิงความมีอิทธิพลเหนืออีกฝ่าย ในภูมิภาคแห่งนี้ โดยเฉพาะสหรัฐในด้านการทหาร เพราะในด้านเศรษฐกิจนั้นจีนเดินหน้าก่อร่างสร้างโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงภูมิภาคเป็นรูปธรรมอย่างไม่อาจลบล้างได้ อย่างไรก็ตามการขับเคี่ยวระหว่างสองประเทศมหาอำนาจกำลังทำให้ประเทศขนาดกลางและเล็กในภูมิภาค อยู่ในสถานะที่เรียกว่า “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” กันถ้วนหน้า เพราะส่วนใหญ่ต้องการสันติภาพและการพัฒนามากว่าสงครามรบพุ่ง
เมื่อต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือ นาโต้ ได้เปิดเผยท่าทีและแสดงความเห็นต่อต้านจีนซึ่งมีท่าทีเคียงข้างรัสเซีย ในปฏิบัติทางทหารในยูเครน สวนทางวาระวอชิงตัน และยืนยันว่านาโตกังวลเป็นอย่างยิ่ง และประกาศว่า“โลกประชาธิปไตย” ควรร่วมกันแสดงจุดยืน “ต่อต้านการใช้อำนาจของทั้งรัสเซียและจีน โดยเอ่ยถึงพันธมิตรนอกภูมิภาคนาโต้ในเอเชีย-แปซิฟิกเป็นครั้งแรก
ต้องการยกระดับความร่วมมือในมิติทางการเมืองและความมั่นคง ที่รวมถึง ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ความมั่นคงทางทะเล การหาทางบรรเทาความรุนแรงของภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และท่าทียืดหยุ่นในมิติที่สำคัญอื่นๆ ความหมายโดยรวมก็คือการยกระดับพันธมิตรทางทหารนั่นเอง
ขณะที่สหรัฐซึ่งเป็นแกนนำของนาโต้ มีนโยบายกำหนดประเทศและดินแดนให้เป็นพันธมิตรหลักนอกนาโต้ มาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน คือกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิคซึ่งมีอย่างน้อย 20 ประเทศได้แก่ ออสเตรเลีย อียิปต์ อิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จอร์แดน นิวซีแลนด์ อาร์เจนตินา บาห์เรน ฟิลิปปินส์ ไทย ไต้หวัน คูเวต โมร็อกโก ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ตูนิเซีย บราซิล กาตาร์ และโคลอมเบีย
ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็น 4 ประเทศยังได้รับเชิญจากนาโต ให้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ เมื่อไม่นานมานี้ด้วยและนั้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันองค์กรพันธมิตรทางทหารที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการจัดตั้งมาแล้วถึงสองกลุ่ม
โดยสหรัฐฯก็ได้จัดตั้ง องค์กรพันธมิตรทางทหารถึงสองกลุ่มคือ พันธมิตรควอด (QUAD) ได้แก่ สหรัฐ ออสเตรเลีย อินเดียและญี่ปุ่นและพันธมิตรไตรภาคีออคัส (AUKUS) ประกอบด้วย สหรัฐ อังกฤษและออสเตรเลีย
แม้สหรัฐเดินเกมรุกอย่างหนักมากขึ้นด้านความมั่นคงอย่างชัดเจนในภูมิภาคแห่งนี้ ซึ่งล่าสุดผ่านการเคลื่อนไหวของนาโต้ก็ตาม แต่ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิคต่างมีภูมิหลังด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่ทั้งแตกต่างและซับซ้อนไม่เหมือนตะวันตก ความพยายามสถาปนาแนวร่วมทางการทหารแบบเดียวกับนาโต้ อย่างที่จีนทักท้วงว่า นาโต้เวอร์ชั่นเอเชีย-แปซิฟิค นั้นอาจไม่ง่ายนัก
คงต้องติดตามกันต่อไป ว่าการประชุมที่วอชิงตันดีซี ท่าทีของอาเซียนจะออกมาแบบไหน มีใครไปร่วมบ้าง สหรัฐจะกดดันประเด็นสำคัญอะไรต่ออาเซียน และแน่นอนจีนจะแสดงท่าทีตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวครั้งนี้อย่างไร!!