Truthforyou

ลุ้นแบงก์ชาติยืดชำระหนี้ ?!? เอกชนยันต้องช่วยต่อลมหายใจธุรกิจ กระทบจ้างงานหนี้เสียท่วม

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างเร่งด่วนเพิ่มขึ้น แต่เรื่องหนี้สินที่เป็นโจทย์หินของประเทศยังท้าทายการแก้ปัญหาทีมเศรษฐกิจ ล่าสุดสัปดาห์หน้าจะถึงกำหนดเส้นตายพักชำระหนี้ธุรกิจทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอี มูลหนี้ 7 ล้านล้านบาทส่งผลเกิดความกังวลปัญหาล้มละลาย ตกงานของเอสเอ็มอี และหนี้เสีย(เอ็นพีแอล)จะท่วมระบบ ทั้งภาครัฐและเอกชนจึงเร่งระดมสมองถกกันเพื่อตัดสินใจว่าจะจัดการปัญหานี้อย่างไร 

คลังและแบงก์ชาติเน้นการปรับโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างธุรกิจรับวิถีธุรกิจใหม่ ส่วนภาคเอกชนยังยืนยันความจำเป็นรัฐยังต้องประคับประคองธุรกิจให้ไปต่อได้ ก่อนล้มระเนระนาด จะกระทบแผนฟื้นฟูทั้งระบบได้ วันศุกร์(16 ตค.2563)ประชุมอีกครั้งรอลุ้น รอฟังแบงก์ชาติผู้คุมยุทธศาสตร์ชาติด้านการเงินการคลังว่าจะเลือกแนวปฏิบัติอย่างไรแน่

ยังลุ้นแบงก์ชาติต่อเวลาพักชำระหนี้ 

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สถาบันการเงิน ภาคเอกชนหารือร่วมกันในประเด็นการต่อเวลาพักชำระหนี้แก่ธุรกิจทั้งระบบ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า การขยายเวลาการชำระหนี้ผู้ประกอบของธนาคารพาณิชย์ 12 ล้านราย มูลหนี้ 7 ล้านล้านบาท ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานสภา พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (หอการค้าไทย) ว่าจะขยายเวลาการพักชำหนี้ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 22 ต.ค. 2563 หรือไม่ ซึ่งการพักหนี้ต้องมีเวลาที่ชัดเจน ธปท. ต้องดูว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร หรือว่าจะมีมาตรการเสริมเข้ามา ต้องขอเวลาให้ ธปท.สรุป

“ระหว่างพักหนี้ต้องปรับทุกอย่างให้จบ ต้องปรับ 2 ต่อ ต่อแรกการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างผู้ประกอบการกับธนาคาร ปรับต่อที่สองคือการปรับโครงสร้างธุรกิจของตัวเอง เป็นสิ่งที่ศูนย์บริหารสถานการเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) มอบให้ ธปท. ธนาคาร สภาอุต สภาหอการค้า ไปหารือกัน เพราะรัฐบาลช่วยได้ระยะเวลาหนึ่ง หากขยายเวลาการชำระหนี้ไปเรื่อยๆ ลูกหนี้ก็จะไม่ชำระหนี้” นายอาคมกล่าว

นายอาคม กล่าวว่า การปรับโครงสร้างหนี้มีความสำคัญ ธุรกิจไหนดูแล้วไปไม่ได้ต้องรีบปรับ ต้องเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจ เช่น การนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น เพราะระบบการสั่งซื้อสินค้ามันเปลี่ยนแปลงไปมากนอกจากนี้ นายอาคม กล่าวว่า ในระดับโลกประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้มีการพักชำระหนี้ให้กับประเทศลูกหนี้ ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2563 ถึง 30 มิ.ย. 2564 เป็นเวลา 1 ปี เพราะเป็นการพักชำระหนี้ระหว่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรง

เอกชนยืนยันอย่างไรต้องช่วย-โควิดยังไม่คลาย การเมืองยังไม่นิ่ง 

-นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานส.อ.ท.ได้เสนอให้มีการยืดมาตรการพักชำระหนี้เอสเอ็มอีออกไปไม่เกิน 2 ปีตามความสามารถของเอสเอ็มอีรายนั้นๆ ซึ่งมาตรการความช่วยเหลือ อาจแตกต่างกันไป ซึ่งที่ประชุมได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะมีการแยกหนี้ของเอสเอ็มอีและรายย่อยที่มีประมาณ 12 ล้านบัญชี ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ -กลุ่มสีเขียว คือกลุ่มที่มีความสามารถจ่ายหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยตามปกติ -กลุ่มสีเหลือง คือกลุ่มที่มีความสามารถในการจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยแต่ไม่สามารถจ่ายเงินต้นได้ และ-กลุ่มสีแดง คือไม่สามารถจ่ายทั้งต้นและดอกเบี้ยได้ในเวลานี้ 

โดยให้เอสเอ็มอีมาแสดงตนกับสถาบันการเงินเพื่อจัดกลุ่มความช่วยเหลือให้ชัดเจนต่อไป เบื้องต้น ส.อ.ท.มีความเป็นห่วงเอสเอ็มอีและรายย่อยที่อาจมีปัญหาด้านสภาพคล่องประมาณ 10 ล้านบัญชี“ส.อ.ท.เสนอว่ากลุ่มสีเขียวควรเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการชำระหนี้ตามปกติ คือทั้งต้นและดอกเบี้ย กลุ่มนี้ควรได้รับอินเทนซีฟ หรือแรงจูงใจ

อาทิ การลดดอกเบี้ยให้ กลุ่มสีเหลืองที่สามารถจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยจะได้รับการผ่อนปรนอย่างไร หรือหากเป็นกลุ่มสีแดงต้องมาดูว่าจะปรับโครงสร้างยังไง อัตราดอกเบี้ยควรอยูู่ระดับใด เพราะไม่สามารถจ่ายทั้งต้นและดอก แต่ยังมีความต้องการทำธุรกิจต่อ มีศักยภาพที่จะเดินต่อไปได้ รายละเอียดจะเป็นอย่างไร โดยจะมีการนัดหารืออีกครั้งวันที่ 16 ตุลาคมนี้” นายสุพันธุ์กล่าว

นายสุพันธุ์กล่าวว่าประเด็น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน ของ ธปท. วงเงิน 5 แสนล้านบาท ปัจจุบันมีเหลืออยู่กว่า 3 แสนล้านบาทจะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร โดย ส.อ.ท.เสนอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาค้ำประกันเพิ่มเติมเป็น 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 30% ได้หรือไม่ ซึ่งบยส.เสนอขอคิดค่าธรรมเนียมตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ ส.อ.ท.มองว่าไม่ควรเพิ่มภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลต้องมีวงเงินช่วย บสย.ด้วย โดยควรดึงเงินจากซอฟต์โลนของ ธปท.มาช่วย วงเงินค้ำประกันที่เหมาะสมควรอยู่ประมาณ 1-2 แสนล้านบาท ซึ่งซอฟต์โลนของ ธปท.ที่เหลืออยู่เพียงพอ

คุณสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม เสนอว่ารัฐ-แบงก์ชาติควรต่อมาตรการพักต้น พักดอก เพื่อป้องกันปัญหา NPL-ธุรกิจปิดตัว-การเลิกจ้างงาน เพราะโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงเหนือการควบคุม เชื่อไตรมาส 4 ปีนี้เศรษฐกิจยังอึมครึม แม้จะเป็นช่วงเทศกาลรื่นเริง แต่รายจ่ายไม่สะพัดเหมือนห้วงเวลาปกติ ภารกิจสำคัญของภาครัฐคือใช้ยาแรงในการแก้ปัญหาว่างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากรอบนี้ภาคเอกชนหมดแรงในการขับเคลื่อนแทบทุกมิติ

ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้ทางภาครัฐหรือพวกสถาบันการเงินมีการยืดเวลาเรื่องพักชำระหนี้ พักดอกเบี้ยอะไรต่างๆ ให้กับพวกลูกค้า ก็อยากจะให้ทางเอสเอ็มอีหรือผู้ประกอบการต่างๆ อย่านิ่งนอนใจ คืออย่างไรก็ต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน ไปเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อหาทางออก ส่วนตัวเชื่อเหลือเกินว่าแบงก์ก็พยายามที่จะช่วย เขาไม่อยากจะให้เกิดเป็น NPL ขึ้นมา ต่างคนต่างช่วยกัน ดีที่สุด ก็คือตอนนี้ต้องพึ่งรัฐบาลอย่างเดียว

เรื่องการว่างงานของคนในชาติเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง รัฐบาลต้องช่วยในสิ่งนี้อย่างเต็มที่ อย่างที่ออสเตรเลีย ประเทศในยุโรป หรือแม้แต่อังกฤษเอง รัฐบาลเขาออกมาพยุงเกี่ยวกับเศรษฐกิจของภาคเอกชนในช่วงโควิด-19 ได้น่าทึ่งมาก เขาถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญของประเทศที่จะต้องทำ คือเอกชนก็คงไม่มีแรงพอที่จะมาพยุงเรื่องเศรษฐกิจ การช่วยเหลือของรัฐในลักษณะนี้อย่างเช่นพวกผู้ประกอบการจะต้องไม่ไล่คนออก โดยรัฐบาลในยุโรปจะจ่ายเงินเดือนให้ 75% ที่อังกฤษจ่ายเงินเดือนให้ถึง 80% ส่วนนี้เป็นการที่จะช่วยเศรษฐกิจ ประชาชนคนในชาติ ก็เป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี และยิ่งขณะนี้การเมืองก็มีปัญหาและมีการชุมนุมกันอย่างนี้ ก็เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงนอกเหนือจากโควิด-19 ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี การประท้วงคงจะไม่ได้หยุดแบบง่ายๆ ตรงนี้น่าเป็นห่วง

เราต้องชมว่าทางรัฐบาลเองมีความตั้งใจสูงมาก พยายามที่จะหามาตรการต่างๆ มากระตุ้นให้เศรษฐกิจดีขึ้น สิ่งที่ทำให้คิดกันว่าไตรมาส 4 น่าจะดีขึ้นก็เนื่องจากปกติเป็นเทศกาลที่จะมีการใช้เงิน มีการไปฉลองงานต่างๆ แล้วยังมีมาตรการให้มีวันหยุดยาวขึ้น มีมาตรการกระตุ้นให้คนไปเที่ยว มีเงินอุดหนุนอะไรต่างๆ ในส่วนนี้คงจะช่วยได้

และข่าวดีคือเราเริ่มจะปล่อยให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามามากขึ้น มองว่าส่วนนี้ก็ช่วยได้ ถ้าต่างชาติเข้ามาใช้จ่าย ของเขาต่อคนประมาณ 5 หมื่นบาทได้ นอกจากค่าห้องพักก็มีค่าใช้จ่ายในเรื่องกิน ช้อปปิ้งอีก คิดว่าจะช่วยได้มาก แต่ถ้าพึ่งแค่นักท่องเที่ยวคนไทยเอง การใช้จ่ายจะต่ำ อย่างมากคนละ 1 หมื่นบาท ตอนนี้รัฐบาลเราสามารถที่จะดูแลความปลอดภัยเกี่ยวกับโควิด-19 ได้แล้ว 

ดังนั้นทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากัน แล้วก็ไปลงในเชิงลึก อันไหนที่จะผ่อนปรนเพื่อให้คนเข้ามาในประเทศของเราได้ คิดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วมาก อย่างประเทศใกล้เคียงของเราและหลายประเทศก็เริ่มเปิดแล้ว โควิด-19 รอบสองมาเขาก็ยังกล้าเปิดเลย คิดว่าของเรามีอะไรที่ไทยเราเก่งเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว เขามาก็รู้สึกว่าปลอดภัยด้วย และนอกจากมาท่องเที่ยวแบบปกติแล้ว เขาอาจมาในรูปของการท่องเที่ยวควบคู่กับการดูแลสุขภาพ อะไรพวกนี้ ก็จะช่วยได้

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศไทยโชคดี มีความแข็งแกร่งมาก และอีกประการหนึ่งคือสถาบันการเงินของเรา ได้เรียนรู้มาแล้วในรอบต้มยำกุ้ง ทำให้ตอนนี้เราเข้มแข็งมาก แต่อย่างไรก็ต้องมาช่วยกัน เพราะพวกเอสเอ็มอีเรายังมีปัญหา และจำนวนธุรกิจส่วนใหญ่ของไทยก็คือเอสเอ็มอี แล้วคนรากหญ้าเราจะทำอย่างไร คิดว่าทางภาครัฐยังมีมาตรการที่จะทำได้ดีกว่านี้อีก ยังใส่ยาแรงกว่านี้ได้อีก ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น

Exit mobile version