บรรดานักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของเยอรมัน พากันโวยวายว่าถ้าผู้นำของตนตัดขาดพลังงานรัสเซีย จะส่งผลให้เศรษฐกิจของเยอรมนีดิ่งสู่ภาวะถดถอยรุนแรงในทันที ขณะที่สหราชอาณาจักร พบอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี ถูกซ้ำเติมจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ต้นทุนการผลิต และอาหารที่ราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นผลมาจาก คว่ำบาตรเศรษฐกิจรัสเซียอย่างสุดโต่งตามก้นวอชิงตัน ลงโทษกรณีปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน
วันที่ 13 เม.ย.2565 สำนักข่าวรัสเซียทูเดย์และบิสซิเนสสแตนดาร์ด รายงานว่าเยอรมนีจะสูญเสียผลผลิตทางเศรษฐกิจ 220,000 ล้านยูโร(ราว238,000ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในช่วง 2 ปีข้างหน้า หากตัดขาดอุปทานก๊าซธรรมชาติของรัสเซียในทันที ปริมาณสำรองก๊าซของเยอรมนีจะคงอยู่จนถึงอย่างน้อยช่วงปลายฤดูร้อนหากอุปทานของรัสเซียหยุดในขณะนี้
จากข้อมูลที่รายงานโดยสถาบันเศรษฐกิจของเยอรมนี 5 แห่ง โดยจีดีพีของเยอรมนีจะขยายตัวเพียง 1.9% ในปี 2022 ก่อนหดตัว 2.2% ในปี 2023 แต่หากยังคงได้รับการป้อนก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย เศรษฐกิจของเยอรมนีจะขยายตัว 2.7% ในปีนี้
การละทิ้งก๊าซของรัสเซียจะเพิ่มการขาดดุลงบประมาณของเยอรมนีอย่างมีนัยสำคัญในสองปีเมื่อเทียบกับ”สถานการณ์พื้นฐาน”ที่จะช่วยให้เบอร์ลินสามารถลดปัญหาดังกล่าวได้ เนื่องจากเยอรมนียังคงพึ่งพาพลังงานของรัสเซีย การขาดดุลงบประมาณของเบอร์ลินจึงอยู่ที่ 52,200 ล้านยูโรในปี 2022 และลดลงเหลือ 27,900 ล้านยูโรในปี 2023 หากเยอรมนีตัดสินใจที่จะตัดการจ่ายพลังงานของรัสเซียโดยสิ้นเชิง การขาดดุลงบประมาณจะเพิ่มขึ้นเป็น 76,000ล้านยูโรในปีนี้ และเพิ่มขึ้นอีกเป็น 160,000 ล้านยูโรในปี 2023
สเตฟาน คูทช์ส ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสถาบัน Kiel เพื่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนรายงานดังกล่าว ระบุว่าการตัดก๊าซธรรมชาติรัสเซีย จะทำให้เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรปแห่งนี้ ดิ่งเข้าสู่ภาวะ “ถดถอยรุนแรง”
การโหมกระพือข่าวในเมืองบูชา และการยึดครองแถบชานเมืองกรุงเคียฟของกองกำลังรัสเซีย เป็นข้ออ้างให้สหภาพยุโรปยกระดับคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเล่นงานมอสโกว์ และไล่ล่าธุรกิจการส่งออกพลังงานอันใหญ่โตมโหฬารของรัสเซียเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่พวกเขายกพลรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์
พวกผู้นำอียูเห็นพ้องกันในการเลิกนำเข้าถ่านหินจากรัสเซียอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมาตรการแบนนำเข้าถ่านหินจะเริ่มในเดือนสิงหาคม และเวลานี้ได้มีการหารือเกี่ยวกับการคว่ำบาตรรอบที่ 6 แล้ว โดยที่เจ้าหน้าที่อียูบางส่วนเรียกร้องให้จัดการกับการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย
อย่างไรก็ตามการแบนก๊าซธรรมชาติรัสเซียในระยะเวลาอันใกล้นี้จะก่อผลกระทบอันน่าสยดสยองแก่เยอรมนี ทั้งนี้จากข้อมูลของทบวงพลังงานสากลพบว่า เยอรมนีพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติของรัสเซียราวๆ 46% จากอุปทานก๊าซธรรมชาติทั้งหมดของพวกเขาในปี 2020 โดยคนเยอรมนนีใช้ก๊าซธรรมชาติ สำหรับเป็นเชื้อเพลิงสร้างความอบอุ่นในครัวเรือน ใช้ผลิตไฟฟ้าและป้อนพลังงานสู่โรงงานต่างๆของพวกเขา
สหภาพยุโรปบอกว่ากำลังพยายามลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียลง 66% ในปีนี้ และจะตัดขาดการพึ่งพิงพลังงานรัสเซียโดยสิ้นเชิงในปี 2027
คริสเตียน ลินเดอร์ รัฐมนตรีคลังของเยอรมนี ระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าประเทศของเขากำลังดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จำเป็นไปได้ในการละทิ้งพลังงานรัสเซีย แต่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะหยุดใช้ก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในทันที
ลินด์เนอร์กล่าวก่อนพูดคุยกับบรรดารัฐมนตรีคลังของอียูในบรัสเซลส์ “ชัดเจนว่าเราต้องหยุดทุกความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับรัสเซียเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ก๊าซไม่สามารถสำรองได้ในระยะสั้น เราจะก่อความเจ็บปวดแก่ตนเองมากกว่าพวกเขา ถ้าการแบนเต็มรูปแบบสามารถหยุดสงครามได้ในวันพรุ่งนี้ เราจะทำมันในทันที แต่การแบนดังกล่าวรังแต่จะทำให้ราคาของสงครามนี้พุ่งสูงขึ้น”
การเล็งเป้าเล่นงานอุปทานก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย ดูเหมือนทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อในเยอรมนีเลวร้ายลงไปอีก ซึ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี เมื่อเดือนที่แล้ว โดยราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 7.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปัจจัยหลักคือราคาก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 40% ในช่วงเวลาเดียวกัน
สถานการณ์เงินเฟ้อเริ่มเลวร้ายลงในหลายชาติของยุโรป ในนั้นรวมถึงสหราชอาณาจักร ซึ่งเปิดเผยในวันพุธที่ 13เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ราคาผูุ้บริโภคแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ทศวรรษเมื่อเดือนที่แล้ว ถาโถมแรงกดดันหนักหน่วงใส่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน และ ริชิ ซูนัค รัฐมนตรีคลัง ให้หาทางลดค่าครองชีพ
อัตราเงินเฟ้อรายปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 7.0% จากระดับ 6.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ สูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 1992 และมากกว่าที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดหมายไว้
แต่หากเทียบเป็นรายเดือน ถือเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงเวลานี้ของปี นับตั้งแต่สำนักงานสถิติแห่งชาติเริ่มบันทึกสถิติมาในปี 1988 เลยทีเดียว ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อดีดตัวสูงขึ้น เป็นผลจากราคาที่เพิ่มสูงขึ้นในวงกว้าง ไล่ตั้งแต่เชื้อเพลิงยานพาหนะ อาหาร ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์
อัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักร ดีดตัวสูงขึ้นในระดับที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนตั้งแต่ปีที่แล้ว ในลักษณะเดียวกับบรรดาเศรษฐกิจพัฒนาแล้วอื่นๆ เนื่องจากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน และการแพร่ระบาดของโรคระบาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซอุปทานอย่างยาวนาน
การคว่ำบาตรสุดโต่งกับเศรษฐกิจรัสเซีย ผลักให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นไปอีก และเมื่อเดือนที่แล้ว สำนักงานรับผิดชอบงบประมาณแห่งสหราชอาณาจักร คาดหมายว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 8.7% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2022 ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดในรอบ 40 ปี
กระแสความลังเลในการคว่ำบาตรพลังงานของรัสเซียในยุโรป เริ่มก่อตัวอย่างชัดเจน แม้จะมีแถลงการณ์จากสหภาพยุโรปอย่างแข็งขันในการถล่มรัสเซียอย่างต่อเนื่องถึง 5 รอบ แต่ในความเป็นจริงการเคลื่อนไหวคัดค้านมาตรการคว่ำบาตรที่ทำให้เดือดร้อนตัวเอง โดยประชาชนในยุโรปยังคงระอุเดือดมากขึ้นในหลายประเทศ