ถึงคิวกรีซ! แรงงานท้วงหยุดงาน ชัตดาวน์เมืองหลวง ค่าครองชีพพุ่ง-น้ำมันแพง หลังร่วมคว่ำบาตรรัสเซีย

1115

ถึงคิวกรีซ! แรงงานท้วงหยุดงาน ชัตดาวน์เมืองหลวง ค่าครองชีพพุ่ง-น้ำมันแพง หลังร่วมคว่ำบาตรรัสเซีย

จากกรณีที่ สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานสถานการณ์การประท้วงหยุดงานในประเทศกรีซเมื่อวันพุธที่ 6 เมษายน 2565 กล่าวว่า สหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุด 2 แห่งของกรีซ ซึ่งเป็นตัวแทนของแรงงานภาครัฐและเอกชนกว่า 2.5 ล้านคน เรียกร้องให้มีการหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ในตอนกลางของกรุงเอเธนส์

กรีซเพิ่งฟื้นตัวจากทศวรรษแห่งวิกฤตการณ์ทางการเงิน ในปี 2561 แต่กลับต้องมาเผชิญกับการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัสที่ทำให้การเดินทางทั่วโลกต้องหยุดชะงักในสองปีต่อมา ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ กอรปกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น จากการคว่ำบาตรต่อรัสเซียในกรณีบุกยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ยิ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ในการดำรงชีพของชนชั้นแรงงานมากขึ้น

จีเอสอีอี หรือ สหภาพแรงงานซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ใช้แรงงานภาคเอกชนของประเทศ กล่าวว่า “ในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา บรรดาผู้ใช้แรงงานต้องแบกรับภาระของวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อรายได้และชีวิตของทุกคน หลายปีผ่านไป วิกฤตยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ภาระยังคงอยู่ และสิทธิของพวกเรากำลังลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ”

อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคประจำปีของกรีซพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 25 ปีที่ระดับ 7.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ จากค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน, ที่อยู่อาศัย และค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลกรีซได้ใช้เงินไปกว่า 3.7 พันล้านยูโร หรือประมาณ 1.34 ล้านล้านบาท ตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2564 เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นในภาคเกษตรกร, ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ

จีเอสอีอีกล่าวในเดือนมีนาคมว่า ได้เสนอภาครัฐให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้นอีก 13%  เป็น 751 ยูโร หรือประมาณ 27,500 บาทต่อเดือน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว 2% เป็น 663 ยูโร หรือประมาณ 24,300 บาทต่อเดือนในเดือนมกราคม และนายกรัฐมนตรี คีริยากอส มิตโซทากิส ของกรีซ ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะปรับขึ้นอีกครั้งหลังวันที่ 1 พฤษภาคม

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 ทางเพจ World Update ได้รายงานว่า ประเทศกรีซ เป็นหนึ่งในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ไม่ใช่ประเทศร่ำรวย ประชาชนเคยทดลองเลือกผู้นำประเทศคนรุ่นใหม่อายุน้อย แต่เพราะตามก้นสหรัฐใช้จ่ายเกินตัว ทำ QE ทางเศรษฐกิจพิมพ์เงินโดยไร้ ทองคำค้ำประกัน จนทำให้ประเทศกรีซ “ล้มละลาย” ไม่มีเงินในธนาคารมาคืนให้ผู้ฝากเงิน เศรษฐกิจวินาศ ประชาชนยากจนลำบากนานหลายปี

คราวนี้กรีซเดินตามสหรัฐและ EU อีกครั้งแบนสารพัดรัสเซียก่อน จึงเจอรัสเซียสวนกลับบ้างโดยปิดท่อส่งก๊าซ Yamal ทำให้ปริมาณแก๊สหายไปจากยุโรปเกือบ 40% จากนั้นรัสเซียยังแบนระงับส่งปุ๋ยให้กับประเทศที่มีรายชื่อไม่เป็นมิตรกับรัสเซีย คือ EU ทุกชาติ ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาก๊าซและปุ๋ยที่แพงมากขึ้นจนรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว
ม็อบเกษตรกร จากทั่วประเทศกรีซ นัดหมายกันใช้รถแทรกเตอร์ รถไถ รถทางการเกษตร ปิดล้อมถนนในกรุงเอเธนส์ เมืองหลวงของกรีซ เพื่อประท้วงที่รัฐบาล ที่ไปเข้าข้างยูเครน และแบนรัสเซียก่อน จนถูกรัสเซียแบนกลับ เคราะห์ร้ายวนกลับมาตกที่เกษตรกรีซ เพราะรัสเซีย เป็นประเทศที่ส่งออกก๊าซ ปุ๋ยรายใหญ่ที่สุดของโลก เป็นต้นธารของอาหารคนและสัตว์ที่ใช้ปุ๋ยบำรุงต้นไม้ พืชเกษตร ที่เป็นจุดเริ่มของอาหารทุกชนิด
เมื่อโดนรัสเซียข้างบ้านแบนก๊าซ และปุ๋ย ทำให้ต้องไปนำเข้าจากบ้านไกลสหรัฐ และที่อื่นๆ ส่งผลให้ก๊าซราคาพุ่ง ปุ๋ยหาไม่ได้ ราคาแพงลิ่ว เกษตรทั่วประเทศกรีซ จึงทนไม่ไหว นัดกันมาปิดล้อมเมืองหลวงให้เป็นอัมพาต และไม่รู้จะจบอย่างไร ล่าสุดรัสเซีย ยังประกาศงดส่งออกอาหารทุกชนิดออกนอกประเทศ เก็บตุนไว้ทำสงคราม และให้คนในประเทศกินจนอิ่มเหลือเฟือ
รัสเซีย คือผู้ส่งออกข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ แปรรูปเป็นขนมปัง และอาหารหลายชนิด รายใหญ่ที่สุดในโลก เลี้ยงคนยุโรปทั้งหมดทุกชาติ เมื่อรัสเซียตัดอาหาร จะยิ่งทำให้ราคาอาหารเพิ่ม เกิดภาวะอดอยากรุนแรง เมื่อคนยากจนหิว คนร่ำรวยได้กิน จะเกิดจราจล และบานปลายโดมิโนไปอีกหลายชาติ รัสเซีย กำลังทำให้เกิด “ยุโรปสปริงส์” บีบประชาชนแต่ละชาติ ไปบีบรัฐบาลของตนเอง อีกที ทนหิวได้ก็ทนไป..ครองอาหารได้ก็ครองประเทศ แต่ถ้าขาดอาหาร ที่คนต้องกินทุกวัน รัฐบาลชาตินั้นก็พังล้มครืนได้ง่ายๆ