จับตา! รฟม.ลงนามข้อตกลงคุณธรรม เดินหน้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม แม้คดียังคาศาลอาญาทุจริตฯ

987

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดพิธีลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ระหว่าง รฟม. และผู้สังเกตการณ์ ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรม ในขณะที่คดียังคาศาลทุจริต

วันที่ 4 เมษายน 2565 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. และผู้สังเกตการณ์ ได้ร่วมลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการร่วมลงทุนที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2564 สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ –  มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยได้รับเกียรติจาก นายฐิตพงศ์ พุทธิวุฒิกูล ผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และนายชาญวิทย์ นาคบุรี ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เข้าร่วมพิธี ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 9 อาคารสำนักงาน รฟม. 

โดยการลงนามข้อตกลงฯ ในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ที่เห็นชอบการนำแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมไปกำหนดใช้โดยอนุโลม สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่นนอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ต้องดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวด้วย เนื่องจากเป็นโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ และมีผลกระทบโดยตรงต่อประโยชน์สาธารณะ 

สำหรับแนวทางการปฏิบัติตามข้อตกลงคุณธรรม จะมีผู้สังเกตการณ์ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ที่จำเป็นต่อการคัดเลือกเอกชนของโครงการ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 ท่าน ได้แก่ นายอนันต์ เกษเกษมสุข ดร.สุวัฒน์ วาณีสุบุตร นางสาวอรสา จินาวัฒน์ นายชาญชัย พงศ์ภัสสร นายกิตติเดช ฉันทังกูล และนายการุณ เลาหรัชตนันท์ เข้าร่วมสังเกตการณ์ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำ ร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน รวมไปถึงขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน 

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) โดยการนำข้อตกลงคุณธรรมฯ มาใช้ในการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของ รฟม. ในการที่จะดำเนินงานโครงการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และปลอดการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้บริการ และประเทศไทยต่อไป

ส่วนรายละเอียดเงื่อนไขทีโออาร์ จะต้องรอหลังการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯตามมาตรา 36 

รายงานข่าวจากรฟม.แจ้งไว้เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2565 ว่า “ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดเงื่อนไขด้านคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอแต่อย่างใด เนื่องจาก รฟม. อยู่ระหว่างดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเพื่อประกอบการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน และร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (เอกสาร RFP) ครั้งใหม่  และประสานนัดหมายคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) เพื่อประชุมพิจารณาร่างประกาศเชิญชวน และร่างเอกสาร RFP ภายใต้การสังเกตการณ์ของผู้สังเกตการณ์ตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกฯ เห็นชอบประกาศเชิญชวน และเอกสาร RFP แล้ว รฟม. จะดำเนินการประกาศเชิญชวน และขายเอกสาร RFP ให้เอกชนที่สนใจต่อไป”

ปัจจุบันยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในศาล 3 คดี ประกอบด้วย 1.ศาลปกครอง คดีที่ภาครัฐออกประกาศยกเลิกประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม 2.คดีเรียกร้องค่าเสียหาย จากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประกวดราคา และ 3.คดีตามกระบวนการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 1 คดี ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172