ปากีฯไม่ทน!!เรียกทูตมะกันเฉ่ง ประณามสหรัฐแทรกแซง แฉจับได้แผนหนุนฝ่ายต้านโค่นล้ม ฐานเลือกข้างรัสเซีย

1330

เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศปากีสถานเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีอิมราน ข่านได้เรียกผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ โดนัลด์ ลู ซึ่งรักษาการเอกอัครราชทูตของสหรัฐฯประจำปากีสถานเข้าพบ เพื่อประณามการแทรกแซงของเขาอย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับท่าทีการสนับสนุนการลงคะแนนไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และล่าสุดหน่วยความมั่นคงปากีสถานรายงาน พบมีการวางแผนลอบกำจัดผู้นำเพราะดื้อแพ่งต่อสหรัฐ หันไปซบรัสเซีย

วันที่ 1 เม.ย.2565 สำนักข่าวรัสเซียทูเดย์และสื่อท้องถิ่นปากีสถานรายงานว่า ทูตของสหรัฐฯ บอกเอกอัครราชทูตปากีสถานประจำสหรัฐฯ ว่า “ ความสัมพันธ์กับปากีสถานไม่สามารถปรับปรุงได้ ตราบใดที่นายกรัฐมนตรี อิมราน ข่าน(Imran Khan)ยังอยู่ในอำนาจ หากถูกขับออกตำแหน่งจากการลงคะแนนไม่ไว้วางใจ ประเทศจะได้รับการอภัยจากสหรัฐสำหรับความผิดพลาดที่เลือกผู้บริหารคนนี้”

เหตุการณ์นี้สร้างความโกรธเกรี้ยวแก่ผู้นำปากีสถานอย่างมาก

รัฐบาลของข่านเลือกที่จะคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็งและเป็นอิสระ ไม่สยบยอมตามความต้องการของวอชิงตัน  จึงต้องพบกับคำกล่าวข่มขู่ของทูตสหรัฐดังกล่าว  หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้หารือกับคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติเมื่อวันพฤหัสบดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่ประชุมกล่าวประณามว่าเป็นการแทรกแซงอย่างโจ่งแจ้งในกิจการภายในของปากีสถานโดยสหรัฐ

สำนักนายกรัฐมนตรีปากีสถานออกแถลงการณ์หลังการประชุม โดยระบุว่า ทางคณะกรรมการกังวลเป็นอย่างมากถึงการสื่อสารและภาษาที่ใช้โดย “เจ้าหน้าที่ต่างชาติ” ว่า ไม่เป็นไปตามธรรมเนียมการทูต บันทึกดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงการแทรกแซงกิจการภายในของปากีสถานโดยประเทศดังกล่าวซึ่งเป็นเรื่องที่รับไม่ได้

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ปากีสถานจะยื่นหนังสือประท้วงสหรัฐ ทั้งในกรุงอิสลามาบัด และในเมืองหลวงของประเทศนั้น ผ่านช่องทางทางการทูตที่เหมาะสม

ข่านได้พูดในระหว่างการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ในคืนเดียวกันนั้นว่า เขาได้รับจดหมายสรุปจากเอกอัครราชทูตปากีสถานประจำสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงบันทึกของเจ้าหน้าที่อาวุโสจากวอชิงตัน ที่ชี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และปากีสถานจะดีขึ้นหากข่านถูกโค่นล้มจากการลงคะแนนไม่ไว้วางใจ 

ข่านกล่าวว่า “พวกเขาระบุว่า ‘ความโกรธของเราจะหายไปถ้านายกรัฐมนตรีอิมราน ข่าน แพ้การลงคะแนนไม่ไว้วางใจครั้งนี้”

ข่านยังอ้างในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “ การสมรู้ร่วมคิดได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ และอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่เขา โดยสังเกตว่ามันได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากต่างประเทศหลายล้านดอลลาร์ เนื่องจากเขาปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับสหรัฐฯ และ NATO ในการประณามและคว่ำบาตรรัสเซียจากการปฏิบัติการทางทหารในยูเครน

ก่อนหน้านี้ ฟาหวัด เชาดรี(Fawad Chaudhry) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงข้อมูลเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ว่า หน่วยงานความมั่นคงของปากีสถานได้รายงานแผนการลอบกำจัดปธน.อิมราน ข่าน และเตือนให้ผู้นำระมัดระวังในการปรากฎตัวในที่สาธารณะ เรื่องนี้ไฟซาล เวาดา( Faisal Vawda) ผู้นำพรรค PTIของรัฐบาล ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่าการที่ ข่านปฏิเสธที่จะขายชาติทำให้มีการเตรียมการลอบเอาชีวิต

การลงคะแนนไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นจากฝ่ายค้าน ขอเปิดอภิปรายปัญหาเศรษฐกิจที่มีมาช้านาน และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ซ้ำเติมความยากลำบากหลายด้าน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการคว่ำบาตรของสหรัฐและตะวันตกต่อรัสเซียในความขัดแย้งยูเครน 

นอกจากนี้ยังมีความไม่แน่นอนว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศจะออกเงินงวดถัดไปของแพคเกจช่วยเหลือมูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ลงนามในปี 2019 หรือไม่ เนื่องจากไอเอ็มเอฟได้ปฏิเสธ ข้อเสนอเงินอุดหนุนส่วนที่เหลือ ที่ข่านยื่นขอเพื่อรองรับผลกระทบจากราคาน้ำมันและก๊าซที่พุ่งสูงขึ้น 

ด้านสหรัฐฯ เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันว่าข้อกล่าวหาของนายกฯอิมราน ข่าน “ไม่เป็นความจริง” โดยระบุว่าวอชิงตันติดตามพัฒนาการในปากีสถานอย่างใกล้ชิด แต่เคารพและและสนับสนุนกระบวนการรัฐธรรมนูญของปากีสถานและหลักนิติธรรมเสมอมา

ไมเคิล คูเกลแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียใต้ประจำศูนย์ Wilson Center ในกรุงวอชิงตัน ทวีตข้อความว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และปากีสถานจะได้รับผลกระทบจากการแลกเปลี่ยนวาทะและการกล่าวหาผ่านสื่อในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ซึ่งความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศก็ถือว่าเปราะบางอยู่แล้ว

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ข่านแฉว่า วอชิงตันเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศและพยายามโน้มน้าวการตัดสินใจด้านนโยบายต่างประเทศของตน เขาพูดถึงประเด็นนี้ในการปราศรัยต่อผู้สนับสนุน โดยเขาพยายามที่จะดึงพลังของผู้สนับสนุน ในขณะที่ฝ่ายค้านทางการเมืองของเขาพยายามรณรงค์ที่จะขับไล่เขา และเขายังคงย้ำกับผู้สนับสนุนของเขาในระหว่างการออกอากาศเมื่อวันพฤหัสบดีว่าปากีสถานไม่ได้อะไรจากการสนับสนุนสงครามของสหรัฐฯ และเขาจะยืนหยัดไม่ลาออก และไม่ยอมแพ้ต่อการกดดันของชาติตะวันตก