โป๊ะแตก! โฆษกศาล แจงไทม์ไลน์ออกหมายจับ “โรม” อ้างติดประชุม ตรวจพบวันนั้น ไม่มีการประชุม!?

1379

โป๊ะแตก! โฆษกศาล แจงไทม์ไลน์ออกหมายจับ “โรม” อ้างติดประชุม ตรวจพบวันนั้น ไม่มีการประชุม!?

จากกรณีเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรค เดินทางมายังสถานีตำรวจนครบาลบางขุนนนท์ เพื่อรายงานตัวตามข้อกล่าวหาในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในกรณีมูลนิธิป่ารอยต่อ เมื่อต้นปี 2563 

นายรังสิมันต์ ระบุว่า ทุกครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจพาดพิงถึง พลเอก ประวิตร คดีของตนจะมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ล่าสุด คือ ประเด็นการค้ามนุษย์ในการอภิปรายทั่วไป จึงทำให้มีความ “แปลกประหลาด” เกิดขึ้นในคดีนี้ โดยมีความพยายามขอตัวตนเองไปดำเนินคดีระหว่างสมัยประชุมสภา จึงได้โต้แย้งไปว่าการทำแบบนี้น่าจะมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 โดยเป็นการเป็นการคุยกันด้วยวาจาซึ่งในเวลาต่อมา พนักงานสอบสวนบอกว่าจะไปถอนหมาย

“คุยกันเสร็จเรียบร้อย ก็มีการออกหมายเรียก ให้ไปคุยอีกครั้ง วันที่ 11 มีนาคม ซึ่งผมชี้แจงไปว่าไม่น่าจะไปได้ในวันนั้น จึงขอนัดหมายใหม่ โดยให้ทนายเป็นคนนัดหมาย และตกลงกันด้วยวาจาว่าจะไปรายงานตัวภายในเดือนมีนาคมแน่นอน ไม่ได้จะบิดพลิ้วอะไร แต่สุดท้าย วันที่ 11 มีนาคม พนักงานสอบสวนไม่ยอม จึงมีการออกหมายจับออกมา” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวลึกๆ เชื่อว่า ศาลไม่น่าจะให้ เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษค่อนข้างต่ำ และการจะออกหมายจับได้ ต้องออกหมายเรียกอย่างน้อย 2 ครั้ง ถ้าเอาตามหมายเรียกที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตนได้รับแค่ครั้งเดียว แต่จู่ๆ ออกหมายจับเลย จึงค่อนข้างแปลกใจมากว่าทำไมกระบวนการของวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถไปขอหมายจับจากศาล และศาลให้

นายรังสิมันต์ ระบุอีกว่า คดีนี้เหมือนมีความพยายามในการดำเนินคดีและไม่ให้ประกันตัว หวังจะให้หลุดพ้นจากความเป็น ส.ส. และยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า การออกหมายจับนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะตามเงื่อนไขการออกหมายจับ จะออกได้เมื่อถูกร้องในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกสูงเกิน 3 ปี หรือมีหลักฐานควรเชื่อว่าจะหลบหนี ซึ่งคดีหมิ่นประมาทฯ โทษไม่ถึง 3 ปี และไม่มีพฤติการณ์หลบหนี

ต่อมา นายรังสิมันต์ ได้โพสต์ข้อความล่าผู้พิพากษาที่ลงนามออกหมายจับตนเอง ลั่นต้องถูกดำเนินคดี โดยบอกว่า วันที่ 31 มีนาคม 2565 ผมมีนัดหมายต้องเดินทางไปที่ สน.บางขุนนนท์อีกครั้งเพื่อให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมในคดีมูลนิธิป่ารอยต่อฯ จากการที่อัยการมีความเห็นว่าสำนวนไม่สมบูรณ์เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา

ตามที่ผมเคยตั้งคำถามว่าในเมื่อสำนวนยังไม่เรียบร้อยเช่นนี้ แล้วทางตำรวจจะดันทุรังเร่งออกหมายจับเพื่อนำตัวผมมาส่งอัยการไปเพื่ออะไร? แล้วศาลอนุมัติหมายจับทั้งที่ไม่มีเหตุแห่งการหลบหนีเช่นนี้ได้อย่างไร?

เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม ผมได้ปรึกษากับทนายความแล้วเห็นว่า ต้องมีการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงถามตัวผู้พิพากษาท่านนั้นถึงสาเหตุการอนุมัติหมายจับ จึงขอแรงพี่น้องประชาชนช่วยกันตามหาผู้พิพากษาเจ้าของลายเซ็นที่ลงนามออกหมายจับผม พี่น้องท่านใดทราบหรือมีข้อมูลว่าเจ้าของลายเซ็นนี้ชื่ออะไร 

ล่าสุดทางด้าน นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ได้ชี้แจงขั้นตอนกระบวนการพิจารณาคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับ กรณีนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ซึ่งถูกพนักงานสอบสวน สน.บางขุนนนท์ แจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ
โดยแจงไทม์ไลน์ว่า เมื่อวันที่ 27 ต.ค.64  พนักงานสอบสวน สน.บางขุนนนท์  ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับ นายรังสิมันต์ ผู้ต้องหา โดยอ้างเหตุผู้ต้องหาไม่พบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก 2 ครั้ง คือ ในวันที่ 15 ต.ค.64 และวันที่ 26 ต.ค.64 โดยศาลอาญาตลิ่งชัน ดำเนินการไต่สวนผู้ร้องแล้วเห็นว่าในวันดังกล่าวยังไม่มีเหตุออกหมายจับเนื่องจากปรากฏตามรายงานว่า ผู้ต้องหาติดประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ระหว่างวันที่ 25-27 ต.ค.64 จึงมีเหตุผลที่ผู้ต้องหาไม่อาจไปพบพนักงานสอบสวนได้  ศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้อง

 

ต่อมาวันที่ 5 มี.ค.65 พนักงานสอบสวน สน.บางขุนนนท์  ได้ยื่นคำร้องขอออกหมายจับเป็นครั้งที่ 2 โดยอ้างเหตุผู้ต้องหาไม่มาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก

ศาลไต่สวนแล้ว เห็นว่าขณะที่ออกหมายเรียกยังอยู่ในสมัยประชุมรัฐสภาอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 มาตรา 125 เมื่อผู้ต้องหาไม่ได้ไปพบผู้ร้องในวันนัด จึงไม่เป็นการขัดหมายเรียก ให้ยกคำร้อง

ต่อมาวันที่ 14 มี.ค.65 พนักงานสอบสวน สน.บางขุนนท์ ยื่นคำร้องขอออกหมายจับครั้งที่ 3 โดยอ้างเหตุว่าผู้ต้องหาไม่มาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกในวันที่ 11 มี.ค. 65 ศาลไต่สวนพยานหลักฐานต่างๆ ประกอบพยานเอกสารคำร้องขอความเป็นธรรมของนายรังสิมันต์ ที่ยื่นต่อผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแล้ว

กระทั่งวันที่ 15 มี.ค.65 ศาลอาญาตลิ่งชัน มีคำสั่งให้ออกหมายจับผู้ต้องหา เนื่องจากปรากฏพยานหลักฐานจากการไต่สวนว่า พนักงานสอบสวนยืนยันว่า ได้สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในคดีนี้จนเสร็จสิ้นแล้วมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายรังสิมันต์ โรม ผู้ต้องหาในความผิดฐาน หมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาฯ เสนอผู้บังคับบัญชาแล้ว ต่อมาผู้บังคับบัญชามีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2564 ผู้ร้องประสงค์จะนำตัว ผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนส่งพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 142 จึงออกหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ลงวันที่ 6 ต.ค. 2564 ให้ไปพบผู้ร้องในวันที่ 15 ต.ค. 2564 แต่ในวันที่ 15 ต.ค. 2564 ผู้รับมอบอำนาจของผู้ต้องหา ได้ แจ้งเหตุขัดข้องว่า ผู้ต้องหาติดประชุมพรรคก้าวไกลขอเลื่อนการเข้าพบเป็นวันที่ 26 ต.ค. 2564  ผู้ร้องจึงได้ออกหมายเรียกครั้งที่ 2 ลงวันที่ 14 ต.ค. 2564 ให้ผู้ต้องหามาพบผู้ร้องในวันที่ 26 ต.ค.2564

ครั้นในวันที่ 25 ต.ค. 2564 ผู้รับมอบอำนาจผู้ต้องหาได้แจ้งเหตุขัดข้องว่า ผู้ต้องหาติดประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการ ทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ… จึงขอเลื่อนเข้าพบผู้ร้องออกไปก่อน แต่ผู้ร้องได้แจ้งแก่ ผู้รับมอบอำนาจผู้ต้องหาว่า วันนัดที่ 26 ต.ค. 2564 เป็นวันที่ผู้ต้องหาเป็นผู้กำหนดเองจึงขอให้ไป แจ้งผู้ต้องหาให้มาพบผู้ร้องในวันดังกล่าว แต่ผู้ต้องหาก็ไม่ได้มาตามนัดและตามหมายเรียก

ต่อมาผู้ร้อง โทรศัพท์ไปหาทนายความของผู้ต้องหาเพื่อสอบถามผู้ต้องหาว่า จะมาพบผู้ร้องได้เมื่อไร ทนายความ ของผู้ต้องหาแจ้งแก่ผู้ร้องว่าผู้ต้องหาตกลงจะมาพบผู้ร้องในวันที่ 3 พ.ย. 2564 แต่ผู้ต้องหาก็ไม่ได้มาตามที่นัด

กระทั่งผู้ร้องได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งล่าสุดลงวันที่ 5 มี.ค. 2565 ให้มาพบผู้ร้องวันที่ 11 มี.ค 2565 แต่ผู้ต้องหาก็ไม่ได้มาพบเพียงแต่ให้ผู้รับมอบ อำนาจแจ้งเหตุขัดข้องว่า  ติดประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงขอเลื่อนวันเข้าพบวันที่ 31 มี.ค. 2565 โดยได้แนบ หลักฐานสรุปผลการประชุมคณะทำงานการบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายปกครองหรือตำรวจครั้งที่ 2 ลงวันที่ 5 มี.ค. 2565และประกาศคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และ การมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ตั้งคณะทำงานศึกษาการบังคับใช้กฎหมายของ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยผู้ต้องหามีตำแหน่งรองประธานคนที่ 2 เท่านั้น แต่ไม่ปรากฎรายละเอียดที่แสดงว่าผู้ต้องหาติดประชุมในวันที่ 11 มี.ค. 2565 ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด

ทั้งนี้ผู้ร้องยังได้ตรวจสอบเว็บไซต์คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ก็ไม่พบว่ามีการนัดประชุมในวันที่ 11 มี.ค.นี้

ศาลจึงเห็นว่า ข้อกล่าวอ้างของผู้ต้องหาที่ไม่มาพบผู้ร้องในวันที่ 11 มี.ค.65 ตามหมายเรียกโดยอ้างเหตุว่าติดประชุมไม่อาจรับฟังได้ เนื่องจากไม่ปรากฏรายละเอียดที่แสดงว่าผู้ต้องหาติดประชุมตามที่กล่าวอ้าง และส่อไปในทางบ่ายเบี่ยงไปเรื่อย ๆ เพื่อไม่มาตามหมายเรียก ถือว่าเป็นการไม่มาตามหมายเรียกโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควรและให้สันนิษฐานว่า ผู้ต้องหาจะหลบหนี เมื่อได้ความว่าผู้ร้องมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ฯ จึงเป็นกรณีที่มีหลักฐานตามสมควรว่าผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนีไม่ยอมมาพบผู้ร้องตามหมายเรียก

ดังนั้นศาลอาญาตลิ่งชันจึงอนุญาตให้ออกหมายจับผู้ต้องหาตามขอ และเมื่อจัดการตามหมายจับได้แล้วให้ส่งบันทึกการจับกุมต่อศาลภายใน 7 วัน

ต่อมาวันที่ 17 มี.ค.65 นายรังสิมันต์ ผู้ต้องหา มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมกรณีการขอออกหมายจับยื่นถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาตลิ่งชัน ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาฯ พิจารณาทุกประการแล้วเห็นว่าพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้ออกหมายจับเมื่อวันที่ 14 มี.ค.65 ศาลได้ไต่สวนพยานบุคคล พยานหลักฐานต่างๆ รวมทั้งพยานเอกสารคำร้องขอความเป็นธรรม แล้วมีคำสั่งในวันที่ 15 มี.ค.65  ให้ออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำขอ