เจาะลึกสายสัมพันธ์อินโดฯ-รัสเซีย ปชช.แห่หนุน “ปูติน” สู้ “เซเลนสกี ” ยกเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง เฉียบขาด!

1637

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2565 อัลจาซีรา สื่อดังของตะวันออกกลาง ได้ออกมารายงานจับกระแสโลกออนไลน์ของอินโดนีเซียที่มีต่อศึก รัสเซีย-ยูเครน พบว่าคนจำนวนมากกลับหนุนรัสเซีย และประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แม้ว่ารัฐบาลอินโดฯ จะลงมติร่วมประณามรัสเซียในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ

โดยสื่อตะวันออกกลาง เปรียบเทียบว่ากระแสดังกล่าวเหมือนกับละครทีวียอดนิยมของชาวอินโดฯ เมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ เป็นเรื่องหญิงคนหนึ่ง และสามีผู้ซื่อสัตย์ ทั้งสองหย่าร้างกัน ฝ่ายสามีตกลงที่จะจ่ายหนี้ให้ภรรยา หลังจากยอมให้ภรรยาได้สิทธิดูแลลูก 3 คน

แต่เมื่อมีเพื่อนบ้านที่ฐานะร่ำรวยเข้ามาแทรกกลาง ล่อลวงจีบฝ่ายหญิง ทำให้อดีตสามีโกรธมาก และนำลูกคนหนึ่งไปเลี้ยงเอง ส่วนลูกอีกสองคนขอให้พ่อเข้ามาควบคุมแม่ ชาวอินโดฯติดตามข่าวรัสเซีย-ยูเครน ราวกับละครเรื่องนี้ รัสเซียเป็นฝ่ายสามี ยูเครนเป็นภรรยา เพื่อนบ้านที่ร่ำรวยคืออเมริกา ส่วนลูกทั้งสาม คือ ไครเมีย โดเนตสก์ และลูฮันสก์ แคว้นที่ตีจากยูเครนไปอยู่กับรัสเซีย

ทั้งนี้เรื่องราวนี้ดังกล่าวปรากฏทางโซเชียลเว่ยป๋อของจีนก่อน ช่วงที่รัสเซียเริ่มยกทัพบุกยูเครน แต่กระแสแห่ขานรับปรากฏทางโซเชียลวอตส์แอปป์ของอินโดฯ และโซเชียลแพลตฟอร์มอื่น ๆ รวมถึง ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก เป็นการแสดงท่าทีของชาวอินโดฯ จำนวนมากที่สนับสนุนรัสเซีย จนนำมาสู่การวิเคราะห์ว่า สายสัมพันธ์ของอินโดนีเซียและรัสเซีย ว่าเหตุใด ประชาชรจำนวนมาของอินโดฯนั้น ถึงให้การสนับสนุนและยกย่องชมปูติน มากกว่าที่จะเดินตามเกมของสหรัฐฯ ร่วมคว่ำบาตรารัสเซีย

โดยกลุ่มหนุนรัสเซีย ใช้มีมและภาพของศึกครั้งนี้เชื่อมโยงกับชาวอินโดนีเซีย จัดภาพให้รัสเซียเป็นตัวละครสามีที่ยึดมั่นในหน้าที่ ต้องเอาชนะยูเครน ซึ่งเปรียบเหมือนภรรยาเก่าที่เอนเอียงไปหายุโรป และใช้ลูก ๆ ซึ่งเปรียบกับชนกลุ่มน้อยชาวรัสเซีย เป็นตัวประกัน จากผลของการสร้างภาพนี้ขึ้นมา ทำให้จุดยืนของชาวอินโดฯ แตกเป็นฝ่ายที่แสดงออกอย่างเป็นทางการ กับฝ่ายโซเชียลมีเดียที่เห็นอกเห็นใจรัสเซีย ถ้าไม่ถึงกับหนุนก็ตาม

มีรายงานว่า ชาวอินโดฯไม่เชื่อใจสหรัฐ แม้ว่ารัฐบาลอินโดฯ จะร่วมโหวตประณามรัสเซียในที่ประชุม UNGA อีกทั้งยังสนับสนุนให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจัดตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยูเครน แต่สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ชาวอินโดฯ ส่วนหนึ่งไม่ชอบสหรัฐอเมริกา แม้ว่าก่อนหน้านี้ คนกลุ่มนี้เคยประท้วงรัสเซียที่ก่อศึกในเชชเนีย และยังไปร่วมรบในซีเรีย ความไม่เชื่อใจสหรัฐของชาวอินโดฯ เพิ่มพูนขึ้นมาในช่วงเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยาฯ หรือ 9/11 เมื่อปี 2544

รวมไปถึงรัสเซียวางตัวเป็นมิตรกับอินโดฯด้วย ที่ผ่านมารัสเซียมีการตั้งศูนย์วัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ในกรุงจาการ์ตา ตั้งเวอร์ชั่นภาษาอินโดนีเซียในเว็บไซต์ Beyond the Headlines พร้อมให้ทุนนักศึกษาอินโดฯ ไปเรียนด้านรัสเซียศึกษาที่มหาวิทยาลัยของอินโดนีเซีย มีประชากรส่วนใหญ่มองว่า ปูตินตัดสินใจแน่วแน่ เฉียบขาด ดุดัน วัฒนธรรมการเมืองของอินโดฯ ชอบคนทรงอิทธิพลอำนาจ อีกทั้งยังไม่ชอบกระบวนการประชาธิปไตย หลายคนเห็นสิ่งนี้ในตัวปูติน ไม่ใช่คนอย่างนายโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ซึ่งมีบุคลิกถูกวิจารณ์ว่าเป็นหุ่นเชิดของกองกำลังภายนอกประเทศ ชาวอินโดฯจำนวนมากรู้สึกเชื่อมโยงกับปูตินมากกว่า เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ที่เคยเป็นนักแสดงตลกและเคยชนะการประกวดเต้นรำ ปูตินถูกมองว่าเป็นคนน่าทึ่ง เข้มแข็ง และมีคนมากมายชอบผู้นำลักษณะนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประชากรและชาวโซเชียลในอินโดฯส่วนใหญ่ จะเชียร์ปูติน ให้สามารถจัดการปมร้าวระหว่างยูเครนให้ได้