คลื่นเศรษฐกิจดิจิทัลแรง!! ธปท.ยกระดับกำกับดูแลธุรกิจดิจิทัล คุมเข้มสินทรัพย์เสี่ยง ยืดหยุ่นการลงทุนฟินเทค

938

ธปท. ปรับแนวทางกำกับดูแลกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ผ่อนคลายธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำเป็นประโยชน์โดยรวมกับธนาคารและลูกค้า และเข้มงวดธุรกิจที่มีความเสี่ยง พร้อมส่งเสริมการพัฒนาบริการผ่านเทคโนโลยี ยกระดับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดย ยกเลิกเพดานการลงทุนในธุรกิจ FinTech แต่คุมเข้มกำกับดูแล การลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลต้องไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน

วันที่ 24 มี.ค.2565 นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายใต้แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (แนวนโยบาย Financial Landscape)  ที่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้ภาคการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่ดีขึ้น และสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงใหม่ๆ ได้อย่างเหมาะสมนั้น 

ที่ผ่านมาเทคโนโลยีในภาคการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) เริ่มปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงิน (กลุ่ม ธพ.) และให้ความสนใจกับการเพิ่มบทบาทในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (digital assets : DA) มากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสในการยกระดับการให้บริการทางการเงิน แต่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงรูปแบบใหม่ๆ ธปท. จึงได้ปรับปรุงเกณฑ์ให้กลุ่ม ธพ. มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการประกอบธุรกิจ และยกระดับการกำกับกลุ่ม ธพ. ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป โดยพิจารณาทั้งประโยชน์ต่อประชาชนและความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1.ยกเลิกเพดานการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) จากเดิมกำหนดไว้ที่ 3% ของเงินกองทุน เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้มากขึ้น

2.ให้บริษัทในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้ภายใต้เพดานที่ 3% ของเงินกองทุน เพื่อให้การขยายตัวเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ช่วยจำกัดความเสี่ยงใหม่ๆที่อาจกระทบความเชื่อมั่น และเมื่อมีมาตรฐานการที่เป็นสากลหรือมีแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่ชัดเจนเพียงพอ จะสามารถปรับเพิ่มหรือยกเลิกเพดานการลงทุนที่กำหนดได้ เช่นเดียว FinTech

3.หากธนาคารพาณิชย์ยกระดับมาตรฐานของกิจการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ลงทุนให้เป็นไปตามที่กำหนดได้ เช่น เรื่องธรรมาภิบาลการดูแลความเสี่ยงระบบงาน และการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ธปท.จะอนุญาตให้ไม่นับเงินลงทุนของกิจการนั้นในเพดานการลงทุน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการยกระดับมาตรฐานธุรกิจ

4.สำหรับธุรกิจที่ยังมีความเสี่ยงหรือยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลให้ดำเนินงานในกรอบ Sandbox ได้ในวงจำกัดก่อน

5.ให้ธนาคารพาณิชย์จำกัดความเสี่ยงจากความเชื่อมโยงที่อาจเกิด เพื่อให้การทำธุรกิจใหม่ๆไม่กระทบผู้ฝากเงินและระบบการเงิน

ธปท. เชื่อว่าการปรับเกณฑ์ดังกล่าวจะเอื้อให้ ธุรกิจในภาคการเงินสามารถปรับตัวได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ระบบการเงินได้รับประโยชน์จากการแข่งขัน เกิดการพัฒนาบริการให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน และทำให้ธุรกิจ DA ในประเทศมีมาตรฐานการบริการที่เป็นที่ยอมรับ 

ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่ดี ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับผลลัพธ์ที่คาดหวัง รวมทั้งผลการรับฟังความคิดเห็นต่อแนวนโยบาย Financial Landscape ทั้งนี้ ธปท. จะออกร่างหลักเกณฑ์เพื่อรับฟังความเห็นบน BOT website ก่อนที่จะออกประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องภายในครึ่งแรกของปี 2565