การบินไทยเขย่าแผนฟื้นฟู!?! ปรับองค์กรต้องรอด ลุยธุรกิจนอนแอร์โรว์เก็บเงินสด

2311

บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 14 ก.ย.2563 โดยมีกำหนดที่จะส่งแผนฟื้นฟูกิจการให้ศาลพิจารณาในไตรมาส 4 ปี 2563 และจะเสนอแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการในไตรมาส 1 ปี 2563 ซึ่งที่ผ่านมานายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการบริษัทและ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย มีเป้าหมายให้การบินไทยกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติ พลิกฟื้นองค์กรได้ภายใน 5 ปีหลังจากเริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ท่ามกลางการลุ้นเอาใจช่วย ให้สายการบินแห่งชาตินี้ฟื้นคืนชีวิตอีกครั้ง

ชาญศิลป์บอกว่า ส่วนของพนักงานก็ต้องขอให้ช่วยเหลือบริษัทในการช่วยหารายได้ทุกวิถีทาง และหากจำเป็นต้องตัดอะไรบางอย่างออกไปเพื่อรักษาชีวิต เราก็ต้องทำเพื่อให้อยู่รอด เพื่อให้แผนฟื้นฟูผ่านได้เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้เห็นว่าเขาพร้อมจะลดหนี้, ยืดหนี้ให้ เราจะมีกระบวนการสำหรับการวางแผนเหล่านี้”

ล่าสุดจากแผนการเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย ได้จัดทำแผนงานเปิดโครงการ พนักงานสมัครใจลดเงินเดือนและ “ร่วมใจจาก” หวังพยุงสภาพคล่องให้อยู่ได้ถึงไตรมาสแรกปี 2564

โครงการรวมใจจากองค์กร : Mutual Separation Plan;MSP จะประกาศให้พนักงานทราบวันที่ 16 ต.ค.2563 ผ่อนจ่ายชดเชยระยะยาว หรือแบ่งจ่าย ตั้งเป้าหมายพนักงานเข้าร่วม 1,000-1,200 คน จากพนักงานทั้งสิ้น 1.9 หมื่นคน

สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการเบื้องต้นกำหนดไว้ 5 แนวทาง คือ

1.การปรับโครงสร้างหนี้และการเจรจาเจ้าหนี้ 2.การปรับเส้นทางการบินและฝูงบิน 3.การปรับหน่วยธุรกิจให้คล่องตัวในการหารายได้ 4.การปรับกลยุทธ์การพาณิชย์และการหารายได้ 5.การปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับขึ้นและลดงานซ้ำซ้อน

Thai Smile ได้ไปต่อ

ชาญศิลป์กล่าวว่า “Thai Smile กับการบินไทยเป็นอันเดียวกัน เพราะการบินไทยถือ 100% ตั้งมาเกือบสิบปีก็เพื่อจะให้ Thai Smile บินด้วยต้นทุนที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับการบินไทย เป็น Fighting  Brand ในตลาดในประเทศ  หากไม่เอาขาดทุนเก่ามารวม Thai Smile ก็มี contribution margin ที่ดี เป็นสายการบินที่ระดับกลางและบนยอมรับในเรื่องการบิน การบริการ การทำ full service”

“เราก็พยายามจะเติมบริการที่น่ารักมากขึ้นอีกต่อไป ส่วนใหญ่ก็บินในประเทศและในอินโดจีน โดยสามารถรักษามาตรฐานที่สูงของการบินไทยเอาไว้”นั่นหมายความว่า Thai Smileจะอยู่ในแผนฟื้นฟูต่อไป ทั้งนี้ Thai Smile เป็นบริษัทต่างหาก ได้รับการจดทะเบียนและได้สิทธิ์การบินของตน นักบินก็ยังต้องมีการบินเหมือนเดิม Thai Smile จึงยังต้องบินต่อ แต่เราก็มีความสัมพันธ์กันอย่างดี ก่อนโควิดก็วางแผนร่วมมือกันในเรื่องเที่ยวบินเชื่อมต่อกัน การบินไทยบินด้วยเครื่องบินตัวกว้าง ผู้โดยสาร 300-500 คน มาลงสุวรรณภูมิแล้ว Thai Smile ก็มารับต่อไปต่างจังหวัด”

คนคือปัจจัยความสำเร็จ-Survival Team:ทีมต้องรอดให้ได้

“คนที่จะขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้ต้องมาจากเนื้อใน เหล็กจะแข็งก็ต้องแข็งจากเนื้อใน และเหล็กจะหักก็หักจากสนิมข้างในเหมือนกัน” รักษาการดีดีฯกล่าวไว้ ทีมต้องรอดให้ได้จึงมีภารกิจหลัก 3 เรื่องคือ

-หาทางลดค่าใช้จ่าย คือทำให้ต้นทุนต่ำลงได้อย่างไร 

-ทำรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นได้อย่างไร

-สร้างระบบงานที่คล่องตัวขึ้น ลดระบบราชการลงได้อย่างไร

ธุรกิจนอนแอร์โรว์มีแวว-ไม่บินก็มีรายได้

เพื่อสร้างรายได้ต่อเนื่อง การปรับหน่วยธุรกิจให้คล่องตัวในการหารายได้แบบนอนแอโรว์จะครอบคลุม 3 ธุรกิจที่มีศักยภาพของการบินไทย คือ ครัวการบิน ฝ่ายช่าง และขนส่งสินค้า (คาร์โก้)

นางวรางคณา ลือโรจน์วงศ์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายครัวการบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้ทุกธุรกิจต้องปรับตัวรับกับความปกติใหม่ หรือ New normal ซึ่งในส่วนของอุตสาหกรรมการบิน ต้องปรับตัวหารายได้ทดแทนจากการหยุดทำการบิน ครัวการบินไทยจึงเล็งเห็นถึงโอกาสของการเพิ่มรายได้จากที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Non-Aeronautical Revenue) เร่งเพิ่มรายได้จากการเจาะตลาดลูกค้าภาคพื้นให้มากขึ้น

นางวรางคณา กล่าวว่า การปรับตัวของครัวการบินในครั้งนี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของอีกหลายหน่วยธุรกิจในการบินไทย หรืออีกหลายธุรกิจที่จะนำไปต่อยอด เพื่อปรับตัวหารายได้ในช่วงวิกฤติ โดยครัวการบินไม่ได้มองว่าวันนี้เรามีคู่แข่งทางธุรกิจ แต่กลับมองว่าทุกรายคือพันธมิตรที่สามารถช่วยเหลือกันได้ 

ทั้งนี้ หน่วยธุรกิจอื่นของการบินไทยเองในปัจจุบันได้เริ่มปรับตัวหารายได้เพิ่มจากธุรกิจนอนแอร์โร เช่น ฝ่ายช่าง ได้เปิดโปรแกรมทดลองบินกับเครื่องฝึกบินจำลอง (Flight Simulator) เมื่อเดือน ก.ย.2563 เพื่อเสริมรายได้ให้องค์กรในช่วงที่ยังไม่ได้ทำการบินตามปกติ

“คาดการณ์ว่าภายใน 5 ปีหลังจากนี้ ธุรกิจนอนแอร์โรของการบินไทย ประกอบด้วย ครัวการบิน ฝ่ายช่าง และขนส่งสินค้า (คาร์โก้) จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ให้กับองค์กร จากปัจจุบันคิดเป็น 15% ของรายได้รวม จะเพิ่มเป็น 50% ของรายได้รวม”นางวรางคณา กล่าว

โดยประมาณการณ์เบื้องต้น ขณะนี้รายได้จากธุรกิจครัวการบิน เฉลี่ยอยู่ที่ราวปีละ 1 หมื่นล้านบาท จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่รายได้จากฝ่ายช่าง ปัจจุบันมี 1.5–2 หมื่นล้านบาท และคาร์โก้ รายได้ราว 2 หมื่นล้านบาท รวมรายได้จาก 3 หน่วยธุรกิจมีประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งเชื่อว่าทุกหน่วยธุรกิจก็คาดหวังในการเพิ่มรายได้โตเป็นเท่าตัวเช่นเดียวกัน

ส่วนรายได้ครัวการบินปี 2562 อยู่ที่ราว 8.5 พันล้านบาท ซึ่ง 90% มาจากลูกค้าสายการบิน และ 10% ลูกค้าภาคพื้น โดยสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบรายได้ลูกค้าสายการบินหายไปทั้งหมด แต่จากการปรับตัวของครัวการบิน หันมาเพิ่มรายได้จากภาคพื้น ส่งผลให้รายได้ภาคพื้นจากเดิมคิดเป็น 10% ปัจจุบันเพิ่มสัดส่วนมาอยู่ที่ 20% และคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 30% ส่งผลให้รายได้ครัวการบินในปีนี้ น่าจะอยู่ที่ราว 2 พันล้านบาท

ขณะที่ปี 2564 จากการปรับกลยุทธ์เพิ่มรายได้ภาคพื้นผ่านแผนขยายสาขาเฟรนไชส์ทุกแบรนด์ให้ได้รวม 700 สาขา ครัวการบินจึงคาดการณ์ว่าจะเพิ่มรายได้อีกไม่ต่ำกว่า 3.5 พันล้านบาท ทั้งนี้ การหารายได้ที่เกิดขึ้นจากธุรกิจนอนแอร์โรว์ แม้ว่าจะเป็นสัดส่วนไม่สูงนัก หากเทียบกับรายได้รวมของการบินไทย แต่ครัวการบินมองว่าในช่วงวิกฤตที่ไม่สามารถทำการบินได้เช่นนี้ การนำเงินมาหมุนเวียนในองค์การเป็นประโยชน์สูงสุด และครัวการบินสามารถหารายได้เข้าองค์การได้ทุกวัน โดยเป็นรายได้เงินสด ซึ่งสามารถเพิ่มสภาพคล่องให้การบินไทยได้

จากความสำเร็จของการเปิดให้บริการภัตตาคาร Royal Orchid Dining Experience แห่งแรกที่สำนักงานใหญ่การบินไทย ครัวการบินจึงเพิ่มสาขาที่ 2 คือ สำนักงานการบินไทยที่สีลม และเตรียมขยายแห่งที่ 3 ที่สำนักงานหลานหลวง อีกทั้งยังมีแผนขยายภัตตาคารดังกล่าวไปยังหัวเมืองใหญ่ อาทิ เชียงใหม่ กระบี่ และภูเก็ต เป็นต้น

นอกจากนี้ ครัวการบินยังมีแผนเปิดภัตตาคารดังกล่าวในต่างประเทศ ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 คลี่คลาย โดยเบื้องต้นมีแผนเปิดให้บริการในเมืองหลัก เช่น ลอนดอน โตเกียว และหลายเมืองในจีน โดยรูปแบบของภัตตาคารจะเน้นให้บริการอาหารไทย เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่อยากสัมผัสความเป็นไทย ด้วยอาหารคุณภาพ และบริการแบบไทยๆ  ขณะเดียวกัน ปัจจุบันครัวการบินยังอยู่ระหว่างจัดทำแผนขยายสาขาแบรนด์พัฟแอนด์พาย ซึ่งเป็นแบรนด์หลักในด้านอาหารและขนมของครัวการบิน ปัจจุบันมี 30–40 จังหวัดที่ยังไม่มีสาขา โดยรูปแบบของการขยายธุรกิจจะเน้นใช้ตัวแทนจำหน่าย หรือเฟรนไชส์ เบื้องต้นมีเป้าหมายขยายสาขาเพิ่มขึ้น 500 สาขา เพื่อสร้างรายได้เพิ่มราว 500 ล้านบาทต่อปี