นักวิชาการดัง ยกแหล่งข่าวนายทหารเรือ ลั่นไทยไม่ยอมตะวันตก หลอกให้ลดกำลังทหาร ซ้ำรอยยูเครน!
จากกรณีที่วันนี้ (23 มีนาคม 2565) นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณี เศรษฐกิจพอเพียง-เรือดำนำของไทย กับสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยบอกว่า แหล่งข่าวอีกแห่งของผมจากเพื่อนนายทหารเรือไทย วิเคราะห์เอาไว้ว่า กองทัพรัสเซียยึดเมืองที่อยู่ตามชายทะเลดำตลอดแนวจรดถึงประเทศมอลโดวาแล้ว ตามรูปการณ์ดูคล้ายว่ารัสเซียวางแผนเอาไว้ ว่าจะเตรียมการยกพลขึ้นบกขนานใหญ่จากเรือรบทางทะเลดำ และปิดทางออกทางทะเลของยูเครนโดยสิ้นเชิง
โดยรัสเซียได้วางกำลังเรือผิวน้ำขนาดใหญ่หลายลำไว้ในทะเลดำ เพื่อใช้เป็นฐานยิงอาวุธประเภทจรวดร่อน Cruise Missile จากเรือผิวน้ำในทะเลดำไปโจมตีภาคพื้นดินที่อยู่เหนือแหลมไครเมีย และเชื่อได้ว่ารัสเซียน่าจะมีเรือดำน้ำแอบซุ่มอยู่ใต้ทะเลดำด้วย
หากย้อนไปในอดีต เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายใหม่ๆ ยูเครนเป็นรัฐเอกราชที่มีแสนยานุภาพทางทหารที่เป็นที่น่าหวั่นเกรงของนานาประเทศ โดยมีขีปนาวุธนิวเคลียร์จำนวนมาก อาจจะเป็นอันดับ 3 ของโลกในขณะนั้น แต่ยูเครนกลับถูกประเทศมหาอำนาจตะวันตกหว่านล้อมให้ปลดอาวุธนิวเคลียร์ โดยยื่นข้อเสนอว่า จะให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ประธานาธิบดีของยูเครนในอดีตก็หลงกล ปลดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งทำให้ยูเครนสูญเสียพลังอำนาจในการต่อรองไปอย่างไม่น่าให้อภัย
นอกจากขีปนาวุธนิวเคลียร์แล้ว เรือดำน้ำก็ถือเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญเช่นกัน ถือว่าเป็นแสนยานุภาพที่ร้ายกาจมากพอที่จะช่วยป้องปราม เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดความยับยั้งชั่งใจก่อนการตัดสินใจใช้กำลังทางทหาร
ถ้ายังนึกภาพไม่ออก ผมก็ขอยกตัวอย่างง่ายๆ เวลานักเลงปากซอยจะตีกัน ถ้าฝ่ายเขามีปืนกันทุกคนและฝ่ายเราก็มีปืนกันทุกคน ต่างฝ่ายย่อมจะคิดให้ดีก่อนจะลงมือ แต่ถ้าฝ่ายเขามีปืน แต่ฝ่ายเราไม่มี เขาก็ชักปืนยิงเราโดยไม่ต้องคิดอะไรเลย เป็นที่น่าเสียดาย ที่เรือดำน้ำเพียงหนึ่งลำของยูเครน ถูกรัสเซียยึดไปในช่วงที่รัสเซียผนวกแหลมไครเมียเมื่อปี พ.ศ.2557 ถือได้ว่าเป็นการสูญเสียกำลังทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญไปอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นในสถานการณ์นี้ รัสเซียก็ไม่มีความกังวลอะไรเมื่อคิดจะบุกยูเครน เพราะยูเครนหมดอำนาจต่อรองกับรัสเซียไปนานแล้ว เหมือนกับมวยที่หมดทางสู้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มชก
ล่าสุดในเวลานี้ ถือได้ว่ารัสเซียได้ยึดครองทะเลดำได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว และจากนั้นจะเริ่มต้นกระบวนการจัดระเบียบดินแดนใหม่ โดยยึดพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกและทางใต้ของยูเครน แล้วให้แยกเป็นรัฐเอกราชออกจากยูเครน เพื่อสร้างเป็นรัฐกันชน โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย แล้วปล่อยให้ยูเครนเหลือเพียงดินแดนฝั่งตะวันตกเท่านั้น เป็นการสั่งสอนยูเครนด้วยการตัดแขนตัดขาจนยูเครนหมดพิษสง ไม่สามารถเป็นภัยคุกคามของรัสเซียได้อีกต่อไป ซึ่งถือได้ว่าเป็นสุดยอดกลยุทธ์ด้วยชั้นเชิงที่เหนือเมฆมากเกินกว่าที่ใครจะคาดถึง ขณะนี้สหรัฐฯและอังกฤษ เสนอให้เซเลนสกี้ลี้ภัยแล้ว จึงทำให้ค่อนข้างชัดเจนว่าสงครามจะไม่ยืดเยื้อ
แม้สหรัฐฯ จะเรียกร้องให้นานาประเทศร่วมกันคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย แต่ก็ยังมีหลายประเทศ รวมทั้งบริษัทต่างชาติอีกหลายแห่ง กลับยังไม่กล้าแซงก์ชั่นรัสเซีย เนื่องด้วยสาเหตุอะไร ถ้าไม่ใช้แสนยานุภาพทางการทหารของรัสเซีย และพลังงานที่ประเทศตะวันตกต้องพึ่งพา แล้วหันมาดูบ้านเรา แม้ว่าเราจะมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และทางการทูตในระดับหนึ่งแล้ว แต่แสนยานุภาพทางการทหารของไทย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จะสามารถช่วยส่งเสริมและสนับสนุนเสถียรภาพทางการเมือง อำนาจการต่อรองทางการทูต และความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้หรือไม่
อ่าวไทย เห็นตัวอย่างที่ยูเครนโดนประเทศมหาอำนาจตะวันตกหลอกให้ปลดอาวุธ ลดแสนยานุภาพทางทหารแล้วทำให้คิดถึงม็อบและพรรคการเมืองไทยที่อยู่เบื้องหลังม็อบที่ออกมากดดันให้รัฐบาลลดกำลังพล ยกเลิกการสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งเรือดำน้ำหรือไม่ ขอถือโอกาสเล่าถึงความสำคัญของการปกป้องอ่าวไทย ท่านทั้งหลายเคยคิดกันบ้างหรือไม่ว่า สินค้าอุปโภคบริโภคที่นำเข้าเพื่อปากท้องของคนในประเทศและสินค้าส่งออกซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง ส่วนใหญ่ขนส่งโดยใช้เส้นทางน้ำผ่านอ่าวไทยและทะเลอันดามันเป็นหลัก ความปลอดภัยของเรือสินค้าและเรือขนส่งน้ำมัน ที่ผ่านเข้าออกอ่าวไทยและทะเลอันดามันขึ้นอยู่กับอะไร ถ้าไม่ใช่แสนยานุภาพของกองทัพเรือ
มีกลุ่มคนบางกลุ่มพูดว่า สงครามไม่มีวันเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน แต่ตอนนี้คงได้คำตอบแล้วว่าสงครามเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่ถ้าเรายกเรื่องสงครามออกไป แสนยานุภาพทางการทหาร รวมทั้งเรื่องของเรือดำนำ ก็ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดของชาติ ขอยกตัวอย่างเรื่องการขนส่งข้ามประเทศเพียงเรื่องเดียว การขนส่งข้ามประเทศในปัจจุบันนี้มีความสะดวกรวดเร็ว อีกทั้งยังมีทางเลือกในการบริการหลากหลายขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางอากาศ หรือทางเรือก็ตาม แต่การขนส่งทางเรือนั้นมีมาอย่างช้านาน ตั้งแต่สมัยยังไม่มีเครื่องบิน โดยการขนส่งทางเรือ มีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการขนส่งทุกประเภท และการขนส่งสินค้าทั่วโลกกว่า 95% เป็นการขนส่งทางเรือผลประโยชน์จากการขนส่งทางเรือเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ที่มีผลโดยตรงต่อปากท้องของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ
ท่านเห็นหรือไม่ว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้น้ำมันราคาแพงขึ้นในทันตาขนาดไหน แล้วทราบกันหรือไม่ว่า ถ้ามีใครก็ตามนำเรือดำน้ำเข้ามาเพียง 2 ลำ ก็สามารถปิดอ่าวไทยได้สนิทแล้ว โดยไทยไม่มีโอกาสตอบโต้ใดๆ เลย เพราะเรายังไม่มีเรือดำนำ ที่จะเอาไว้รบหรือเอาไว้ขู่ศัตรู นอกจากนี้ น้ำมันสำรองที่เรามีในประเทศนั้น มีใช้ได้เพียง 66 วันเท่านั้น ลองคิดดูว่าจะเกิดความวุ่ยวายอะไรขึ้น ความมั่งคงทางด้านพลังงานคือความมั่งคงของชาติ
ในอดีตอ่าวไทยก็เคยถูกปิดด้วยเรือดำน้ำต่างชาติ และเรือสินค้าก็เคยถูกยิงจมมาแล้วในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ถ้าอ่าวไทยถูกปิดอีกครั้ง หรือมีการจมเรือขนส่งน้ำมันหรือเรือสินค้าอีก ก็จะไม่มีใครกล้าผ่านอ่าวไทย ผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนในชาติ อุตสาหกรรม และการพาณิชย์จะเป็นอย่างไร ท่านทั้งหลายคงพอจะจินตนาการได้
ทรัพยากรแสนล้านใต้อ่าวไทย จะให้ใครดูแล ถ้าไม่ใช่กองทัพเรือ เมื่อปี พ.ศ.2515 ได้มีการสำรวจพบว่า ใต้ทะเลทางตอนใต้ของไทยและทางเหนือของมาเลเซีย เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาล ทั้งไทยและมาเลเซียต่างก็อ้างสิทธิในพื้นที่ทางทะเลดังกล่าว จนเกิดข้อโต้แย้งกันขึ้น และมีการตั้งโต๊ะเจรจาอย่างจริงจัง ซึ่งการเจรจาในครั้งนั้นจบลงด้วยการใช้วิธีการลากเส้นตั้งฉากจากแนวโค้งของแผ่นดินของแต่ละฝ่ายตามหลักสากล ซึ่งทำให้พื้นที่แหล่งก๊าซธรรมชาติกลายเป็นของมาเลเซียทั้งหมด
แต่แล้วความโชคดีของไทยก็มาเยือน เมื่อเราพบ“เกาะโลซิน”ซึ่งเป็นกองหินใต้ทะเล คล้ายกับภูเขาหินขนาดย่อม ที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาเพียง 10 เมตร และมีฐานกองหินใต้ผืนน้ำกว้างประมาณ 50 ตารางเมตร ไม่มีหาดทราย ไม่มีต้นไม้ใดๆ ทั้งสิ้น มีเพียงประภาคารตั้งโดดเด่นเป็นจุดสังเกตแก่นักเดินเรือเท่านั้น เกาะโลซิน ที่ทางการไทยยืนยันว่าได้ก่อสร้างประภาคารไว้บนเกาะหินแห่งนี้ เพื่อแสดงอาณาเขตมาเนิ่นนานแล้วนั้น ได้กลายมาเป็นตัวช่วยสำคัญ เนื่องจากตามอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล เกาะโลซินถือเป็นจุดอ้างอิงในการประกาศน่านน้ำอาณาเขต จากเกาะโลซินออกไป 200 ไมล์ทะเล ซึ่งครอบคลุมพื้นที่แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญอย่างก๊าซธรรมชาติ
จึงทำให้ทั้งสองประเทศต้องลงนามในสัญญาพื้นที่พัฒนาร่วม (JDA) ซึ่งสัญญานี้จะสิ้นสุดลงในอีก 6 ปี คือ ปี พ.ศ.2571 เมื่อถึงเวลานั้น เราก็ไม่อาจมั่นใจได้ว่า ความขัดแย้งเรื่องทรัพยากรใต้ทะเลเช่นในอดีตจะไม่เกิดขึ้นอีก และหากความขัดแย้งเกิดขึ้น ไทยจะใช้อะไรเพื่อเพิ่มอำนาจการเจรจาต่อรองทางการทูต
แหล่งก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาลนับแสนล้านนี้จะมอบความไว้วางใจให้ใครดูแล ถ้าไม่ใช่กองทัพเรือ แล้วแสนยานุภาพทางเรือของเราพร้อมขนาดไหน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีเรือดำน้ำทุกประเทศ แต่เรายังไม่มีแม้แต่ลำเดียว มีเพียงการสั่งต่อเรือดำน้ำเพียง 1 ลำ เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพออย่างแน่นอน นอกจากนั้น ยังถูกการเมืองเล่นงานอยู่ตลอดเวลา
เราอยากให้ประเทศไทยของเราเป็นอย่างยูเครนหรือ ที่ถูกประเทศมหาอำนาจตะวันตก หลอกให้ลดแสนยานุภาพทางการทหาร จนหมดอำนาจในการต่อรองและอำนาจในการปกป้องทรัพยากรของประเทศ อย่างนั้นหรือ?
เราอยากให้อธิปไตยและความมั่นคงของชาติถูกกำหนดด้วย ข้อมูลที่บิดเบือนและเกมส์การเมืองอย่างนั้นหรือ?
อ่านมาจนจบแล้ว ท่านยังคิดว่า เราไม่ควรมีเรือดำน้ำ หรือเราควรจะมีอย่างน้อย 3 ลำ สำหรับอ่าวไทย โดยใช้งาน 1 ลำ เตรียมพร้อม 1 ลำ ซ่อมบำรุง 1 ลำ และเราควรจะต้องปกป้องเส้นทางเดินเรือและทรัพยากรทางฝั่งทะเลอันดามันด้วยหรือไม่