รมว.ต่างประเทศตุรกีเผย “รัสเซีย-ยูเครน” ใกล้เจรจากันได้ เปิด 4 ข้อสำคัญในการตกลงหยุดโจมตี!?

850

หลังจากประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ออกมาเปิดเผยถึงสงครามภายในประเทศ ซึ่งยืดเยื้อตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา จากปฏิบัติการทางทหารของกองทัพรัสเซีย ว่าหนทางเดียวที่จะยุติความรุนแรงนี้ได้ คือการที่เขาต้องได้เข้าพบกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย และหากมีข้อตกลงใดก็ตามที่จะเกิดขึ้น ต้องผ่านการลงประชามติจากประชาชนในประเทศด้วย

 


ขณะที่เมฟลุต คาวูโซกลู รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศตุรกี ซึ่งรับหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครน ระบุว่าทั้งสองฝ่ายใกล้จะบรรุลข้อตกลงกันได้ในประเด็นสำคัญ ๆ และคาดว่าจะมีการหยุดยิงเร็ว ๆ นี้หากทั้ง 2 ฝ่ายไม่ละทิ้งความคืบหน้าที่ได้พยายามกันมา

ด้านเซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย และดมิโตร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ได้เปิดเจรจาที่เมืองตากอากาศอันตัลยา (Antalya) ในตุรกีเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยมีคาวูโซกลู ร่วมพูดคุยในฐานะคนกลาง แต่ว่าการหารือดังกล่าวไม่บรรลุผลที่เป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม คาวูโซกลู ซึ่งเดินทางไปเยือนทั้งรัสเซียและยูเครนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อพูดคุยกับลาฟรอฟ และคูเลบา ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ ของตุรกีว่า “ทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มที่จะผ่อนปรนจุดยืนในประเด็นสำคัญ ๆ เราคาดหวังว่าจะมีการหยุดยิง ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่ล่าถอยไปจากจุดยืนที่เป็นอยู่ในขณะนี้”

โดยทางด้านอิบราฮิม คาลิน โฆษกประธานาธิบดีตุรกี ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์อัลจาซีราในทำนองเดียวกันว่า รัสเซียและยูเครนมีแนวโน้มที่จะตกลงกันได้ใน 4 ประเด็นหลัก ซึ่งได้แก่

1. การเรียกร้องให้ยูเครน ล้มเลิกความพยายามเข้าเป็นสมาชิกนาโต้

2. ปลดอาวุธ (demilitarization)

3. ละทิ้งความเป็นนาซี (de-nazification)

4. ปกป้องและอนุรักษ์การใช้ภาษารัสเซียในยูเครน

 

สัปดาห์ที่แล้ว ทั้งเคียฟและมอสโกต่างยอมรับว่า “มีความคืบหน้า” ในกระบวนการร่างสูตรทางการเมืองเพื่อการันตีความมั่นคงให้แก่ยูเครน โดยที่ยูเครนเองจะไม่เข้าเป็นสมาชิกนาโต การหยุดยิงอย่างถาวรจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเจรจาโดยตรงระหว่างประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน แต่ขณะนี้ ปูติน ยังมองว่ายูเครนไม่ยอมอ่อนข้อใน “ประเด็นสำคัญทางยุทธศาสตร์” อย่างเรื่องสถานะของไครเมีย และดอนบาสมากพอที่จะเจรจากันได้

รัสเซียได้เข้าผนวกดินแดนแหลมไครเมียเมื่อปี 2014 ขณะที่บางพื้นที่ของภูมิภาคดอนบาสซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทางตะวันออกของยูเครนก็ถูกกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนโปรรัสเซียเข้ายึดครองในปีเดียวกัน

ตุรกีมีพรมแดนฝั่งทะเลดำติดต่อกับทั้งรัสเซียและยูเครน และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้ง 2 ชาติ ขณะที่ประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ก็เอ่ยย้ำหลายครั้งว่า ตุรกีจะไม่ตัดความสัมพันธ์ทั้งกับรัสเซียและยูเครน เพราะการที่อังการาอยู่ในสถานะที่สามารถพูดคุยได้ทั้ง 2 ฝั่งถือว่าเป็น “ทรัพย์สิน” ที่มีค่าอย่างหนึ่ง