ธปท.-หอการค้ามองข้ามช็อต!!ศึกรัสเซีย–ยูเครน ไทยต้องดูแลฐานะการคลัง-ตลาดทุน เร่งสู่พลังงานสะอาดเต็มที่

726

สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ลุกลามเป็นการปะทะระหว่างมหาอำนาจสหรัฐและตะวันตก กับรัสเซียและพันธมิตรตะวันออก ปัจจุบันยังไม่มีทีท่าจะดับลงได้ในเร็ววัน แต่กำลังลุกลามขยายวงส่งผลกระทบไปทั่วโลก ถือเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติของโลกที่ฉุดให้เศรษฐกิจโลกที่กำลังจะฟื้นตัวจากโควิด-19 ต้องดำดิ่งลงอีกครั้ง ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย ได้นำเสนอแนวคิดแบบมองข้ามช็อตวิกฤตที่ยังไม่คลี่คลาย ให้คิดถึงจังหวะก้าวเชิงรุกที่ต้องทำ ท่ามกลางวิกฤติสงครามเศรษฐกิจซ้อนวิกฤตโควิด-19

วันที่ 21 มี.ค.2565 ดร.ฐิติมา ชูเชิด ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย มองผลกระทบจากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่จะกระทบกับประเทศไทยโดยภาพกว้าง และเสนอแนวคิดการเตรียมรับมือกับปัญหาในระยะกลาง และระยะยาวรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่จะเกิดขึ้น

จากสถานการณ์รัสเซียบุกยูเครนที่ปะทุขึ้น สหรัฐฯจับมือชาติพันธมิตรยกระดับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และควบคุมการส่งออกนำเข้าสินค้าพลังงานของรัสเซีย นอกจากนี้ ยังคว่ำบาตรธนาคารกลางรัสเซีย และตัดธนาคารรัสเซียออกจากเครือข่ายการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ จากระบบ SWIFT

รัสเซียก็ตอบโต้ด้วยการปิดท่อการยามาล-ยุโรปไป 1 ท่อและขู่จะตัดส่วนที่เหลือให้หมดไม่ ทำให้ประเทศแถบยุโรปได้รับผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานมากที่สุด เพราะพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียสูงถึง 40% ของความต้องการใช้ ซึ่งต้องนำเข้ามากถึง 90% 

เมื่อเป็นเช่นนี้สหภาพยุโรปจึงเร่งหาทางแก้สถานการณ์กดดันต่อความมั่นคงทางพลังงาน เมื่อวันที่ 8 มี.ค.65 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) เปิดเผยถึงแผน REPowerEU เพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงและการขาดแคลนแหล่งพลังงาน รวมถึงตั้งเป้ายุติการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียภายในปี 2030 พอจะสรุปได้ดังนี้

1.แผนเร่งด่วน ช่วยบรรเทาราคาขายปลีกน้ำมันและช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง โดยใช้กลไกคุมราคาและให้เงินโอนชั่วคราว เพื่อบรรเทาภาระรายจ่ายพลังงานของครัวเรือนรายได้น้อย เกษตรกร และธุรกิจขนาดเล็ก พร้อมสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนใช้พลังงานมีประสิทธิภาพขึ้น นอกจากนี้ จะเร่งจัดหาพลังงานให้พอใช้ในช่วงฤดูหนาว โดยประกาศให้ทุกประเทศเตรียมสะสมพลังงานให้พร้อมเผื่อกรณีเลวร้ายที่ไม่อาจนำเข้าพลังงานจากรัสเซียได้เลย ซึ่งแต่ละประเทศจะต้องสำรองพลังงานให้ได้อย่างน้อย 90% ของศักยภาพการจัดเก็บภายในวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี และสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจเร่งจัดหาพลังงานล่วงหน้าโดยให้คืนภาษีนำเข้าได้ 100%

2.แผนลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลจากรัสเซียภายในปี 2030 โดยกระจายแหล่งจัดหาก๊าซผ่านการนำเข้า LNG และท่อส่งก๊าซจากผู้ผลิตรายอื่น เพิ่มการผลิตพลังงาน biomethane และ renewable hydrogen ทดแทน และลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลในระดับครัวเรือน อาคาร ภาคอุตสาหกรรม และประเทศ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพลังงานสะอาด เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเร่งกระบวนการออกใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เร็วขึ้นอีก

นั่นหมายความว่า ในระยะกลางและระยะยาว ยุโรปกำลังดิ้นรนหนีการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานทางเลือกให้มากขึ้น ซึ่งยังคงต้องใช้เวลาแต่ก็เท่ากับปักหมุดพลังงานสะอาดอย่างจริงจังแล้ว

หันมามองประเทศไทย ไทยเรานำเข้าน้ำมันดิบสุทธิสูงถึง 90% แม้จะนำเข้าโดยตรงจากรัสเซียไม่มากเท่ายุโรป แต่คนไทยก็ต้องเผชิญผลกระทบจากสงครามที่ทำให้ราคาโภคภัณฑ์โลกสูง  ส่งผ่านไปต้นทุนพลังงานและการผลิต ทำให้ราคาสินค้า อาหารและข้าวไทยแพงขึ้นอยู่ดี

แม้ไทยจะมีกลไกอุดหนุนราคาพลังงานจากภาครัฐลดผลกระทบได้บ้าง แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและช่วยเหลือวงกว้าง ซึ่งไม่ยั่งยืนและสร้างภาระการคลังสูงในยามที่กำลังเงินภาครัฐมีจำกัด และยังต้องเผื่อรับมือกับศึกโควิด-19 ต่ออีก ที่สำคัญวิธีนี้ไม่จูงใจให้ประชาชน ธุรกิจ รวมถึงภาครัฐเองเร่งปรับตัวตามสถานการณ์ทวนกระแสโลกาภิวัตน์ที่หลายประเทศพยายามลดการพึ่งพาระบบพลังงานโลก หันมาผลิตพลังงานทดแทนขึ้นเอง เพื่อสร้างความมั่นคงและเป็นอิสระทางพลังงาน

ดร.ฐิติมา เสนอว่า ไทยควรมองโอกาสนี้มุ่งเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาดในระยะยาว ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล เข้าสู่วิถีลดโลกร้อน เช่นที่หลายประเทศใหญ่กำลังเร่งเดินเครื่องเต็มสูบได้ทันกาล และผู้ผลิตไทยส่วนหนึ่งก็อาจโดนหางเลขจากมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ แรงขึ้นจากการส่งออกค้าขายกับประเทศนั้นๆ ตามไปด้วย

อีกด้านหนึ่งภาคเอกชน โดย นายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เสนอแนวทางต่อรัฐบาลไว้น่าสนใจว่า

1.ไทยควรวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับมือสถานการณ์ในระยะต่อไปด้วยความรอบคอบไว้ก่อน เนื่องจากเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าสถานการณ์นี้จะขยายวงหรือยืดเยื้อยาวนานไปอีกเท่าใด ซึ่งการหารือและร่วมมือใกล้ชิดระหว่างรัฐและเอกชนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

2.รัฐควรสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นอย่างสม่ำเสมอให้กับภาคประชาชนและเอกชน เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญ 

  1. จัดสรรงบประมาณมาตรการการช่วยเหลือตามแผนมาตรการที่วางไว้ในการรับมือกับสถานการณ์ การจัดสรรงบประมาณควรนำไปสู่การใช้จ่ายที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพให้มากที่สุดเช่น การดูแลและเยียวยาระยะสั้น เน้นการลงทุนเพื่ออนาคต โครงการที่มีพลังเพียงพอ เน้นการสร้างงาน สร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีด ความสามารถให้ภาคเอกชนไปพร้อมกัน เพื่อวางพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต 

 4.การรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลังรวมถึงตลาดทุนมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในยามที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ปกติและมีความเสี่ยงสูงนั้น เสถียรภาพและความเข้มแข็งของระบบจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมถึงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และจะเป็นเกราะให้เศรษฐกิจของประเทศในยามที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีปัญหารุนแรง