เปิดลึกสัมพันธ์จีน-ซาอุฯ! บุกลงทุนอภิมหาโครงการของเจ้าชายฯ-สีจิ้นผิงลุยมาเยือนเอง

1335

เปิดลึกสัมพันธ์จีน-ซาอุฯ! บุกลงทุนอภิมหาโครงการของเจ้าชายฯ-สีจิ้นผิงลุยมาเยือนเอง

จากกรณีที่ ซาอุดีอาระเบีย ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก กำลังจะดึงสกุลเงินหยวนของจีนเข้าสู่ตลาดน้ำมันโลก ด้วยการกำหนดราคาน้ำมันบางส่วนที่ขายให้จีน ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ใช้น้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็น “สกุลเงินหยวน”

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ซาอุดีอาระเบียกำลังเร่งเครื่องเจรจากับจีน และถ้าซาอุดีอาระเบียขายน้ำมันให้จีนเป็นเงินหยวน ก็จะถือเป็นการ “ลดทอน” อิทธิพลของสกุลเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ ที่มีต่อตลาดน้ำมันโลก และแสดงถึงการ “หันหน้าเข้าหาเอเชีย” ของซาอุดีอาระเบียด้วย

การเจรจาเพื่อกำหนดราคาน้ำมันเป็นเงินสกุลหยวนในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยจะราบรื่นนัก แต่กลับมีความคืบหน้าที่รวดเร็วในปีนี้ จากการที่ซาอุดีอาระเบียไม่พอใจสหรัฐฯ มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งเรื่องไม่สนับสนุนที่ซาอุดีอาระเบียเข้าไปแทรกแซงสงครามในเยเมน และสหรัฐฯ ยังจะไปพยายามรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน โดยเมินเสียงเรียกร้องของซาอุดีอาระเบียที่ต้องการมีนิวเคลียร์ของตัวเอง รวมไปถึงการถอนทหารแบบสายฟ้าแลบออกออกจากอัฟกานิสถาน

จีน ซื้อน้ำมันมากกว่า 25% ของจำนวนที่ซาอุดีอาระเบียส่งออกทั้งหมด ซึ่งถ้ากำหนดราคาเป็นหยวนก็จะช่วยเพิ่มสถานะสกุลเงินของจีน และเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมของซาอุดีอาระเบีย ที่จะกำหนดราคาการส่งออกน้ำมันดิบบางส่วน ประมาณ 6.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่สกุลเงินดอลลาร์ ขณะที่การขายน้ำมันส่วนใหญ่ราว 80% ดำเนินการในรูปของสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งซาอุดีอาระเบียดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2517 ภายใต้ข้อตกลงสมัยอดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ที่สหรัฐฯ ให้การรับประกันว่าจะปกป้องราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

จีน ต้องการให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินที่สามารถทำการซื้อขายได้ทั่วโลก ไม่ต้องได้รับผลกระทบจากการครอบงำตลาดน้ำมันของดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนความสัมพันธ์จีนกับซาอุดีอาระเบียเริ่มกระชับมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จากการที่จีนช่วยซาอุดีอาระเบียสร้างขีปนาวุธของตัวเอง ให้คำปรึกษาเรื่องโครงการนิวเคลียร์ และเริ่มเข้าไปในลงทุนในอภิมหาโครงการของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เช่น เมืองอัจริยะ “Neom” และการเยือนซาอุดีอาระเบียของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อปี 2559

โดยเมื่อวานนี้ (16 มีนาคม 2565) ดร.ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ นักวิชาการทางบูรพคดีศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน โดยมีข้อความระบุว่า ความคืบหน้าเพิ่มเติม

๑.รัสเซียบ่ายหน้ามาทางเอเซียเต็มตัว ร่วมกับจีนในด้านการเงินและเศรษฐกิจ การคว่ำบาตรจากอเมริกา ส่งผลกระทบต่อรัสเซียในระยะสั้นเท่านั้น ในระยะยาว กลับช่วยให้รัสเซียและจีน dedollarise ได้เร็วยิ่งขึ้น
๒.อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บราซิลและอินเดียเดินหน้าเข้าข้างรัสเซียและจีน อินเดียจะสั่งซื้อสินค้าจากรัสเซียด้วยเงินรูเบิลของรัสเซีย

๓.อียูทำตัวเป็นรัฐที่ ๕๑ ของอเมริกาอยู่กลายๆ อยู่ในโอวาทอเมริกาเต็มตัว ครั้งหนึ่ง อเมริกาเคยบีบให้เยอรมนีซื้อ F-35 ไม่ได้ คราวนี้ บีบได้แล้ว เยอรมนียอมสนใจสั่งซื้อ F-35 จากอเมริกา
๔.ซาอุดิอาระเบียเข้าข้างรัสเซียและจีนด้วย ตอนนี้ มีโครงการพลังงานมหาศาลร่วมกับจีน ยินดีค้าขายกับจีนโดยรับเงินหยวนแทนเปโตรดอลล่าร์ รวมทั้งขายน้ำมันด้วย
สันนิษฐานไว้ก่อนได้เลย ในอนาคต ซาอุฯ อาจเจอสงครามพันทางจากอเมริกา อาจต้องพึ่งทหารรัสเซียและจีนเข้าไปช่วย