ปธน.ไบเดนป่าวร้องว่า เศรษฐกิจมะกันแย่เพราะปูตินคนเดียว แต่ดูเหมือนว่าคนอเมริกันเองไม่เชื่อ ล่าสุดกูรูเศรษฐศาสตร์ของมะกันเองออกมาวิเคราะห์ว่า การที่สหรัฐคว่ำบาตรเศรษฐกิจรัสเซียสาหัสเพราะความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน จะผลักดันอัตราเงินเฟ้อที่สูงอยู่แล้วของสหรัฐฯ ให้สูงกว่าร้อยละ 10 คาดการณ์ว่าจะสูงไม่หยุดไปอีกตลอดทั้งปี และจะต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย นั่นหมายถึงมาตรการของเฟดในการขึ้นดอกเบี้ยคุมไม่อยู่นั่นเอง เมื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจตัวเองไม่ได้ ทำให้ต้องเดินหน้าก่อสงครามคว่ำกระดานล้างเศรษฐกิจโลกหรือไม่ ต้องติดตาม??
วันที่ 16 มี.ค.2565 สำนักข่าวซีจีทีเอ็นรายงานว่า การหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่เกิดจาก COVID-19 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อประจำปี อยู่ที่ 7.9% ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 1982 และนับตั้งแต่สหรัฐฯสั่งคว่ำบาตรเศรษฐกิจอย่างรุนแรงต่อรัสเซียกรณียูเครน ได้ ส่งผลวกกลับ เมื่อตัดน้ำมันรัสเซีย ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ห่วงโซ่อุปทาน และการขนส่งได้รับผลทันที เพิ่มปัญหาให้กับเงินเฟ้อสาหัสยิ่งขึ้น
โมฮัมเหม็ด เอล เอเรียน(Mohammed El-Erian) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายอียิปต์ และอดีตประธานสภาการพัฒนาโลกของโอบามา ให้สัมภาษณ์กับรายการ “Face The Nation” ของ CBS ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า อัตราเงินเฟ้อจะไม่ลดลงจากระดับปัจจุบันในเร็วๆ นี้ โดยคาดว่าจะมีการปรับขึ้นค่าพื้นฐาน 25 จุดในการประชุมนโยบายของเฟดในวันพฤหัสบดีนี้
เขากล่าวว่า “โชคไม่ดีที่เรากำลังจะมีภาวะเงินเฟ้อที่ไม่สบายใจอย่างน้อยไปอีก 12 เดือน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยมีมาตั้งแต่ยุค 70 และ 80 และนั่นจะเป็นปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มที่เปราะบางในสังคมของเรา”
นักเศรษฐศาสตร์กล่าวเสริมว่า “ผมไม่คิดว่าเศรษฐกิจแบบนี้ จะสามารถรองรับการขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 7 ครั้ง และหากเราได้ปรับขึ้น 7 ครั้ง สหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
ด้านผลสำรวจล่าสุดของอิพซอสของเอบีซีนิวส์(ABC News/Ipsos) ชาวอเมริกันไม่พอใจต่อการจัดการเศรษฐกิจของปธน.โจ ไบเดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะเงินเฟ้อ
การสำรวจพบว่า 70% ของชาวอเมริกันไม่เห็นด้วยกับการจัดการกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นของไบเดน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนและเจ็บปวดที่สุดจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นของชาวอเมริกัน
นอกจากนี้ยังพบว่าไบเดนมีคะแนนเสียงที่ไม่เห็นด้วยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 58% เกี่ยวกับการจัดการกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังเกิดโรคระบาด
จากการวิเคราะห์ของมูดีส์ อนาลัยติกส์ (Moody’s Analytics) ที่อิงจากราคาผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น 7.9% ในเดือนกุมภาพันธ์ อัตราเงินเฟ้อทำให้ครัวเรือนในสหรัฐฯ โดยเฉลี่ยต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก 296 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือน ไรอัน สวีต(Ryan Sweet)นักเศรษฐศาสตร์ ผู้ทำการวิเคราะห์ของมูดีส์กล่าวว่า “มันจะแย่ลงก่อน แต่จะค่อยๆดีขึ้น”
นอกจากนี้การวิเคราะห์ล่าสุดโดยโมเดลงบประมาณของเพ็นน์ วอร์ตัน(Penn Wharton) พบว่าครัวเรือนสหรัฐที่มีรายได้ต่ำและปานกลางจะได้รับผลกระทบมากต้องใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 7% ในปี 2564 สำหรับผลิตภัณฑ์แบบเดียวกันที่พวกเขาซื้อในช่วงสองปีที่ผ่านมา ขณะที่การใช้จ่ายของครัวเรือนที่ร่ำรวยเพิ่มขึ้น 6%
การสำรวจใหม่อีกครั้งจากดัชนีธนาคาร (Bankrate) ที่เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วพบว่า 74% ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันที่เคยประสบกับราคาสินค้าที่สูงขึ้นในปีที่ผ่านมารายงานว่าการขึ้นราคาล่าสุดส่งผลกระทบต่อกระเป๋าเงินของพวกเขาอย่างหนัก
นอกจากนี้ปัญหาราคาที่อยู่อาศัยยิ่งสาหัสกว่าเดิม กดดันให้ปัญหาคนไร้บ้านจะถาโถมในที่สุด ในการจ่ายค่าเช่าห้องอย่างเจียมเนื้อเจียมตัวอยู่ที่ราคา 1,615 ดอลลาร์ต่อเดือน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 53,731 บาท คนที่มีรายได้ 14 เหรียญต่อชั่วโมงต้องทำงาน 89 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จึงสามารถเช่าห้องอาศัยนี้ได้ ตามผลการศึกษาในปี 2564 โดยเนชั่นแนล โลว์อินคัม เฮ้าส์ซิ่ง โคอาลิชั่น (National Low-Income Housing Coalition)
คนงานสหรัฐต้องเผชิญกับค่าจ้างที่ซบเซาในช่วง 40 ปี แต่ค่าเช่าเพิ่มขึ้นจาก 14 เปอร์เซ็นต์เป็น 40 เปอร์เซ็นต์ในช่วงสองปีที่ผ่านมา
ดร.ซิลีน มาเรีย ปาสคาล(Dr.Celine-Marie Pascale) นักสังคมวิทยา ได้เขียนบทความลงในสื่อเดอะคอนเวอร์เซชี่น(The Conversation) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
ปาสคาลกล่าวว่า คาดว่าคนงานค่าแรงต่ำจะลำบากกับค่าครองชีพอย่างมาก รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมง สำหรับคนงานในสหรัฐฯ มีเพียง 11.22 ดอลลาร์ในปี 2565
ปาสคาลกล่าวว่า สหรัฐฯ ยังเผชิญวิกฤติที่อยู่อาศัยราคาจับต้องได้ทั่วประเทศไม่เพียงพอ แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว โดยเสนอให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มการควบคุมค่าเช่า ลงทุนมากขึ้นในที่อยู่อาศัยราคาไม่แพง และร่วมมือกับนักพัฒนา แต่ความพยายามเหล่านี้ไม่ประสบความสำเร็จในระดับที่มีนัยสำคัญแต่อย่างใด!