จากกรณีที่สำนักข่าวรอยเตอร์ส ออกมารายงานว่า คณะกรรมการสืบสวนของรัสเซียได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัสเซียจากกรณีที่ เมตา (Meta) ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊ก (Facebook) และ อินสตาแกรม (Instagram) เพื่อปรับเปลี่ยนกฎเรื่องข้อความสร้างความเกลียดชัง โดยปล่อยให้ผู้ใช้งานในบางประเทศโพสต์ข้อความในเชิงเรียกร้องความรุนแรงต่อผู้บุกรุกชาวรัสเซียได้ ในแง่มุมของสถานการณ์ในยูเครนนั้น
ทั้งนี้ถือว่าสถานการณ์ของ 2 ประเทศ ทั้งรัสเซียและยูเครน ยังคงตึงเครียด โดยรัสเซียยังคงเดินหน้าโจมตีหลายเมืองในยูเครนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ชนวนแตกหักของทั้ง 2 ประเทศ เข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 แล้วนั้น
ย้อนไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2565 สำนักข่าวรัสเซียทูเดย์ ได้กล่าวถึงประเด็นที่ ตุรกีอาสาเป็นตัวกลางจัดประชุม “รัสเซีย-ยูเครน” หวังคลายความขัดแย้ง เปิดประตูสู่ข้อตกลงหยุดยิงถาวร
โดยมีรายงานความพยายามในการแก้ปัญหาคู่ขนานไปกับข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้พลเรือนอพยพ ตุรกีอาสาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย จัดการเจรจาระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของสองประเทศ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่รัสเซียเริ่มบุกยูเครน ที่รัฐมนตรีต่างประเทศคู่กรณีตกลงนั่งเจรจากัน
เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมตรีต่างประเทศของรัสเซีย และดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศของยูเครน ตกลงประชุมร่วมกันในอันตัลยา เมืองรีสอร์ทภาคใต้ของประเทศตุรกี ในวันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม ซึ่งเป็นการเจรจาครั้งแรก ระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของสองประเทศตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากบุกยูเครน
เมฟลุต คาวูโซกลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ประกาศในการแถลงต่อสื่อเมื่อวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมาว่า เขาจะเข้าร่วมประชุมด้วย ส่วนประธานาธิบดีเรเซป เทย์ยิป เออร์โดวาน ของตุรกี กล่าวว่า เขาหวังว่า การประชุมกันในเมืองอันตัลยา จะเปิดประตูไปสู่ข้อตกลงหยุดยิงถาวร แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า มีโอกาสที่เขาจะมีความคืบหน้าขนาดไหน เพราะประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวว่า เขาจะเดินหน้าตามเป้าหมายทั้งผ่านการเจรจา หรือการปฏิบัติการทางทหาร
ทั้งนี้ ตุรกีเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต แต่ประธานาธิบดีเออร์โดวาน แสดงท่าทีที่แตกต่างจากประเทศตะวันตกเกี่ยวกับการบุกยูเครนของรัสเซีย ขณะที่เขากล่าวว่า ตุรกีไม่ได้ยอมรับในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นสำหรับชาวยูเครน, แต่มาตรการคว่ำบาตร เกือบจะกลายเป็นการล่าแม่มดต่อชาวรัสเซีย, นักประพันธ์, นักศึกษา และศิลปิน
ตุรกี ซึ่งมีพรมแดนทางทะเลติดกับรัสเซียและยูเครนในทะเลดำ เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจา เนื่องจากตุรกีมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งรัสเซียและยูเครน และเรียกการรุกรานของรัสเซีย เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ แต่ก็คัดค้านมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย
ทั้งนี้จะเห็นว่า หลายประเทศทั่วโลกในตอนนี้ ต่างมีความคิดเห็นต่อรัสเซีย ยูเครน ที่ไม่คล้อยตามสหรัฐฯ รวมทั้งยังมีประชาชนจากชาติตะวันตก ที่ร่วมหนุนว่าไม่ควรคว่ำบาตรรัสเซีย เพื่อไม่กดดันให้สงครามยืดยื้อ และทั้ง 2 ประเทศ จะหาทางออกร่วมกันได้ เพื่อประชากรทั้งโลก ที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจด้วย
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ดังกล่าว ยังมีจีนอีกหนึ่งประเทศ ที่หนุนให้ทั้ง รัสเซีย ยูเครน เดินหน้าเจรจากันอีกรอบ ซึ่งจะเป็นรอบที่ 5 และลุ้นว่าทั้ง2 ประเทศ จะยุติปัญหาดังกล่าว ที่สะเทือนทั่วโลก ได้ในเร็ววัน