จับตา??ทูตพิเศษญี่ปุ่นนัดตัวแทนชาติพันธุ์ถกแผน ‘ปรองดองพม่า’ ที่เชียงใหม่ งุบงิบเคลื่อนไหวส่อทำเข้าใจผิด

1188

ทูตพิเศษญี่ปุ่นด้านกระบวนการปรองดองในพม่า ปิดห้องประชุมร่วมผู้นำทัพชาติพันธุ์ และตัวแทนคณะทำงานสันติภาพ ที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมาชุดปัจจุบันอย่างลับๆล่อๆ  การเคลื่อนไหวแบบนี้จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์หรือยิ่งสร้างความหวาดระแวงกันแน่ เพราะเลือกพบแต่ฝ่ายต้านรัฐบาลเมียนมา โดยไม่แถลงผลการประชุมแต่อย่างใด แม้ว่าจะได้รับเชิญให้ร่วมผลักดันแผนปรองดองจากนายกรัฐมนตรีฮุนเซนฯก็ตาม

วันที่ 10 มี.ค.2565 สำนักข่าวอิระวดีรายงานว่า  โยเฮอิ ซาซากาวะ ประธาน Japan’s Nippon Foundation ในฐานะทูตพิเศษด้านกระบวนปรองดองในพม่า ได้นัดผู้นำกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม มาประชุมกันที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่

ผู้เข้าประชุม ประกอบด้วย พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน (RCSS) ซอ มูตู เซโพ ประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และคู อู เร ประธานพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง (KNPP) โดย RCSS กับ KNU เป็น 2 ใน 10 กองกำลังที่ได้เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลพม่าไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2558 ในสมัยประธานาธิบดีเต็งเส่ง ส่วน KNPP ซึ่งพัฒนามาจากกองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง ยังไม่ได้เซ็น NCA

นอกจากนี้ ยังมีอู อ่องไหน่อู และอู ละ หม่อง ซึ่งเคยเป็นกรรมการของศูนย์กลางสันติภาพพม่า (Myanmar Peace Center : MPC) ได้เดินทางมาร่วมประชุมด้วย

MPC เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นตั้งแต่ยุคประธานาธิบดีเต็งเส่ง เพื่อทำงานด้านกระบวนการสันติภาพในพม่า แต่ต้องสลายตัวไปหลังพรรค NLD ชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียว โดยอองซาน ซูจี ได้ตั้งศูนย์สันติภาพและการปรองดองแห่งชาติ (National Reconciliation and Peace Centre : NRPC) ขึ้นทำหน้าที่แทน โดยซูจีดำรงตำแหน่งประธาน NRPC ด้วยตนเอง

 

ต่อมาตอนเย็น โยเฮอิ ซาซากาวะ ยังได้ร่วมประชุมกับตัวแทนคณะทำงานกระบวนการสันติภาพ (Peace Process Steering Team : PPST) ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทน 10 กองกำลังชาติพันธุ์ที่ได้เซ็น NCA แล้ว โดยตัวแทน PPST ที่เข้าประชุม ประกอบด้วย ขุน อ๊กกา ประธานองค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ (PNLO) พ.อ.จายเงิน เลขาธิการ RCSS ดอ มิซู บวิ่น กรรมการกลางแนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า (ABSDF)

สนข.อิระวดี (The Irrawaddy) เป็นสื่อเดียวจากพม่าที่ได้เข้าสังเกตการณ์ และนำเสนอภาพข่าวการประชุมเมื่อวานนี้ อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนดึกของวันที่ 10 มีนาคม ยังไม่มีรายงานรายละเอียดผลการประชุมของทั้ง 2 กลุ่มออกมาว่าเป็นเช่นไร

 

ซาซากาว่าได้เยือนเมียนมา 5 วันเมื่อปีที่แล้ว เขามีโอกาสได้พบกับบุคคลอาวุโสของพรรคเอ็นแอลดีของอองซานฯ แต่ไม่ต้องการระบุชื่อและยังได้พบกับผู้นำเมียนมา พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่ายและผู้แทนพรรคการเมืองต่างๆด้วย

แพรก โสคนธ์ ทูตอาเซียน มีกำหนดจะเยือนเมียนมาเป็นเวลาสี่วัน ในวันที่ 20-23 มี.ค.2565 ยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถเข้าพบนางอองซาน ซูจี ได้หรือไม่ 

เหตุการณ์ครั้งนี้ด้านหนึ่ง เป็นบทบาทที่ประธานอาเซียน นายกรมว.ฮุนเซนไฟเขียวเพื่อพยายามสร้างความปรองดอง แต่การเคลื่อนไหวแบบนี้ สามารถสร้างความหวาดระแวงกับผู้เกี่ยวข้องได้ เพราะเลือกคุยเฉพาะกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมาโดยมาเคลื่อนไหวในประเทศไทย

ขณะที่กลุ่มพันธมิตรควอด(QUAD) ที่นำโดยสหรัฐ มีญี่ปุ่นเป็นสมาชิก4 ภาคีต่อต้านจีน ซึ่งจีนเพิ่งประณามว่าเป็นการสร้างนาโต2 ในเอเชีย-แปซิฟิกมาหมาดๆ  ขณะที่การเคลื่อนไหวของสหรัฐและอังกฤษพยายามลากประเด็นยูเครนมาเกี่ยวพันกับกรณีไต้หวัน ดึงอาเซียนเข้าไปเกี่ยวพันสงครามยูเครน ภายใต้วาระวอชิงตัน เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกต่อต้านจีนอย่างถึงที่สุด กิจกรรมอ่อนไหวแบบนี้สามารถทำได้โดยรัฐบาลไทยได้แต่ทำตาปริบๆกระนั้นหรือ???