จากกรณีที่ทางด้าน “วลาดิมีร์ ปูติน”ออกมาชี้ชัด ว่าการที่ชาติตะวันตกคว่ำบาตรมอสโก หลังรุกรานยูเครนว่า คล้ายกับการประกาศสงครามกับรัสเซีย ท่ามกลางผลกระทบด้านเศรษฐกิจรุนแรง แม้กระทั่งประเทศจีนก็ส่งสัญญาณว่า ไม่เห็นด้วยกับการคว่ำบาตรรัสเซีย เพราะเชื่อว่า ทั้ง 2 ประเทศ ยูเครนและรัสเซียจะเจรจากันลงตัว เพียงแต่ต้องรอเวลา
ล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ระบุว่า ขณะนี้โลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตซ้อนวิกฤต อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สภาวะเงินเฟ้อพร้อมกับเงินฝืด และความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย ที่ส่งผลให้ราคาพลังงานโลกและราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าและค่าขนส่งที่มีน้ำมันเป็นต้นทุนการผลิตขยับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย กระทบต่อค่าครองชีพของเราชาวไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยที่ผ่านมา รัฐบาล พยายามออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง เช่น การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร การปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ค่าน้ำ-ค่าไฟ) รวมทั้งการอุดหนุนเงินให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผ่านโครงการคนละครึ่ง เป็นต้น
ซึ่งสามารถกระตุ้นกำลังซื้อและเสริมสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามวิกฤตต่างๆ ยังคงมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง และต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเรื่องของราคาพลังงานโลก ซึ่งในวันนี้ (9 มี.ค.) จะมีการประชุม “วาระเร่งด่วน” ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อกำหนดมาตรการด้านพลังงาน และเร่งรัดให้มีผลบังคับใช้ เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชนโดยเร็วต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับมาตรการด้านพลังงานในระยะยาว ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) นั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลมุ่งมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม เช่น
1.โครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำแบบไฮบริด “Hydro Floating Solar Hybrid System” ที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประมาณ 70 สนามฟุตบอล มีแผงโซลาร์เซลล์มากถึง 145,000 แผง สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ ลักษณะสำคัญคือเป็น “ทุ่นลอยน้ำ” ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศใต้น้ำ
รวมทั้งช่วยลดการระเหยของน้ำในเขื่อนได้ประมาณ 460,000 ลูกบาศก์เมตร/ปี และมีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าดีกว่าการติดตั้งบนบกถึง 10-15% ซึ่งได้เริ่มดำเนินการจ่ายกระแสไฟตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว และกลายเป็นต้นแบบการผลิตพลังงานสะอาดที่ต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอันมาก ซึ่งรัฐบาลมีโครงการสนับสนุนการสร้างโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำแบบไฮบริดนี้ในเขื่อนอื่นๆ ทั่วประเทศ
ซึ่งนอกจากจะได้พลังงานสะอาดแล้ว ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นและจุดยืนของประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคให้กับประชาคมโลก และยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอีกด้วย
2. การขับเคลื่อนประเทศมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เช่น นโยบาย 30@30 ที่ต้องการยกระดับประเทศไทยให้เป็น “ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า” และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ที่ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle : ZEV) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573)
โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้ออก มาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย (1) เงินอุดหนุน : รถยนต์/รถกระบะไฟฟ้า 70,000 – 150,000 บาท/คัน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 18,000 บาท/คัน (2) ลดภาษีสรรพสามิต : รถยนต์ไฟฟ้าเหลือ 2% และรถกระบะไฟฟ้าเหลือ 0% (3) มาตรการอื่น ๆ: ลดอากรนำเข้า สิทธิพิเศษทางอากรศุลกากร เป็นต้น
“ผมตระหนักดีว่า ปัญหาด้านพลังงานเป็นปัญหาสำคัญและเร่งด่วน ที่มีผลกระทบกับทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะต้นทุนและเศรษฐกิจในการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกคน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งผมมีความเป็นห่วงอย่างยิ่ง ในปัจจุบันเรายังต้องอาศัยการนำเข้าเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า รัฐบาลมีแผนการรองรับไว้เป็นขั้นเป็นตอน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท เพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืนทางพลังงาน ลดการพึ่งพา เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย ทั้งวันนี้และวันหน้า ซึ่งหากผลการประชุมของ กพช. เป็นอย่างไร จะสามารถช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องเพิ่มเติมได้อย่างไรบ้าง ผมจะได้มารายงานให้ทราบต่อไป”