ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศจะคว่ำจีนให้จมดิน และเดินหน้าบีบจีนด้วยมาตรการตั้งกำแพงเก็บภาษีสูงลิ่วจาก 10%เป็น 25%กับสินค้าจีน เวลาผ่านไปกว่า 2 ปีแทนที่เศรษฐกิจและสถานภาพของจีนจะทรุดตามหวัง กลับทำให้จีนผงาดกลายเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์มหาอำนาจใหม่ เทียบเคียงสหรัฐทั้งด้านการบริหารจัดการการระบาดไวรัสโควิด-19 การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในและบทบาทความร่วมมือกับนานาชาติ ขณะที่สหรัฐนั้นผลเป็นตรงกันข้าม ทั้งผู้เชี่ยวชาญการค้า นักวิเคราะห์นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามทรัมป์ต่างเห็นพ้องกันว่า สงครามที่ยากชนะครั้งนี้ ทรัมป์แพ้หมดรูป
สงครามการค้าเป็นมากกว่าการแข่งขันทางเศรษฐกิจ หากแต่เป็นกลยุทธการเมืองระดับโลก และการต่อสู้ในหลายมิติของสองขั้วมหาอำนาจที่เป็นคู่แข่งขันทางยุทธศาสตร์ มีแนวโน้มที่ความขัดแย้งจะขยายขอบเขต ยืดเยื้อ และพลิกสถานการณ์ไปมาตลอด ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศและโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ปฐมบทแห่งสงครามการค้าสหรัฐ-จีน
1.เนื่องจากสหรัฐ ได้ตรวจสอบนโยบายการค้าของจีน โดยทำเนียบขาวระบุว่า พบการปฏิบัติที่ “ไม่เป็นธรรม” หลายประการของจีน รวมถึงกฎหมายห้ามต่างชาติครอบครองกิจการ นั้นหมายความว่า นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการเข้าไปลงทุนในจีนจะต้องมีคนจีนเป็นหุ้นส่วนร่วมด้วย ซึ่งมีผลกดดันให้หลายบริษัทต่างชาติต้องยอมถ่ายโอนเทคโนโลยีให้ เพื่อให้สินค้านั้นเข้าสู่ตลาดจีนได้
2.สหรัฐหวั่นนโยบาย Made in China 2025 ซึ่งจีนพยายามที่จะพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพสูง และรวมไปถึงสินค้าไฮเทคมากขึ้น
สินค้าบางส่วนที่มีปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็น สินค้ากลุ่มไอที ทั้ง Hardware และ Software และสินค้าชนิดอื่นๆ ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ ปธน. ทรัมป์ ไม่พอใจอย่างมาก
3.สหรัฐต้องการที่จะลดการขาดดุลทางการค้ากับประเทศจีน และรวมไปถึงเรื่องของการว่างงานในสหรัฐ ซึ่งการเพิ่มกำแพงภาษีในมุมมองทรัมป์คือการเพิ่มการจ้างงานในสหรัฐ
วอชิงตันกับปักกิ่งทำสงครามการค้าที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปี (กรกฎาคม 2018-ปัจจุบัน) ทรัมป์ใช้มาตรการตั้งกำแพงภาษีกดดันจีน ขู่จะรีดภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเกือบทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนทั้งสองประเทศจะได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเฟส 1 ในเดือนมกราคม 2020 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมาตรการรีดภาษีเพิ่มเติมยังคงใช้บังคับกับสินค้านำเข้าจีนบางส่วน คิดเป็นมูลค่าราวๆ 370,000 ล้านดอลลาร์ และจากข้อมูลของศุลกากรสหรัฐฯ พบว่านับตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2018 มีการเรียกเก็บภาษีไปแล้วถึง 62,160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนกระทั่ง ไวรัสโควิด-19 มาเยือนโลก สถานการณ์จึงเปลี่ยนไป
ข้อตกลงการค้าเฟส 1
1) จีนตกลงนำเข้าสินค้า-บริการจากสหัฐ เพิ่มมูลค่า 7.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 และ 1.23 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2021 เพื่อให้รวมกันเป็น 2 แสนล้านดอลลาร์เป็นอย่างน้อย โดยใช้ปี 2017 ที่จีนนำเข้าสินค้า-บริการจากสหรัฐมูลค่า 1.86 ล้านดอลลาร์เป็นฐาน
2) เมื่อแยกตามหมวด จีนจะนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรม รวมถึงเครื่องบินเพิ่ม 7.77 หมื่นล้านดอลลาร์, สินค้าเกษตร 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์, พลังงาน 5.25 หมื่นล้านดอลลาร์ และบริการ 3.79 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในเดือนธ้นวาคม 2021
3) จีนยอมแก้ปัญหา การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยจัดทำแผนปฏิบัติการส่งให้สหรัฐภายใน 30 วัน นับจากวันที่ข้อตกลงมีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ยังแก้ปัญหาเรื่อง การบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี
4) สหรัฐฯลดภาษีที่เรียกเก็บจากจีน มูลค่าการค้า 1.2 แสนล้านดอลลาร์ จากอัตรา 15% เหลืออัตรา 7.5% และชะลอการขึ้นภาษีสินค้าจีนมูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์
5) แต่สหรัฐฯยังคงกำแพงภาษี 25% กับสินค้าจีนมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งจะลดก็ต่อเมื่อจีนและสหรัฐฯสามารถบรรลุข้อตกลงเฟส 2 กันได้แล้ว
6) คาดว่าการเจรจาเฟส 2 จะมีขึ้นก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯเดือน พฤศจิกายน แต่ไม่สามารถทำได้เพราะการระบาดโควิดยังหนักหนาอยู่
ก่อนประกาศติดโควิด-ทรัมป์ยังห้าวขู่จีน
ปธน.ทรัมป์ยังแผลงฤทธิ์ ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาโดยประกาศว่าจะลดระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและจีน พร้อมกับขู่ว่าจะใช้มาตรการลงโทษบริษัทของสหรัฐที่ไปสร้างงานในต่างประเทศ และจะกีดกันบริษัทที่เข้าไปลงทุนในประเทศจีน ไม่ให้ได้รับสัญญาทางธุรกิจกับรัฐบาลกลางสหรัฐ
“เราจะผลิตชิ้นส่วนสำคัญที่ใช้ในด้านการผลิตภายในประเทศของเรา เราจะให้เครดิตภาษีแก่สินค้าที่ตีตรา ‘Made in America’ และเราจะนำตำแหน่งงานกลับคืนสู่สหรัฐ ขณะเดียวกันเราจะเรียกเก็บภาษีบริษัทที่ออกไปสร้างงานในจีนและในประเทศอื่นๆ หากบริษัทเหล่านี้ไม่สามารถทำธุรกิจในสหรัฐได้ ก็ปล่อยให้พวกเขาเสียภาษีก้อนใหญ่เพื่อจะออกไปสร้างงานในต่างประเทศ และส่งสินค้ากลับมาขายในประเทศเรา”
โลกส่ายหน้าพฤติกรรมแหกกฎของทรัมป์
องค์การการค้าโลก (WTO) ระบุในวันอังคาร15 ก.ย.2020ว่า สหรัฐฯ ละเมิดกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ จากการกำหนดมาตรการรีดภาษีมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์จากสินค้าจีน ในการทำสงครามการค้ากับแดนมังกรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คำตัดสินนี้ทำให้วอชิงตันแสดงความเดือดดาล ขณะที่ปักกิ่งบอกว่านี่คือหลักฐานพิสูจน์ว่าสหรัฐฯกำลังทำความผิด
คณะบริหารทรัมป์อ้างว่ามาตรการรีดภาษีที่กำหนดบังคับใช้เมื่อ 2 ปีก่อน ต่อสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ามากกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ มีความชอบธรรม เพราะว่าจีนโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญาและบีบบังคับบริษัทต่างๆของสหรัฐฯ ให้ถ่ายโอนเทคโนโลยีเพื่อแลกเปลี่ยนกับการเข้าถึงตลาดของจีน
ทว่า คณะผู้เชี่ยวชาญจำนวน 3 คนขององค์การการค้าโลก บอกว่ามาตรการรีดภาษีของสหรัฐฯ ละเมิดกฎระเบียบการค้า เพราะว่าบังคับใช้กับจีนเพียงชาติเดียว และอยู่เหนืออัตราสูงสุดที่สหรัฐฯ เคยตกลงเอาไว้ ขณะเดียวกัน ณ เวลานั้น วอชิงตันเองก็ไม่เคยให้คำชี้แจงอย่างเพียงพอว่าทำไมมาตรการดังกล่าวถึงมีความชอบธรรม ทั้งนี้คณะผู้เชี่ยวชาญชุดนี้จัดตั้งขึ้นโดยหน่วยงานแก้ไขข้อพิพาทของ WTO เมื่อปีที่แล้วเพื่อพิจารณาทบทวนการกระทำของสหรัฐฯ ภายหลังจากจีนยื่นฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก
มะกันไม่ชอบจีนแต่ต้องการค้าขายกับจีน
ผลสำรวจของ พิว รีเสิร์ช เซนเตอร์ (Pew research Center) จากเดือนกรกฎาคม 2020 แสดงให้เห็นว่ามีชาวอเมริกันสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 73% ทีเดียว มีความคิดเห็นในทางที่ไม่ชมชอบจีน แต่กระนั้นก็มี 51% ที่ต้องการให้ดำเนินการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง กับคู่แข่งผู้ใหญ่โตที่สุดของอเมริการายนี้ หากนับกันเฉพาะในยุคสมัยใหม่
ผลโพลของสำนักสำรวจความคิดเห็น “แกลลัป” (Gallup) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ –โดยที่สำคัญแล้วเป็นการสำรวจก่อนหน้าที่จะเกิดความเสียหายร้ายแรงต่างๆ จากโรคระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่— ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า 79% มีทัศนะต่อการค้าในเชิงบวก ตัวเลขนี้ต้องถือว่าชวนให้เซอร์ไพรซ์ หากเราเพียงแต่วินิจฉัยตัดสินความเป็นไปในอเมริกาโดยแค่ดูจากบรรยากาศการณรงค์หาเสียงทางการเมืองอาจมองคาดเคลื่อนจากความจริง
ประสานเสียงแผนกดดันการค้าจีนล้มเหลว-ทรัมป์พาสหรัฐแพ้หมดรูป
-เอดเวิร์ด อัลเดน (Edward Alden) ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการค้า ซึ่งทำงานให้ เคาน์ซิล ออน ฟอเรนจ์ รีเลชั่นส์ (Council on Foreign Relations) คลังสมองทรงอิทธิพลด้านการต่างประเทศที่ตั้งสำนักงานอยู่ในนครนิวยอร์ก กล่าวว่า
“ผมคิดว่าความแตกต่างของคู่ชิงประธานาธิบดีเรื่องสงครามการค้ากับจีน ที่แท้จริงนั้นจะเป็นเรื่องของยุทธวิธี ข้อโจมตีหลักของค่ายไบเดนที่มีต่อนโยบายการค้าของทรัมป์นั้น อยู่ตรงที่ว่าสหรัฐฯเลือกที่จะต่อสู้ทางการค้ากับพวกชาติพันธมิตรด้วย แทนที่จะโฟกัสมุ่งสาดกระสุนไปที่จีน ซึ่งมันยังเป็นการทำให้ประเทศต่างๆ เกิดความแปลกแยกอย่างไม่จำเป็นเลย ทั้งๆ ที่ประเทศเหล่านี้แหละที่สหรัฐฯยังควรที่จะต้องรักษาความสนิทสนมเอาไว้”
-โจ ไบเดนตอนรณรงค์หาเสียงเพื่อให้ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคเดโมแครตให้เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาเคยพูดเอาไว้ว่า “พวกเกษตรกรของอเมริกากำลังถูกบดขยี้จากสงครามภาษีศุลกากรที่ (ทรัมป์) ทำกับจีน” พร้อมกับพูดต่อไปว่า ทรัมป์ “คิดว่าภาษีศุลกากรของเขานั้นจีนกำลังเป็นคนจ่าย แต่นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ระดับเพิ่งเริ่มต้นคนไหนก็ตามใน ไอโอวา (University of Iowa มหาวิทยาลัยไอโอวา) หรือ ไอโอวา สเตท (Iowa State University มหาวิทยาลัยรัฐไอโอวา) ก็สามารถบอกคุณได้ทั้งนั้นแหละว่า ประชาชนชาวอเมริกันต่างหากที่กำลังเป็นคนจ่ายภาษีศุลกากรของเขา”
-คามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris) ผู้ร่วมทีมของไบเดนที่ลงแข่งขันชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ก็เป็นผู้ที่คัดค้านแบบแผนวิธีการของทรัมป์อย่างแข็งขัน โดยบอกว่า “สงครามการค้ากำลังบดขยี้เกษตรกรชาวอเมริกา ฆาตกรรมตำแหน่งงานอเมริกัน และกำลังลงโทษผู้บริโภคชาวอเมริกัน”
“ดิฉันจะทำงานกับพวกชาติพันธมิตรของเราในยุโรปและเอเชียเพื่อประจันหน้ากับจีนในเรื่องวิธีการปฏิบัติทางการอย่างแย่ๆ ของจีน แต่ไม่ใช่การสืบต่อทำให้สงครามภาษีศุลกากรที่กำลังล้มเหลวของทรัมป์กลายเป็นเรื่องถาวรอมตะ โดยคนที่กำลังจ่ายภาษีศุลกากรพวกนั้นอยู่ก็คือชาวอเมริกันผู้กำลังทำงานหนัก” เธอกล่าว ในช่วงรณรงค์หาเสียงเพื่อชิงชัยเป็นผู้สมัครของพรรคเดโมแครต
นักวิเคราะห์มองว่า ปธน.ทรัมป์เสียเวลาไปกับการก่อสงครามการค้า อย่างน้อยหน่วยงานสองแห่ง Fed: Federal Researchกลาง และFedของนิวยอร์กได้ข้อสรุปว่า ความข้ดแย้งทางการค้ากับจีนไม่ได้สร้างงานแก่อุตสาหกรรมของสหรัฐมากอย่างที่คาดและคนอเมริกันยังต้องเสียภาษีเพิ่มมากกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีต่อครอบครัว
ในปี 2020 นี้นอกจากสหรัฐกดดันจีนด้านการค้าแล้ว สหรัฐยังได้ออกมาตรการบีบจีนอีกหลายเรื่องเป็นระยะ เช่น การถอดถอนฐานะพิเศษทางการค้าของฮ่องกง, การลงโทษคว่ำบาตรพวกเจ้าหน้าที่ของฮ่องกงและของจีนแผ่นดินใหญ่จากเรื่องการออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเพื่อใช้กับฮ่องกง, การควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีที่มีความอ่อนไหว, ตลอดจนพวกมาตรการห้ามขนส่งสินค้าและการลงโทษคว่ำบาตรที่เกี่ยวข้องกับการที่จีนละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง (อุยกูร์)
สหรัฐกำลังฝืนความเป็นจริง พยายามกีดกันจีนออกจากเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นไปไม่ได้ ถึงแม้ในด้านความรู้สึก หลายประเทศอาจยืนข้างทรัมป์ แต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นเช่นนั้น การที่สหรัฐเรียกร้องให้ “พันธมิตรตะวันตก” ร่วมมือกันต่อต้านจีนนั้นเป็นไปไม่ได้เพราะเหตุผลง่ายๆ คือ ทุกวันนี้ไม่มี “พันธมิตรตะวันตก” อยู่อีกแล้ว เมื่อการระบาดไวรัสโควิด-19 บุกคุกคามความมั่นคง และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างไม่ไว้หน้า ประเทศรวยหรือประเทศยากจน