“บิ๊กตู่” รับมือวิกฤติปมรัสเซีย-ยูเครน ลุยงานเต็มที่ ไม่ทิ้งคนไทย เร่งออกมาตรการช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย

977

สถานการณ์ของรัสเซีย-ยูเครน ยังคงตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง และมีรายงานล่าสุดว่า ทางด้านประธานาธิบดีรัสเซียระบุในแถลงการณ์ว่า ประธานาธิบดีปูติน กล่าวระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีเรเจพ ทายยิพ แอร์โดอาน ของตุรกี ว่า รัสเซียพร้อมเจรจาเพื่อยุติการต่อสู้ในยูเครน แต่ความพยายามที่จะยืดการเจรจาออกไปทำให้ผลการเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ รัสเซียจะยุติปฏิบัติการพิเศษในยูเครนโดยมีข้อแม้ว่ายูเครนต้องประกาศหยุดปฏิบัติการทางทหารและทำตามข้อเรียกร้องของรัสเซียเท่านั้น

ในขณะเดียวกัน ทางการยูเครนรายงานว่า ชาวยูเครนส่วนใหญ่ในเมืองมารีอูปอล ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญของยูเครน ต้องหลบภัยกระสุนและใช้ชีวิตอยู่ในห้องใต้ดิน เนื่องจากไม่สามารถอพยพออกจากเมืองดังกล่าวที่ถูกกองทัพรัสเซียปิดล้อมมาเป็นเวลากว่า 6 วัน จนทำให้ชาวเมืองถูกตัดอาหาร น้ำดื่ม ไฟฟ้า และเครื่องทำความร้อน

 

ทั้งนี้ทำให้ทั่วโลกรวมทั้งไทยกำลังเจอวิกฤติซ้อนวิกฤติ ทั้งโควิด-19 ราคาสินค้า พลังงานเพิ่มขึ้นจากวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดันภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นทั่วโลก โดยในประเทศไทย มีรายงานว่านายกฯจะเตรียมเร่งหารือและออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่

โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในปีนี้ ไทยและทั่วโลก เผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตพร้อมกัน คือ วิกฤตไวรัสโควิด-19 วิกฤติเงินเฟ้อ และวิกฤติสงครามยูเครน-รัสเซีย ได้ส่งผลกระทบราคาพลังงานโลก คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้น อาจจะเห็นตัวเลขราคาน้ำมันโลกที่ 120 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล ปัจจุบันน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 106.58 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล เบรนท์ 118.11 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และเวสต์เท็กซัส 110.07 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล น้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตสินค้าและขนส่ง ก็จะทำให้ราคาสินค้าและค่าขนส่งยิ่งแพงขึ้น กระทบทั้งค่าครองชีพ และภาคการส่งออก รวมทั้งสภาวะเงินเฟ้อที่มาพร้อมกับเงินฝืด จะส่งผลต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับครอบครัวและมหภาค ซึ่งเป็นภาวะที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ไทยเองก็ไม่แตกต่าง เพราะเราเป็นประเทศนำเข้าน้ำมัน

 


รัฐบาลยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรอย่างต่อเนื่อง หลังการประชุมคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งเดินหน้า มาตรการเร่งด่วนใน 3 แนวทางหลัก คือ ลดภาระค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลประชาชน บรรเทาภาระหนี้สิน โดยให้ปีนี้เป็น “ปีแห่งการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน” และเร่งการลงทุนภาครัฐ/เอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งในวันพุธที่ 9 มีนาคม นี้ นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อกำหนดมาตรการด้านพลังงาน ซึ่งจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 15 มีนาคม เพื่อเร่งรัดให้มีผลบังคับใช้ เพื่อบรรเทาภาระของประชาชนโดยเร็ว

“ผมอยากขอวิงวอนนักวิเคราะห์ชาวเน็ตทั้งหลาย เข้าใจการขึ้น-ลงของราคาพลังงานโลก หรือการสู้รบ เหล่านี้ล้วนปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาล ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีประชุมหารือกับคณะทำงานเพื่อวางแผนและออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน ซึ่งต้องอาศัยทุกฝ่าย เอกชน ผู้ประกอบการรวมทั้งประชาชน ร่วมมือกับรัฐบาล ช่วยกันเดินหน้าประเทศ มั่นใจว่า ไทยก็ผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ไปได้”

อย่างไรก็ตามนายกฯ ยังชื่นชมปฏิบัติการส่งคนไทยในยูเครนกลับบ้านประสบความสำเร็จ ขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพด้วย รวมทั้งได้สั่งการเน้นย้ำหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือหากเกิดความตึงเครียดเพิ่มเติม