ศาลออกหมายจับ “อริสมันต์” คดีโกงบ้านเอื้ออาทร! พ่วง 2 สาวคุกอ่วม 44 ปี

1602

จากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ นัดอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ หมายเลขดำ อม.อธ. 1/2565 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องวัฒนา เมืองสุข อายุ 65 ปีนั้น

ทั้งนี้นายวัฒนา และพวกรวม 14 ราย เป็นจำเลยในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11

องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณาพยานหลักฐานที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไต่สวน ประกอบการแถลงปิดคดีด้วยวาจาของจำเลยที่ 1 แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ มีประเด็นต้องวินิจฉัย คตส.ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ ป.ป.ช. และมีการตั้งคณะทำงานร่วมกับผู้แทนของอัยการสูงสุดพิจารณาหลักฐานจนครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จึงส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาฟ้องโดยชอบตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ ศาลฎีกาฯได้อ่านคำพิพากษาเมื่อ 24 กันยายน 2563 ตัดสินจำคุกจำเลยในคดีดังกล่าว อาทิ นายวัฒนา เพราะกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 รวมความผิด 11 กระทง กระทงละ 9 ปี รวม 99 ปี แต่คงจำคุกจริง 50 ปี โดยนายวัฒนา ได้ประกันตัวและยื่นอุทธรณ์ กระทั่งวันที่ 4 มีนาคม 2565 ศาลฎีกาฯได้พิพากษายืนให้จำคุก ต่อมาผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้คุมตัวนายวัฒนา ไปยังเรือนจำเพื่อรับโทษต่อไป

นอกจากนี้ ก่อนการอ่านคำพิพากษายืนจำคุกนายวัฒนา ศาลได้ออกหมายจับจำเลยที่ 6 คือ นางสาวกรองทอง วงศ์แก้ว จำเลยที่ 7 นางสาวรุ่งเรือง ขุนปัญญา และ จำเลยที่ 10 นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง

สำหรับนายอริสมันต์ จำเลยที่ 10 ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด 1 กระทง จึงถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 4 ปี ซึ่งองค์คณะเสียงข้างมากเห็นว่า แม้จะไม่ปรากฏว่า ผู้หญิงที่รับเงิน 40 ล้านบาท เป็นใครและมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 10 อย่างไร แต่คำเบิกความของพยานเป็นการซักถามถึงการจ่ายเงินด้วยความระมัดระวัง

“พฤติการณ์ของจำเลยที่ 10 เป็นการยุยงส่งเสริมให้พยานตัดสินใจจ่ายเงิน 40 ล้านบาท เพื่อให้โครงการได้รับอนุมัติ ประกอบกับเช็คที่จ่ายไปถึงจำเลยที่ 7-8 ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับขบวนการในคดีนี้ แม้ผู้กระทำผิดจะรู้ถึงความช่วยเหลือของจำเลยที่ 10 หรือไม่ก็ตาม พฤติการณ์ของจำเลยที่ 10 ก็ถือเป็นการสนับสนุน”

ส่วนจำเลยที่ 6 น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว พนักงานบริษัท เพรสซิเด้นอะกริ เทรดดิ้ง จำกัด มีความผิด 11 กระทง กระทงละ 4 ปี รวมจำคุก 44 ปี ขณะที่จำเลยที่ 7 น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงานบริษัท เพรซิเดนท์ฯ ความผิด 8 กระทง กระทงละ 4 ปี รวมจำคุก 32 ปี