จำคุก 3 ปี “สามนิ้ว” ติดสติกเกอร์ “กูkult” พระบรมฉายาลักษณ์! โอดต้องทำงานใช้หนี้

1712

จากกรณีที่วันนี้ (4 มีนาคม 2565) ทางทวิตเตอร์ TLHR / ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีที่ นายนรินทร์ การกระทำติดสติกเกอร์ “กูkult” บนพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยบอกว่า

4 มี.ค.65 ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี นรินทร์ ศาลตัดสินว่า การกระทำติดสติกเกอร์ “กูkult” บนรูปรัชกาลที่ 10 แปลเจตนาได้ว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวมีความยิ่งใหญ่เหนือกว่า ร.10 เป็นการลบหลู่ ดูหมิ่น มีความผิดตาม ม.112 แม้จะไม่ได้กระทำโดยตรงต่อ ร.10 แต่ก็แปลความหมายได้เช่นเดียวกัน

 

ศาลลงโทษจำคุก 3 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการนำสืบพยานจึงลดโทษให้หนึ่งในสามเหลือโทษจำคุกสองปี โดยจำเลยสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อไปได้

หลังศาลมีคำพิพากษา นรินทร์ถูกใส่กุญแจมือและควบคุมตัวไปยังห้องเวรชี้ โดยขณะนี้กำลังดำเนินการยื่นขอประกันตัวต่อศาลอาญาต่อไป โดยทนายความได้ยื่นขอประกันตัวนรินทร์ด้วยหลักประกันเป็นเงินสด จำนวน 100,000 บาท

ก่อนมีคำพิพากษาวันนี้ ศาลเพิ่งดำเนินการสืบพยานเสร็จไปเมื่อ 3 วันก่อน ปกติศาลจะใช้เวลา 15 วัน ถึง 1 เดือน  นรินทร์ตั้งคำถามว่า การที่ศาลมีคำพิพากษารวดเร็วเพียงนี้ เพราะศาลร่างคำพิพากษาไว้ก่อนการสืบพยานยังไม่แล้วเสร็จหรือไม่

10.58 ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ด้วยหลักทรัพย์ และสัญญาเดิมเป็นประกัน (หลักประกันเดิมเป็นเงิน 100,000 บาท จากกองทุนในนามของความสงบเรียบร้อย) ลงนามคำสั่งโดย มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ โดยนรินทร์จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวภายในวันนี้ต่อไป

ล่าสุดเวลา 11.05 น. นรินทร์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากห้องเวรชี้ใต้ถุนศาลอาญา โดยมีกลุ่มมวลชนจำนวนหนึ่งรอรับด้านนอก หลายคนสวมเสื้อ กูkult เพื่อรอรับนรินทร์ รวมถึง รุ้ง ปนัสยา และเบนจา ก็ได้รอต้อนรับด้วยเช่นกัน

ซึ่งก่อนที่ฟังคำพิพากษา นายนริทร์ ได้ตั้งคำถามทิ้งท้ายไว้ว่า เหตุใดคนส่วนใหญ่ถึงยินดีที่จะเสี่ยงกับการเล่น “หวย” หรือสิ่งที่มีความผันผวนสูงอย่าง “คริปโต” แต่กลับกันทำไมอีกหลายคนไม่ยินดีที่จะเสี่ยงกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ปล่อยให้คนแค่ไม่กี่คน ไม่กี่กลุ่มออกมาต่อสู้กับอำนาจรัฐ ทั้งๆ ที่ผลประโยชน์ที่ได้คือชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเราทุกคนเอง

เมื่อถามถึงความกังวลต่อการนัดฟังคำพิพากษาในคดี นรินทร์เล่าว่า ตนเองก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่มีภาระหน้าที่ต้องทำงานหาเงินเลี้ยงดูครอบครัวและใช้หนี้ โดยตอนนี้ตนมีหนี้ กยศ.ก้อนใหญ่ที่ยังใช้ไม่หมดอยู่ ปัจจุบันทำงานรับจ้างอิสระ หากศาลพิพากษาลงโทษให้จำคุกจริง ก็คงต้องเสียเวลาชีวิตไปหลายปีโดยเปล่าประโยชน์ และเมื่อได้รับการปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำคงต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ทั้งหมดเพียงลำพัง

โดยเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 13.00 น. ที่ สน.ชนะสงคราม นรินทร์ (สงวนนามสกุล) เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยถูกกล่าวหาว่า ติดสติกเกอร์ “กูkult” บนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ระหว่างการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อ 19 ก.ย. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง ท่ามกลางกลุ่ม #FreeArts และประชาชนมาให้กำลังใจที่หน้า สน.ชนะสงคราม

คดีนี้ พ.ต.ท.โชคอํานวย วงษ์บุญฤทธิ์ รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.ชนะสงคราม แจ้งพฤติการณ์ให้นรินทร์ทราบโดยสรุปว่า พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กล่าวหา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตํารวจทุกฝ่ายที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องได้ออกเดินทางไปสังเกตการณ์ สืบสวนหาข่าวเรื่อยมา และพบกลุ่มมวลชนรวมตัวกันจัดกิจกรรมที่ใช้ชื่อเรียกว่า “19กันยาทวงคืนอํานาจราษฎร” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง

ในวันเดียวกัน เวลา 19.00 น. ทราบเหตุจากเจ้าหน้าที่ตํารวจฝ่ายสืบสวนว่า มีบุคคลนําสติกเกอร์มีอักษรภาษาไทยและภาษาอังกฤษ คําว่า “กูkult” ไปติดบนพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ตั้งไว้ที่บริเวณประตูทางเข้าของศาลฎีกา จึงออกทําการสืบสวนติดตามหาตัวบุคคลที่นําสติกเกอร์ดังกล่าวไปติด

จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เชื่อว่านรินทร์เป็นผู้นำสติกเกอร์ “กูkult” ไปติด ผู้กล่าวหาจึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับนรินทร์ตามกฎหมาย พนักงานสอบสวนเห็นว่า การกระทำของนรินทร์ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 เป็นการกระทำมิบังควร จาบจ้วง ล่วงเกิน หรือกระทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทต่อองค์พระมหากษัตริย์ เป็นการดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์

ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

นรินทร์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและจะให้การเป็นหนังสือและ/หรือยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมในภายหลัง ส่วนวันนัดส่งสำนวนให้อัยการ พนักงานสอบสวนจะนัดอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.ย. 2563 นรินทร์เคยถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมที่บ้านพักตามหมายจับในคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “กูkult” ซึ่งเผยแพร่ข้อความเสียดสีสถาบันจำนวน 3 โพสต์ โดยเขาถูกควบคุมตัวระหว่างการสอบสวนอยู่ที่ สน.ทุ่งสองห้อง และกองบังคับปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เป็นเวลา 2 วัน ก่อนศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัวในวงเงิน 100,000 บาท เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2563

ซึ่งในคดีนี้มีการสืบพยานโจทก์ไปทั้งหมด 12 ปาก เป็นพยานเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด ทั้งอดีต ผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม ตำรวจฝ่ายสืบสวนทั้งของ สน.ชนะสงคราม, ฝ่ายสืบสวนนครบาล และ ตำรวจสันติบาล รวมไปถึงตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชกรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ซึ่งมาเบิกความในประเด็นการยืนยันว่า นรินทร์เป็นผู้นำสติ๊กเกอร์ไปติดพระบรมฉายาลักษณ์จริง ๆ เท่านั้น หลังนรินทร์แถลงไม่ประสงค์นำสืบพยานฝ่ายจำเลยในวันที่ 1 มี.ค. 65 ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 4 มี.ค. 65 ทันที และศาลได้พิพากษาให้จำคุก 3 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3

ขอบคุณคลิปจาก ทวิตเตอร์ iLawFX