บิ๊กตู่สั่งทีมเศรษฐกิจ!!3 แนวทางแก้ปัญหาปากท้องปชช. มั่นใจศ.ไทยแกร่ง พร้อมรับผลกระทบวิกฤตยูเครน

1050

นายกฯ สั่งคณะที่ปรึกษา เดินหน้า 3 แนวทางเร่งด่วนทั้ง ลดภาระ-แก้หนี้- สร้างรายได้ หวังช่วยประชาชนยุคแพงทั้งแผ่นดินและสงครามยุโรปซ้ำเติมขณะที่ตอกย้ำสถานภาพเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง มั่นใจรับแรงกระแทกจากสถานกาณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนได้ โดยรัฐบาลติดตามอย่างใกล้ชิดพร้อมเตรียมมาตรการรับมืออย่างไม่ประมาทเป็นระยะ

วันที่ 3 มี.ค.2565  นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประชุมร่วมกับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน และคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่ห้องสีเขียวตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ว่า แม้ว่ารัฐบาลได้ดำเนินการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวขึ้นมาก แต่ยังมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์ความตึงเครียดในยุโรป ซึ่งส่งผลให้พลังงานราคาสูงขึ้น โดยนายกฯ ห่วงใยและให้ความสำคัญกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบนี้ จึงสั่งการคณะที่ปรึกษาให้เดินหน้าอย่างเร่งด่วนตาม 3 แนวทางหลัก ดังนี้ 

1.หาแนวทางลดภาระค่าใช้จ่าย ดูแลประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง นายกฯ ได้สั่งการให้ร่วมพิจารณามาตรการที่เหมาะสม แบ่งเบาภาระของประชาชน อาทิ การช่วยเหลือเพื่อบรรเทาราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า เป็นต้น

2.การบรรเทาภาระหนี้สิน เป็นประเด็นที่รัฐบาลดูแลมาโดยตลอดรัฐบาลได้กำหนดให้ในปี 2565 นี้เป็นปีแห่งการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน และได้กำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนไว้ครอบคลุมทุกมิติ อย่างไรก็ดีในการประชุมฯ นายกฯ ต้องการให้มีหน่วยงานขับเคลื่อนเพื่อให้ดูแลประชาชนทุกคน เพื่อบรรเทาภาระหนี้ให้กับประชาชนไม่ให้มีคนต้องถูกยึดบ้าน ยึดรถ และ 

3.การลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเพิ่มรายได้ให้ประชาชน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและเสมอภาค นายกฯ ได้สั่งการให้เร่งรัดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ให้มีเม็ดเงินกระจายลงไปในพื้นที่ ทั้งโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โครงสร้างพื้นฐานสร้างความเชื่อมโยง กระจายทรัพยากรสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น รถไฟเส้นทางขนส่งสินค้าส่งออกซึ่งทำได้ในปริมาณมาก ประหยัด รวดเร็ว และเป็นโอกาสเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เร่งรัดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน ต้องการให้แบ่งเบาภาระประชาชนทุกคนเห็นผลโดยเร็วที่สุด

ด้านความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ที่ดุเดือดในยูเครน-ยุโรปที่อาจส่งผลกับประเทศไทยนั้น รัฐบาลมั่นใจเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง ทั้งฐานะการคลัง- ทุนสำรองระหว่างประเทศ ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ได้รับผลกระทบจาก สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ขณะนี้ค่อนข้างน้อยแต่ไม่ประมาท

ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งทั้งด้านฐานะการคลังและฐานะการเงิน โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 59.88 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ 242,772.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นสูงถึง 3 เท่า อีกทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2565 คาดว่าจะกลับมาเกินดุลได้เล็กน้อยตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว รัฐบาลยังมีเงินคงคลังเพียงพอต่อการใช้จ่ายที่จำเป็นและความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลยังอยู่ในเกณฑ์ดี

โฆษกประจำสำนักนายกฯ ยังเปิดเผยว่า วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงที่ผ่านมายังค่อนข้างน้อยและเป็นไปเพียงในระยะสั้น โดยปกติตลาดหลักทรัพย์จะมีความผันผันผวนตามสถานการณ์ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ จนถึงวันที่ 1 มีนาคม 2565 สถานเงินทุนสุทธิของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าในตลาดหลักทรัพย์ที่ 81,356.8 ล้านบาท

นายธนกรกล่าวว่า “รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยังเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศษฐกิจ ส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ S-Curve รวมทั้งการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล พลังงาน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การใช้มาตรการทางการเงินและการคลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตลอดจนมาตรการผ่อนคลายการควบคุมการระบาดของโควิด และการปูพรมฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ประชาชน ช่วยสร้างความเข็มแข็งให้กับจากทำให้ระบบและโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากวิกฤตรัสเซียยูเครน สามารถยุติลงได้โดยเร็ว มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงจะสามารถขยายตัวทั้งปี ที่ร้อยละ 3.5-4.5 ในปี 2565 ได้ตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้”