วิ่งสู้ฟัด!! ผ่ากลยุทธ์ 9 ข้อ ฟื้นฟู ‘การบินไทย’ เร่งหาทุน 2.5 หมื่นล้านลุยต่อ

1120

ครม.รับทราบรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด  (มหาชน)ซึ่งทีมบริหารได้รายงานแผน 9 ข้อ ฟื้นฟู “การบินไทย” โดยรุกปรับโครงสร้างสินเชื่อ-โครงสร้างทุนใหม่ เดินหน้าจัดหาเงินกู้ทั้งนี้มี 5 ธนาคารพร้อมปล่อยสินเชื่อใหม่ วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท เผยวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 3 หมื่นล้าน ทั้งอาคารสำนักงาน-เครื่องบิน คาดว่าดีลจบภายในมีนาคมนี้ เชื่อทั่วโลกผ่อนคลายมาตรการเดินทาง เตรียมเพิ่มความถี่เที่ยวบินสู่ยุโรป เปิดเส้นทางใหม่ “ออสเตรเลีย-อินเดีย” ยันปัญหายูเครน-รัสเซียไม่กระทบ

วันที่ 1 มี.ค.2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ว่า ครม.รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด  (มหาชน) ซึ่งได้การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ดังนี้คือ

1.ปรับฝูงบิน โดยลดจำนวนเครื่องบินเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่คุ้มทุนจากจำนวน 116 ลำ เหลือจำนวน 58 ลำ

2.ปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัท โดยปรับลดค่าใช้จ่ายบุคลากรจำนวน 23,100 ล้านบาทต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2562 รวมทั้งปรับกระบวนการทำงาน ปรับลดค่าเช่า/เช่าซื้ออากาศยาน ลดแบบเครื่องบินจาก 8 ประเภท เหลือ 4 ประเภท และการปรับปรุงข้อบังคับการทำงาน

3.ปรับโครงสร้างและลดขนาดองค์กร โดยลดขนาดองค์กรตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงระดับพนักงานเหลือ 15,200  คน จากเดิมในปี 2562 มีพนักงาน  29,500 คน ทำให้ค่าใช้จ่ายในเดือนสิงหาคม 2564 มีเหลือเพียง 750 ล้านบาท จากเดิมที่มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 2,675 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับลดจำนวนพนักงานเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย

4.การดำเนินโครงการริเริ่มปฏิรูปธุรกิจ โดยเฉพาะโครงการลดค่าใช้จ่ายและโครงการเพิ่มรายได้ ซึ่งภายในปี 2565 บริษัท การบินไทย จำกัด ได้กำหนดเป้าหมายลดค่าใช้จ่ายจำนวน 53,000 ล้านบาทต่อปี

5.การหารายได้จากช่องทางอื่น โดยการขนส่งและจำหน่ายสินค้าและอาหารอื่นที่นอกเหนือจากการจำหน่ายอาหารบนอากาศยาน 

6.วางแผนเครือข่ายเส้นทางบินสู่เมืองสำคัญในแต่ละภูมิภาค โดยอาศัยความร่วมมือกับสายการบินพันธมิตรเชื่อมต่อเที่ยวบินและเมืองรองในภูมิภาคนั้นๆ รวมถึงทวีปอเมริกา เพื่อขยายโอกาสในการหารายได้ ทั้งนี้ ในอนาคตหากสถานการณ์โรคโควิด19 ดีขึ้น อาจมีการปรับแผนการบินให้สอดคล้องและเหมาะสมต่อไป

7.การจำหน่ายทรัพย์สินรองที่ดำเนินการเสร็จแล้ว ได้แก่ การขายหุ้นบริษัทย่อย ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ และที่ดินและอาคารในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดภูเก็ต และสำนักงานหลานหลวง ส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการขาย  คือ อสังหาริมทรัพย์ในประเทศและต่างประเทศและอากาศยานที่บริษัทไม่ประสงค์จะใช้งาน

8.เร่งจัดหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบของสินเชื่อใหม่ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อนำมาใช้ในการรักษาสภาพคล่องในปีงบประมาณ 2564-2565

9.ปรับโครงสร้างหนี้ตามกรอบแผนฟื้นฟูกิจการ โดยบริษัท การบินไทย จำกัด ได้ขยายเวลาการชำระหนี้ การพักชำระหนี้และดอกเบี้ย การปรับลดหนี้ในส่วนภาระดอกเบี้ย การเจรจาปรับลดภาระผูกพันตามสัญญา และการเพิ่มทางเลือกในการชำระหนี้เช่น การใช้บัตรกำนัลแทนเงินสด

นางสาวรัชดากล่าวด้วย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เร่งจัดหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบของสินเชื่อใหม่วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท จากสถาบันการเงิน (จากเดิมที่ประมาณการณ์วงเงินสินเชื่อไว้ 50,000 ล้านบาท) เพื่อนำมาเป็นเงินทุนสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการในปี 2565 

คาดว่าจะลงนามสัญญาสินเชื่อใหม่ได้ภายในเดือนมี.ค.2565 นี้ รวมถึงจัดทำร่างแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ โดยปรับปรุงสาระสำคัญเรื่องโครงสร้างสินเชื่อใหม่ที่ไม่ก่อภาระต่อภาครัฐในการสนับสนุน และการปรับโครงสร้างทุนซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้เร็วขึ้น โดยบริษัทจะยื่นการแก้ไขแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามขั้นตอนของกฎหมายภายในเดือนมี.ค.นี้ เช่นเดียวกัน

ด้านนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (THAI) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้จัดทำร่างแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ หลังจากที่รัฐบาลไม่มีนโยบายใส่เงินเข้ามา โดยปรับปรุงสาระสำคัญเรื่องโครงสร้างสินเชื่อใหม่ที่ไม่ก่อภาระต่อภาครัฐในการสนับสนุน และการปรับโครงสร้างทุนซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้เร็วขึ้นกว่ากำหนดการเดิม และทำให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ก่อน 5 ปีตามเป้าหมายที่วางไว้

นายปิยสวัสดิ์ยังกล่าวถึงกรณีความขัดแย้งระหว่างประเทศยูเครนและรัสเซียด้วยว่า สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อการบินไทย เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยไม่มีเที่ยวบินเดินทางไปยังประเทศรัสเซีย และไม่ได้ปฏิบัติการบินผ่านน่านฟ้าประเทศยูเครนมาตั้งแต่ปี 2559 ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่เดินทางเข้าประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางผ่านเที่ยวบินเช่าเหมาลำ

ส่วนผลกระทบเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น การบินไทยได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับสายการบินอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าจะทำให้ราคาบัตรโดยสารของสายการบินทั้งหมดอาจมีการปรับตัวขึ้นทั้งระบบ แต่เชื่อว่าปัจจัยจากราคาน้ำมันจะเป็นเพียงสถานการณ์ในระยะสั้นเท่านั้น นอกจากนี้ เครื่องบินรุ่นใหม่ที่การบินไทยใช้มีอัตราการใช้น้ำมันต่ำกว่าในอดีต ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่น้อยลง