ยิ่งลักษณ์โดนอีกคดี! “อสส.” สั่งฟ้องแล้ว ย้าย “ถวิล” โดยมิชอบ งานนี้ได้อยู่ตปท.กับพี่ยาวๆ
จากกรณีที่วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2565) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ไลพ์สดพร้อมกับได้เปิดเผยว่า อยู่ต่างประเทศกว่า 4 ปีคิดถึงบ้านเกิดประเทศไทย ตัวอยู่ได้แต่ใจคิดถึงประเทศ ได้รับคำแนะนำจากพี่ชาย “นายทักษิณ ชินวัตร” ว่าต้องรักษาสุขภาพ ทำตัวเองให้มีความสุข รอดจากโควิดมา 2 รอบถือว่าโชคดี
ทั้งนี้ได้ติดตามสถานการณ์ความเดือดร้อนของคนไทยโดยตลอด จึงส่งกำลังใจให้ว่าต้องเข้มแข็ง และเรียกร้องรัฐบาลให้ความช่วยเหลือประชาชน ส่วนใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ต้องฟังเสียงประชาชน ซึ่งประเทศไทยมีคนที่มีความรู้ความสามารถเยอะ
“ส่วนตัวอายุ 50 กว่าปีแล้ว จึงหมดยุคแล้ว ไม่ต้องการเป็นนายกฯอีก เพราะเป็นยุคของคนรุ่นใหม่แล้ว แม้ตัวอยู่ไกลแต่หัวใจยังอยู่ประเทศไทย ยังต้องการช่วยเหลือประเทศชาติ ไม่ว่าจะอยู่สถานะไหน”
อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ยังยอมรับว่า หนักใจกับการเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก เพราะถูกคาดหวังมาก จึงต้องพิสูจน์ตัวเอง ทำงานหนักเป็น 2 เท่า “เป็นนายกฯ ไม่ว่าเพศหญิงหรือชายก็ยาก แต่การเป็นผู้หญิงจะยิ่งลำบากกว่า เพราะถูกคาดหวังมาก ต้องทำงานหนัก 2 เท่าเพื่อพิสูจน์ว่าสามารถทำได้ เป็น รมว.กลาโหมเป็นเรื่องท้าทายมาก หนักใจมาก เพราะทำงานกับเหล่าทัพ การสั่งการต้องเน้นผ่านการใช้ใช้ข้อกฎหมายเป็นหลัก”
เมื่อถูกถามว่า ถ้าเจอหน้าพลเอกประยุทธ์ยังคุยกันได้หรือไม่ อดีตนายกฯหญิง กล่าวว่า “ต้องถามกลับพลเอกประยุทธ์ว่าถ้าเจอกันแล้วยังคุยได้หรือไม่?”
ล่าสุด คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับพวก ใช้อำนาจโอนนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ โดยมิชอบ มีมูลความผิดทางอาญาตามมาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จากนั้น ป.ป.ช. ส่งรายงานการสอบสวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์
โดย นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช.แถลงคดีสำคัญระบุว่า อัยการสูงสุดมีความเห็นว่า สามารถสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ โดย ป.ป.ช.จะส่งเรื่องฟ้องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามฐานความผิดดังกล่าว ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 76
ย้อนกลับไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ก.ย.2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกฯในขณะนั้น โทรศัพท์สั่งการให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดำเนินการทำเรื่องขอรับโอนนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช.มาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ จากนั้น สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีบันทึกข้อความลงวันที่ 4 ก.ย.2554 ถึง น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ ซึ่งดำรง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความยินยอมรับโอนนายถวิล มาดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ
รวมถึงได้มีบันทึกข้อความ ลงวันที่ 4 ก.ย.2554 ถึง พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ซึ่งดำรงรองนายกฯ ในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัดของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นชอบและยินยอมการโอนนายถวิล มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ
น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ และ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ต่างให้ความเห็นชอบและยินยอมการโอน ดังกล่าว และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจพบว่าวันที่ 4 ก.ย.2554 เป็นวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ จึงได้แก้ไขบันทึกข้อความทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวเป็นวันที่ 5 ก.ย.2554 แต่เป็นการแก้ ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา วันที่ 6 ก.ย.2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ได้อนุมัติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี เป็นวาระจรและในวันเดียวกันคณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมและลงมติรับทราบให้โอนนายถวิล มาดำรง ตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ
จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ได้มีคำสั่งให้นายถวิล มาปฏิบัติราชการ ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งดังกล่าวทันที ซึ่งการแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าว ดำเนินการอย่างเร่งรีบรวบรัด แล้วเสร็จภายใน 4 วัน เท่านั้น
ซึ่งต่อมา ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำสั่งในคดีนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมที่โยกย้ายจากตำแหน่งโดยมิชอบจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าการโยกย้ายตำแหน่งดังกล่าว เป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ ดังนั้น ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดจึงให้การเยียวยาแก่ผู้ฟ้อง ด้วยการให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้ถูกฟ้องที่ 1 ดำเนินการเพิกถอนประกาศให้มีผลย้อนหลังไปถึง 30 ก.ย.54 และดำเนินการภายใน 45 วัน นับตั้งแต่ศาลมีคำสั่ง